กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียน “ลิ้นจี่จักรพรรดิฝาง” สินค้า GI รายการใหม่ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ไม้ผลอัตลักษณ์ของจังหวัดที่มีความโดดเด่น คุณภาพดี รสชาติอร่อย ผลิตภายใต้มาตรฐานเกษตรปลอดภัย GAP สินค้าปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช และคุณภาพถูกใจผู้บริโภค
นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญามีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อยกระดับสินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า พร้อมส่งเสริม การควบคุมคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI รายการใหม่ “ลิ้นจี่จักรพรรดิฝาง” สินค้า GI ลำดับที่ 6 ของจังหวัดเชียงใหม่ ต่อจากผ้าตีนจกแม่แจ่ม ร่มบ่อสร้าง ศิลาดลเชียงใหม่ กาแฟเทพเสด็จ และส้มสายน้ำผึ้งฝาง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้านี้ ซึ่งปัจจุบันมีสินค้า GI ไทยที่ขึ้นทะเบียน 205 รายการ สร้างมูลค่าการตลาดรวม 71,000 ล้านบาท
โดย “ลิ้นจี่จักรพรรดิฝาง” คือ ลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ ทรงผลคล้ายรูปหัวใจ มีขนาดใหญ่ เปลือกหนาสีแดงอมชมพู ผิวเปลือกหยาบคล้ายกำมะหยี่ เนื้อหนาสีขาวขุ่น ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม ปลูกครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอไชยปราการ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 25.4 องศาเซลเซียส มีอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ และมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สำคัญหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำฝาง ลำห้วยแม่ใจ ลำน้ำแม่มาว ลำน้ำแม่เผอะ เขื่อนแม่มาว เขื่อนบ้านห้วยบอน ห้วยแม่งอน เป็นต้น รวมไปถึงยังมีน้ำพุร้อนที่มักพบอยู่ในพื้นที่บริเวณหินภูเขาไฟที่ดับแล้ว ส่งผลให้น้ำอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ จากสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ ทำให้พื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ เป็นแหล่งที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกลิ้นจี่จักรพรรดิ ลิ้นจี่มีคุณภาพและมีปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่สูง มีผลขนาดใหญ่ เนื้อหนา ฉ่ำน้ำ มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอฝางมาอย่างยาวนาน จนมีปรากฏในคำขวัญที่ว่า “เมืองฝาง เมืองลิ้นจี่ สตรีสวย รวยกระเทียม เยี่ยมมันฝรั่ง ดังหอมหัวใหญ่” และยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกว่า 429 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนช่องทางการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนอย่างยั่งยืน กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอเชิญชวนทุกท่านติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว และร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้า GI ได้ที่ Facebook Page : GI Thailand หรือโทรสายด่วน 1368