การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการทำนาโดยควบคุมระดับน้ำในแปลงนาให้มีช่วงน้ำขัง สลับกับช่วงน้ำแห้งสลับกันไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้รากและลำต้นของต้นข้าวแข็งแรงขึ้น เนื่องจากดินและรากได้รับรากอากาศ เมื่อได้รับอากาศเสร็จแล้ว ก็สามารถดูดปุ๋ยได้ดีขึ้น ทำให้ลดการใช้ปุ๋ย เมื่อดูดธาตุอาหารได้ดีขึ้น ต้นข้าวแข็งแรง ลดการระบาดของโรคและแมลง ลดการใช้สารเคมี เป็นการลดต้นทุนการผลิตไปด้วย
เมื่อต้นข้าวแข็งแรงก็จะแตกกอได้มากขึ้น รวงข้าวสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้รับก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะฉะนั้นการทำนาเปียกสลับแห้งนี้ เหมาะสำหรับพื้นที่ทำนาในเขตชลประทานที่ควบคุมการระบายน้ำได้ โดยใช้ปริมาณน้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่าวิธีปลูกข้าวแบบทั่วไป 30-50% นอกจากนี้ ยังลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการย่อยสลายอินทรียวัตถุแบบไร้อากาศ เมื่อปลูกข้าวแบบขังน้ำเป็นเวลานานอีกครั้ง
คุณปกรณ์ สุพานิช นักวิเคราะห์แพลตฟอร์มเซ็นเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง งานพัฒนาพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเชิงกลยุทธ์และประเมินผล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เปิดเผยว่า การสร้างนวัตกรรมระบบตรวจวัดในนาข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ถือเป็นการพัฒนาระบบเพื่อช่วยในการบริหารจัดการปล่อยน้ำและออกจากแปลงนา โดยระบบนี้ประกอบไปด้วย สถานีวัดอากาศและสถานีตรวจวัด โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ระบบจะทำการตรวจวัดสภาพแวดล้อมในแปลงนา
“จริงๆ แล้ว การทำนาเปียกสลับแห้ง ถือว่ามีการทำกันมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการมากขึ้น จึงได้คิดค้นเทคโนโลยีการตรวจจับขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรหรือชาวนาจัดการนาได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องไปคอยดูระดับน้ำในนา โดยชาวนาสามารถดูระบบต่างๆ จากทางมือถือได้เลย ซึ่งระบบที่ติดตั้งนี้เป็นระบบเซ็นเซอร์” นายปกรณ์ กล่าว
ซึ่งระบบตรวจวัดสภาพแวดล้อมในแปลงนา สามารถตรวจวัดได้หลายค่าดังนี้ สามารถวัดระดับน้ำในแปลง ความชื้นในดิน อุณหภูมิดิน พร้อมทั้งสามารถตรวจจับสภาพอากาศ อันได้แก่ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ/ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ความเข้มแสงอาทิตย์ ความเร็วและทิศทางลมระบบจะส่งข้อมูลตรวจวัดเหล่านี้ไปเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ฐานข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
ค่าที่เครื่องมือวัดได้นั้นจะถูกเก็บรวบรวมไว้ เมื่อมีเหตุหรือต้องการระวังภัยต่างๆ สิ่งที่เครื่องบันทึกไว้ก็จะคอยส่งสัญญาแจ้งเตือน โดยเกษตรกรก็สามารถทราบได้ทันทีว่าควรจัดการนา ในพื้นที่ในขั้นตอนต่อไปอย่างไร ช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นและลดความเสียหายที่เกิดจากการทำนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสามารถเตือนภัยส่งผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ทันที
อุปกรณ์ตรวจวัดในนาข้าวแบบเปียกสลับแห้งนั้น คุณปกรณ์ บอกอีกว่า เมื่อติดตั้งทั้งระบบแล้วจะครอบคลุมเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 10 ไร่ ซึ่งลงทุนครั้งเดียวประมาณ 300,000-500,000 บาท แต่อุปกรณ์นี้สามารถใช้งานได้นานเฉลี่ยประมาณ 20 ปี
“ในอุปกรณ์ครบ 1 เซ็ต ก็จะประกอบไปด้วย สถานีแม่ 1 สถานี และสถานีลูกอีก 5 สถานี โดยจะตั้งกระจายกันทั่วบริเวณ ประมาณ 10 ไร่ขึ้นไป หรือถ้าหากต้องการใช้ในพื้นที่บริเวณที่กว้างขึ้นกว่านั้น ก็สามารถติดตั้งสถานีลูกเพิ่มขึ้นได้ ก็จะช่วยให้กระจายพื้นที่ในการตรวจวัดได้เป็นวงกว้าง” นายปกรณ์ กล่าว
เนื่องจากการทำนาแบบเปียกสลับแห้งนั้น คุณปกรณ์ บอกว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรในหลายพื้นที่ได้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต อาทิ ลดต้นทุนการใส่ปุ๋ยลงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และยังช่วยให้เกษตรกรทำนาได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
“ระบบสมาร์ทฟาร์มเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เกษตรกรให้ความสนใจนำมาใช้กับการปลูกพืชมากขึ้น โดยเฉพาะการเกษตรที่มีมูลค่าสูง โดยกลุ่มเกษตรกรคนรุ่นใหม่ก็เริ่มให้ความสนใจในเรื่องของเทคโนโลยีมากขึ้น ถือว่านวัตกรรมนี้ก็สอบโจทย์กับเกษตรกรทุกช่วงอายุ เพื่อให้การทำเกษตรของประเทศทันสมัยมากขึ้น พร้อมทั้งมีข้อมูลที่แม่นยำในการทำเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ทั้งนี้ คุณปกรณ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายให้ฟังว่า ในอนาคตอุปกรณ์นี้จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยจะสามารถวัดค่าของแก๊สมีเทน เพื่อต่อยอดไปในเรื่องของการทำเป็นคาร์บอนเครดิตต่อไปในอนาคต หากสนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณปกรณ์ สุพานิช หมายเลขโทรศัพท์ 089-311-1235