ค้นหา

แนะเกษตรกรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาและแบคทีเรียบาซิลลัส ป้องกันกำจัดโรคพืชหน้าฝน

กรมส่งเสริมการเกษตร
เข้าชม 168 ครั้ง

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำเกษตรกรในช่วงที่ฝนตกหนักหลายพื้นที่ สามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา และแบคทีเรียบาซิลลัส ป้องกันและกำจัดโรคพืช ย้ำ หากพบโรคพืช เข้ารับคำปรึกษาฟรีกับ “คลินิกพืช” ณ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง 

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โรคพืชหลายชนิดมักจะเกิดในช่วงฤดูฝนที่มีความชื้นในอากาศสูง การเตรียมรับมือเพื่อป้องกันการเกิดโรคพืชต่างๆ ทำได้โดยการใช้ชีวภัณฑ์ กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา และแบคทีเรียบาซิลลัส ลดความเสียหายจากการเข้าทำลายของโรคพืช ทนต่อสภาพแวดล้อม ส่งเสริมการงอกของเมล็ดข้าว เมล็ดพืช หัวพันธุ์ ต้นกล้าสมบูรณ์ ระบบรากแข็งแรง ทนทานต่อการเข้าทำลายของโรคพืช สามารถดูดซับสารอาหารพืชได้อย่างดี รวมถึงส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชเพิ่มพัฒนาการของราก ทำให้พืชแข็งแรง 

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการเข้าทำลายและลดความเสียหายจากโรคของพืชทางดิน มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคในระยะกล้า หรือโรคที่ติดมากับเมล็ด เช่น โรคกล้าเน่า โรคเน่าคอดินในพืชผัก ควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคไหม้ โรคกาบใบแห้งในข้าว โรคเหี่ยวในพืชตระกูลมะเขือ พืชตระกูลขิง โรครากเน่าโคนเน่า และโรคแอนแทรคโนส เป็นต้น ซึ่งการใช้ชีวภัณฑ์มั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อเกษตรกร ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีการตกค้างในพืชผลเกษตร

นายพีรพันธ์ กล่าวต่อว่า ทางกรมฯ ได้ส่งเสริมและขยายผลการผลิตชีวภัณฑ์ โดยเฉพาะเชื้อราไตรโคเดอร์มา และแบคทีเรียบาซิลลัส ผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ กว่า 3,555 แห่ง รวมทั้งเปิดบริการคลินิกพืช กว่า 882 แห่ง เพื่อให้บริการวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชเบื้องต้นให้กับเกษตรกร พร้อมให้คำแนะนำการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสานที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนชีวภัณฑ์พื้นฐานที่จำเป็น โดยจะมีหมอพืชที่ผ่านการอบรม มีความเชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำกับเกษตรกรในพื้นที่  

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถใช้รองก้นหลุมก่อนการปลูก หรือหว่านใต้ทรงพุ่ม โดยผสมกับแกลบดิบหรือรำละเอียด และปุ๋ยอินทรีย์ ทำต่อเนื่องทุก 15-30 วัน หรือคลุกเมล็ด โดยคลุกให้เข้ากัน ก่อนนำไปเพาะในวัสดุปลูก รวมถึงสามารถแช่เมล็ดพันธุ์อย่างน้อย 1 คืน ก่อนเพาะปลูก  สำหรับชีวภัณฑ์แบคทีเรียบาซิลลัสสามารถทำได้โดยการคลุกเมล็ดก่อนเพาะในวัสดุปลูก หรือสามารถนำไปแช่เมล็ดพันธุ์อย่างน้อย 1 คืน ก่อนปลูก หรือทำได้โดยผสมน้ำ รดในแปลงปลูกและรดต่อเนื่องทุก 30 วัน 

ทั้งนี้ย้ำว่า เกษตรกรควรเลือกใช้ชีวภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือขอรับบริการผ่าน ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ. 

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-technology/2795892