ปลัดเกษตรฯ เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย ในการประชุมหารือระดับสูงด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน
วันที่ 20 มิ.ย.67 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานร่วมฝ่ายไทยในการประชุมหารือระดับสูงด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 (The 4th Meeting of Japan-Thailand High-Level Cooperation Dialogue on Agriculture and Food Industries: 4 th HLCD) และการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ภายใต้กรอบ JTEPA ครั้งที่ 14 (The 14 th Meeting of the Sub-Committee on Agriculture, Forestry and Fisheries under the JTEPA) โดยมีนายเรียวสุเกะ โอกาวะ (Mr. OGAWA Ryosuke) ปลัดกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (Vice Minister for International Affairs) เป็นประธานร่วมฝ่ายญี่ปุ่น พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น เข้าร่วม ณ โรงแรม
พลูแมน พัทยา จี จังหวัดชลบุรี ซึ่งการประชุม HLCD ครั้งที่ 14 และการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมด้านเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง ภายใต้กรอบ JTEPA ครั้งที่ 14 มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนด้านนโยบาย ประเด็น และมาตรการที่สำคัญ รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทยและญี่ปุ่น
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้นำเสนอนโยบายที่สำคัญ ในเรื่องการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ภายใต้ BCG Model ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมถึงฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอเกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์เกษตรและอาหารยั่งยืน (มิโดริ) เพื่อใช้เป็นมาตรการในการส่งเสริมผลิตผลและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร ป่าไม้ และประมง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะสนับสนุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ BCG และมิโดริร่วมกัน ผ่านแผนความร่วมมือ “อาเซียน-ญี่ปุ่น มิโดริ” รวมทั้ง ฝ่ายไทยได้มีการแลกเปลี่ยนในประเด็นมาตรการในการต่อสู้กับการกลายสภาพเป็นทะเลทรายและความเสื่อมโทรมของดิน และฝ่ายญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนเรื่อง การชี้แจงกฎหมายฉบับปรับปรุงด้านอาหาร เกษตร และชนบท และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการความร่วมมือที่ผ่านมา และนำเสนอโครงการความร่วมมือใหม่ จำนวน 8 โครงการอีกด้วย
“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่าน BCG Model เพื่อยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านมาตรการเกษตร และด้านการเป็นหุ้นส่วนระบบเกษตรและอาหารในภูมิภาคอาเซียน ในการประชุมครั้งนี้ จะส่งผลต่อการพัฒนาภาคการเกษตร และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน” ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญอันดับต้นของไทย และเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อันดับที่ 2 ของไทย มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในปี 2566 มูลค่า 173,580 ล้านบาท ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปญี่ปุ่น มูลค่า 161,195 ล้านบาท และไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากญี่ปุ่น มูลค่า 12,385 ล้านบาท สินค้าเกษตรส่งออกจากไทยไปยังญี่ปุ่น 5 อันดับแรก ได้แก่ ไก่ปรุงแต่ง ชิ้นเนื้อและเครื่องในไก่ อาหารสุนัขหรือแมว สินค้าประมง และยางธรรมชาติ นอกจากนี้ ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูต 137 ปี และครบรอบ 51 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน – ญี่ปุ่น ด้านการค้าสินค้าเกษตร ในปี 2567