ค้นหา

หนอนกระทู้หอมในมันสำปะหลัง ดื้อต่อสารอิมาเมกตินเบนโซเอท เตือนเกษตรกรอย่าใช้

หนังสือพิมพ์เดลินิวส์,เดลินิวส์ออนไลน์
เข้าชม 252 ครั้ง

เตือนเกษตรกร อย่าใช้สารอิมาเมกตินเบนโซเอท(สารกลุ่ม6ทั้งสูตร1.92%ECหรือสูตร5%WP) กำจัดหนอนกระทู้หอมในมันสำปะหลัง เพราะหนอนกระทู้หอมดื้อต่อยาชนิดนี้สุดๆ

ปัญหาการระบาดของหนอนกระทู้หอม (Spodoptera exigua) ในมันสำปะหลัง ถือว่าเป็นประเด็นเรื่องศัตรูพืชที่ร้อนแรงที่สุดในตอนนี้ก็ว่าได้เนื่องจาก

1. หนอนผีเสื้อไม่ใช่ศัตรูพืชหลักของมันสำปะหลัง อาจพบได้บ้างแต่ไม่ได้มีความสำคัญเหมือนกับเพลี้ยแป้ง ไรแดง แมลงหวี่ขาวยาสูบ เพลี้ยหอย โดยเฉพาะหนอนกระทู้หอมนี้ในมันสำปะหลังก็ไม่เคยมีรายงานมาก่อนทำให้เป็นเรื่องน่าตกใจ รวมไปถึงเมื่อหาข้อมูลของต่างประเทศก็ยังไม่มีข้อมูลของการระบาดเลย อาจเนื่องด้วยสภาวะโลกร้อน(ปีนี้ร้อนมากๆและแห้งแล้งเนื่องจากฝนทิ้งช่วง) ส่งผลกระทบต่อแมลงศัตรูพืช เกิดการปรับตัวในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรของหนอนกระทู้หอมทวีคูณขึ้นมา

2. การระบาดค่อนข้างที่จะรุนแรงเพราะลงในท่อนพันธุ์ปลูกได้ประมาน1-2เดือน ซึ่งทำให้เห็นการทำลายได้ชัดเจนเพราะจำนวนใบน้อยแต่หนอนกินดุ(รุมกินบางใบมี4-5ตัว) ทำให้ท่อนพันธุ์ถูกทำลายชัดเจนเนื่องจากต้นที่ถูกทำลายรุนแรงจะไม่มีใบเลย โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรีในอำเภอพนมทวน และอำเภอห้วยกระเจา

3. พบการระบาดเป็นวงกว้างโดยเฉพาะกลุ่มไข่(พบแทบทุกต้น) ที่น่าตกใจเพราะถ้าได้เข้าไปลงพื้นที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้จะพบกลุ่มไข่ของหนอนกระทู้เยอะมากๆ ขอยกข้อมูลเมื่อวานนี้ที่ผมเข้าพื้นที่ในแปลงมันสำปะหลังของพี่เอกชัย หมู่ที่ 8 ตำบลดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน กาญจนบุรี อายุมันสำปะหลัง 1 เดือน 1 สัปดาห์ สำรวจ 2 แถว 100 ต้น(คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ง่ายดี) 

พบต้นที่มีหนอนวางไข่คิดเป็น 85 ต้น 115กลุ่มไข่ และไม่เจอกลุ่มไข่หนอน 15 ต้น หรือก็คือเจอกลุ่มไข่หนอนสูงถึง85% และเมื่อนำจำนวนไข่หนอนที่พบมาคิดด้วยจะเห็นว่ามีกลุ่มไข่หนอนมากกว่าจำนวนของต้นมันสำปะหลังที่นับอีก นอกจากนี้ผมยังแยกนับกลุ่มไข่บนใบและใต้ใบพบว่ามีจำนวนที่ใกล้เคียงกันคือบนใบมากกว่านิดหน่อยโดยพบ 59 กลุ่มส่วนด้านใต้ใบพบ 56 กลุ่ม(คิดเป็น%51:49) และใน 1 ต้นที่พบมากสุดคือ 5 กลุ่มไข่(ค่าเฉลี่ยของหนอนกระทู้หอมอยู่ที่ 20 ตัวต่อกลุ่มไข่ มีระยะไข่ประมาณ 2- 3 วัน)

สุดท้ายคือเรื่องสารป้องกันกำจัดอยากฝากถึงพี่ๆร้านเคมีเกษตรหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  อย่าใช้สารอิมาเมกตินเบนโซเอท(สารกลุ่ม6ทั้งสูตร1.92%ECหรือสูตร5%WP) เพราะหนอนกระทู้หอมหรือที่เกษตรกรเรียกหนอนหนังเหนียวนี้สร้างความต้านทานสูงมากหรือก็คือมันดื้อต่อยาชนิดนี้สุดๆ ในห้องปฏิบัติการใช้200ccต่อน้ำ20ลิตรยังตายไม่ดีเลย

ถ้าตอนนี้ขอเป็นข้อมูลเบื้องต้นตัวเลือกแรกตอนนี้น่าจะสารคลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC  (กลุ่ม 13) อัตรา 30 ซีซี และอาทิตย์หน้าผลการทดลองที่กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับกรมวิชาการเกษตรแนะนำน่าจะชัดเจนจะมาแจ้งอีกทีครับ

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/3554421/