ภายในห้องปฏิบัติการขนาดเล็กในกรุงโซล ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวเกาหลีใต้ กำลังฉีดเซลล์เนื้อวัวเพาะเลี้ยงเข้าไปในเมล็ดข้าวแต่ละเมล็ด โดยพวกเขาหวังว่า กระบวนการดังกล่าวจะปฏิวัติรูปแบบการรับประทานอาหารของคนทั่วโลกได้
ตั้งแต่การช่วยป้องกันความอดอยาก ไปจนถึง อาหารสำหรับนักบินอวกาศ ศ.ฮง จิน-กี จากมหาวิทยาลัยยอนเซ และ
เป็นหัวหน้าทีมพัฒนาข้าวดังกล่าว เชื่อว่า นวัตกรรมใหม่ของเขาที่เรียกว่า “ข้าวเนื้อ” จะกลายเป็นอาหารทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีจริยธรรมสำหรับผู้คน ในการรับสารอาหารประเภทโปรตีน
อนึ่ง การสร้างข้าวเนื้อ ไม่มีกระบวนการใดที่ทำร้าย หรือเป็นอันตรายต่อสัตว์ ซึ่งมันมีลักษณะเหมือนข้าวทั่วไป แต่ความแตกต่างที่ชัดเจนคือ ข้าวเนื้อมีสีชมพู และมีกลิ่นเนยอ่อน ๆ เนื่องจากมันเต็มไปด้วยเซลล์กล้ามเนื้อวัว และไขมัน
“การใช้เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ทำให้เราสามารถได้รับโปรตีนจากสัตว์ โดยไม่ต้องฆ่าปศุสัตว์” ศ.ฮง กล่าวเพิ่มเติม
ศ.ฮง เลือกใช้ข้าวสำหรับงานวิจัยของเขา เพราะมันเป็นแหล่งอาหารหลักของผู้คนในทวีปเอเชียอยู่แล้ว ซึ่งในปัจจุบัน การผลิตข้าวเนื้อ เป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน โดยเมล็ดข้าวจะถูกเคลือบด้วยเจลาตินจากปลา เพื่อช่วยให้เซลล์เนื้อวัวยึดติดกับข้าว จากนั้นนักวิทยาศาสตร์จะนำเมล็ดข้าวดังกล่าว ไปเพาะเลี้ยงในจานเพาะเชื้อนานถึง 11 วัน ซึ่งผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายที่ได้ มีโปรตีนและไขมันมากกว่าข้าวปกติ 8% และ 7% ตามลำดับ ตลอดจนมีเนื้อข้าวที่แน่นและกรอบ มากกว่าธัญพืชธรรมชาติ
ศ.ฮง และทีมงานของเขา กำลังศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อค้นหาแนวทางในการขยายกระบวนการข้างต้น อย่างไรก็ตาม เขาหวังว่าจะได้รับการอนุมัติให้ผลิตภัณฑ์ของเขา เป็นอาหารบรรเทาทุกข์สำหรับฉุกเฉินในประเทศแถบแอฟริกา
“สำหรับผู้ที่ถูกจำกัดให้รับประทานอาหารได้แค่มื้อเดียวต่อวัน การเพิ่มปริมาณโปรตีนเพียงเล็กน้อย แม้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง” ศ.ฮง กล่าวเสริม
ทั้งนี้ บริษัทหลายแห่งทั่วโลก พยายามนำเนื้อสัตว์ทางเลือก เช่น เนื้อสัตว์ที่ทำมาจากพืช หรือเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง มาใช้ในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากประเด็นทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม รวมถึงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มสัตว์
แม้เกาหลีใต้ยังไม่มีการอนุมัติเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเพื่อการบริโภค และรัฐบาลโซล ประกาศแผนการเมื่อปี 2565 ที่จะทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐกับ “กองทุนเทคโนโลยีอาหาร” โดยระบุแยกต่างหากว่า เนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงจากเซลล์ เป็นกรอบงานวิจัยที่สำคัญ
ขณะเดียวกัน นักวิชาการบางคนกล่าวว่า ความกังวลทางจริยธรรมบางประการ ที่มีต่อเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง คือ แหล่งที่มาของเซลล์สัตว์ดั้งเดิม อีกทั้งมันเป็นเรื่องยากที่จะแน่ใจได้ว่า เซรุ่มที่ใช้ในอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์, ยาปฏิชีวนะ และฮอร์โมนที่เติมระหว่างกระบวนการเพาะเลี้ยง มีความปลอดภัยหรือไม่
ด้าน ศ.นีล สตีเฟนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและสังคม จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง ถูกนำเสนอเป็นวิธีแก้ปัญหาสภาพอากาศมาอย่างยาวนาน เมื่อเทียบกับปศุสัตว์แบบดั้งเดิม กระนั้น ภาคส่วนดังกล่าวต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น การผลิตในปริมาณมาก, มีราคาถูก, ใช้พลังงานน้อย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการโน้มน้าวให้ผู้คนหันมารับประทานข้าวเนื้อมากขึ้น.