ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศที่ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด ทำให้มี “ฟางข้าว” ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดผลกระทบจากการจัดการด้วยวิธีการเผา จากแนวคิดนี้ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด จึงได้หาแนวทางบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากการนำไปใช้ในงานปศุสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก ทำเชื้อเพลิงชีวมวล รวมถึงงานวิจัย ‘นวัตกรรมเส้นใยฟางข้าวผสมเส้นใยจากรังไหม สู่การพัฒนาสิ่งทอเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์แฟชั่นไลฟ์สไตล์ กรณีศึกษาตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์’ ซึ่งมาจากการบูรณาการของทีมคณาจารย์ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและเลี้ยงไหม ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ และกลุ่มสตรีทอผ้าฝ้าย ตำบลทับน้อย อำเภอรัตนบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรทอผ้า จังหวัดสุรินทร์
สยามคูโบต้าเกิดแรงบันดาลใจที่ต้องการให้แนวคิดนี้เกิดเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน จึงจับมือ เกรฮาวด์ ออริจินัล เปิดตัวแคมเปญ KUBOTA x GREYHOUND ORIGINAL PRESENT “Turn waste to Agri-Wear” ต่อยอด “ฟางข้าว” เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มุ่งสนับสนุนงานวิจัยและงานฝีมือช่างทอผ้าไทย สู่การเป็นเสื้อผ้าสุดเท่สไตล์สตรีทแฟชั่น หวังจุดประกายการ Upcycling เศษวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์ ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่ผนึกเอาภาคการเกษตรผนวกเข้ากับวงการแฟชั่น สนับสนุนภาคเกษตรไทยให้เป็น Net Zero และ Carbon neutrality ในทุกมิติ
ที่มาของนวัตกรรมเส้นใยฟางข้าว สู่สตรีทแฟชั่นรักษ์โลก
- จากงานวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ที่มีแนวคิดการลดขยะให้เหลือศูนย์ (Zero Waste) จึงเลือกใช้วัสดุ “ฟางข้าว” ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากแปลงนาของจังหวัดสุรินทร์ มาพัฒนาเส้นด้ายชนิดใหม่ สร้างองค์ความรู้และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
- เมื่อนำฟางข้าวมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล ด้วยกรรมวิธีย่อยเส้นใย คณะวิจัยได้พบว่า เส้นใยจากฟางข้าวมีปริมาณเยื่อใยเซลลูโลสสูง ทำให้เส้นด้ายมีความแข็งแรง ยืดตัวในระดับดี สามารถนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าได้
- จากนั้นจึงได้นำมาปั่นเข้าเกลียวร่วมกับรังไหมเหลือใช้ จนเกิดเส้นด้ายที่ผลิตจากเส้นใยฟางข้าวผสมกับเส้นใยรังไหม สามารถนำไปพัฒนาสิ่งทอเพื่อต่อยอดให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยร่วมกับช่างทอผ้ากลุ่มเกษตรกร จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และเลี้ยงไหม ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ และกลุ่มสตรีทอผ้าฝ้าย ตำบลทับน้อย อำเภอรัตนบุรี
- เนื้อผ้าที่ทอได้มีคุณสมบัติยืดหยุ่นสูง สามารถนำไปย้อมสีและพิมพ์ลายได้ อีกทั้งดูดซับความชื้น สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี
- ซึ่งความพิเศษนี้จึงทำให้ KUBOTA และ GREYHOUND ORIGINAL ตั้งใจถ่ายทอดฟางข้าว ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากแปลงนาให้กลายมาเป็นเสื้อผ้าสตรีทแฟชั่น ในคอลเล็กชันพิเศษ “Turn waste to Agri-Wear” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนให้แก่โลก
- GREYHOUND ORIGINAL ได้ออกแบบในสไตล์สตรีทแฟชั่นและมีความเป็น Unisex มีความโดดเด่นของลวดลาย Freehand และ Silhouette ที่ปักสไตล์ Handicraft บนตัวผ้าที่ตัดเย็บแบบ Modern Craft เพิ่มมิติด้วยการนำมาออกแบบผสมผสานกับเนื้อผ้าคอตตอนออร์แกนิก และผ้าร่มรีไซเคิล
- “Turn waste to Agri-Wear” จึงเป็นคอลเล็กชันพิเศษที่มาจากการ Upcycling เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดมูลค่า ต่อยอดภูมิปัญญาชุมชน และทำให้ผู้สวมใส่เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เป็นอีกหนึ่งพลังในการจุดประกายความยั่งยืนให้แก่โลก