ค้นหา

ปิดซื้อขายน้ำยางสด EUDR ครั้งแรก! มุ่งเสริมแกร่งห่วงโซ่ยางไทยทั้งระบบ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
เข้าชม 123 ครั้ง

กยท. จัดทัพ เอกชน-เกษตรกร Kick Off บูรณาการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ฯ พร้อมประเดิมซื้อขายน้ำยางสด EUDR ครั้งแรก มุ่งเสริมแกร่งห่วงโซ่ยางไทยทั้งระบบ

วันที่ 26 มิ.ย. 67) ณ โรงงานน้ำยางข้นสหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด จ.สงขลา ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ เป็นประธานเปิดงาน Kick Off  โครงการบูรณาการฯ เร่งแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา พร้อมประเดิมซื้อขายน้ำยางสด EUDR ครั้งแรก สั่ง กยท. จัดทัพรวมทีมเอกชน-เกษตรกรฯ ทดสอบชีวภัณฑ์แก้ปัญหาอย่างจริงจัง สร้างความแข็งแกร่งตลอดห่วงโซ่ยางพาราไทย

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นการดำเนินงานภายใต้นโยบายการพัฒนาทรัพยากรเกษตรให้ยั่งยืน โดยสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่ยางพาราไทย โดยเข้าไปบรรเทาปัญหายางพาราตั้งแต่แหล่งกำเนิด นั่นคือสวนยางพารา โดยมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่สวนยางใประเทศไทยโดยเฉพาะหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้รายได้ของพี่น้องเกษตรกรที่จะได้รับลดลง จึงได้มอบหมายให้ กยท. เร่งแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งขอชื่นชม กยท. ที่ใส่ใจในการบริหารจัดการโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ การแจกจ่ายชีวภัณฑ์เพื่อลดความรุนแรงของโรค การพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย โดยเฉพาะอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือการนำนวัตกรรม งานวิจัย และองค์ความรู้ ซึ่งวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันบูรณาการองค์ความรู้ ผ่านโครงการบูรณาการทดลองร่วมกันระหว่างภาคเอกชนกับเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพาราฯ เพื่อให้ได้กรรมวิธีที่เหมาะสมในการจัดการโรคใบร่วง และเชื่อมั่นว่าจะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวให้ดีขึ้นได้

ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการยกระดับผลผลิตยางพาราให้ตรงตามมาตรฐานที่ผู้ซื้อยางหรือตลาดโลกต้องการ การเตรียมความพร้อมของพี่น้องเกษตรกรจึงเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องกฎระเบียบ EUDR ที่จะเริ่มบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์ยางพาราในเดือนธันวาคมสิ้นปีนี้ ซึ่งขณะนี้ กยท. ได้จัดเตรียมระบบข้อมูลยางพาราไทยให้เป็นไปตามเงื่อนไข ทั้งระบบลงทะเบียนเกษตรกรที่จะต้องใช้เป็นพื้นฐาน รองรับกฎระเบียบฯ ซึ่งการจัดทำระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (RAOT GIS) ของ กยท. เป็นอีกหนึ่งระบบที่ได้รับการรองรับตามกฎระเบียบ EUDR ในขณะนี้ ซึ่งภาคเอกชนเองก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันยางไทย ทั้งนี้ มั่นใจว่าหากภาคเอกชนและภาครัฐร่วมประสานความร่วมมือและเดินไปในทิศทางเดียวกันแล้ว จะสามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยางแน่นอน

ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า กยท. ขับเคลื่อนการบริหารจัดการยางพาราให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่ต้นน้ำ โดยบริหารจัดการโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา (ใบจุดกลม Colletotrichum) อย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและยับยั้งการเกิดโรคมาโดยตลอด อาทิ การจัดหาสารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดและยับยั้งเชื้อรา (เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่เกิดการระบาดมาก) ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกร และส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรด้วยการปรับเปลี่ยนพืชในพื้นที่ที่ระบาดรุนแรง และประสานงานกับกรมวิชาการเกษตรในการขยายพันธุ์และขนย้ายกล้ายางที่ปลอดโรค
และ กยท. ยังดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ยางต้านทานโรค รวมไปถึงการทดสอบปุ๋ย ชีวภัณฑ์ ในแปลงของเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบโรคฯ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2565 ทำให้แนวโน้มความรุนแรงของโรคลดลง และให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลล่าสุด (มิถุนายน 2567) มีพื้นที่สวนยางได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคฯ จำนวน 28,840 ไร่ ลดลงจากเดือนพฤษภาคม ประมาณร้อยละ 97 สำหรับโครงการบูรณาการฯ นี้ เป็นอีกก้าวของการพัฒนาชีวภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดโรค ซึ่ง กยท. ได้ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนร่วมกันทดสอบปุ๋ย ชีวภัณฑ์ และสารอื่นๆ ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นเวทีที่ทุกภาคส่วนได้มาบูรณาการทดลองร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยมีผู้ประกอบการจากภาคเอกชนเข้าร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์จำนวน 12 บริษัท ในพื้นที่สวนยางของตัวแทนเกษตรกรจังหวัดสงขลาจำนวน 24 แปลง

“กยท. ไม่นิ่งนอนใจในทุกปัญหาของพี่น้องชาวสวนยาง เราจะร่วมกันพัฒนาแนวทางจัดการแก้ปัญหาโรคใบร่วงฯ อย่างตรงจุดและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งประโยชน์โดยตรงและบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกร เกิดเป็นรายได้ที่สามารถนำไปพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่  ยกระดับคุณภาพชีวิตให้พี่น้องชาวสวนยางไทยอย่างยั่งยืน” นายณกรณ์ กล่าวย้ำ

นายณกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ในวันเดียวกันนี้ กยท. ประเดิมซื้อขายน้ำยางสดที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มา (เป็นไปตามกฎระเบียบ EUDR) ผ่านตลาดกลาง กยท. 2 แห่ง มีปริมาณน้ำยางสดรวมกว่า 138,000 กิโลกรัม โดยวันนี้ราคาน้ำยางสดตรวจสอบย้อนกลับได้ สูงสุดที่ 78 บาท/กก. คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 10.5 ล้านบาท ถือเป็นการซื้อขายน้ำยางสดตรวจสอบย้อนกลับได้ครั้งแรกในไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ กยท. ได้เปิดตลาดซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 และยางก้อนถ้วยที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ ผ่านการประมูลด้วยระบบ TRT ดังนั้นการ Kick Off ในวันนี้ จึงแสดงถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยในการจัดการข้อมูลยางพาราและระบบการซื้อขายยางผ่านตลาดกลางของ กยท. ที่มีมาตรฐาน พร้อมรองรับความต้องการยาง EUDR ของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/546567