โอเมก้า-3 กรดไขมันดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย ปัจจุบันมีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นส่วนผสมในอาหารสำหรับเลี้ยงหมู-ไก่ ส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงสารอาหารที่มีคุณค่าอย่างโอเมก้า-3 ได้ง่ายขึ้น
รศ.ดร.พัชราณี ภวัตกุล หัวหน้าภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โอเมก้า-3 เป็นกรดไขมันดี ที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยกลไกของโอเมก้า-3 จะช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ลดการอักเสบ และทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เลือดไม่อุดตันเป็นลิ่มเลือด ทำให้ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ไขมันในอาหาร มีทั้งไขมันชนิดดีและไม่ดี โดยชนิดที่ไม่ดี อาทิ ไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) ไขมันทรานส์ (Trans fat) หากรับประทานมากเกินไปก็จะทำให้คอเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL) สูงขึ้น และคอเลสเตอรอลตัวที่ดี (HDL) ลดลง ขณะที่การรับประทานอาหารที่เป็นไขมันชนิดดี เช่น ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดียว จะช่วยลดไขมันตัวร้ายและไตรกลีเซอร์ไรด์ลง โอเมก้า-3 อาจเพิ่มไขมันตัวที่ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพ
“โอเมก้า-3 มาจากอาหารธรรมชาติที่เรารับประทานเข้าไป โดยแหล่งของโอเมก้า-3 พบได้ในปลา ปลาทะเล หรือปลาที่มีไขมันที่ค่อนข้างมาก ส่วนในปลาไทยก็มี เช่น ปลาทู ปลาทับทิม นอกจากนี้ ยังมีในถั่วเปลือกแข็ง อาทิ ถั่ววอลนัท พิสตาชิโอ เป็นต้น” รศ.ดร.พัชราณี กล่าว
ปัจจุบัน มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาหารใหม่ๆ ที่สามารถเติมโอเมก้า-3 ลงไปในอาหารได้ โดยในต่างประเทศผลิตภัณฑ์อาหารที่นิยมเติมโอเมก้า-3 ลงไปเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ อาทิ ไข่ นม ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมี “เนื้อสัตว์” ที่เพิ่มโอเมก้า-3 โดยการเลี้ยงด้วยนวัตกรรมสูตรอาหารสัตว์ที่ทำให้เนื้อสัตว์มีโอเมก้า-3 สูง เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภคที่ทำให้สามารถเข้าถึงโอเมก้า-3 ได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
จากรายงานด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา พบว่า ปริมาณโอเมก้า-3 ในการรับประทานที่เหมาะสม ในวัยผู้ใหญ่เพศหญิงปริมาณแนะนำอยู่ที่ 1.1 กรัมต่อวัน ในผู้ชาย 1.6 กรัมต่อวัน โดยอาหารที่เป็นแหล่งโอเมก้า-3 มีหลากหลาย และแต่ละชนิด ปริมาณของกรดไขมันแตกต่างกัน อาหารง่ายๆ ที่แนะนำให้บริโภค คือ เนื้อปลา ปลาทะเล อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละปริมาณ 2-4 ช้อนกินข้าว หรือ น้ำมันปลา น้ำมันคาโนล่า หรือ พวกถั่วเปลือกแข็ง อาจบริโภคให้บ่อยมากขึ้น 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็จะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโอเมก้า-3 ที่เหมาะสม
รศ.ดร.พัชราณี ภวัตกุล ย้ำว่า อาหารสามารถป้องกันโรคได้ ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้เราเกิดโรคได้เช่นกัน หากกินไขมันสูงไป น้ำตาลมากเกินไป หรือ เค็มเกินไป ดังนั้นจึงควรบริโภคให้ได้สารอาหารครบถ้วนทุกหมู่ และการเลือกอาหารที่เหมาะสม เช่น ข้าวไม่ขัดสี เลือกที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่มีประโยชน์ในการสร้างพลังงานในร่างกาย ช่วยในการรักษาสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก ธัญพืชที่ไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ชนิดที่ไขมันต่ำ เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ ถั่วต่างๆ ให้มากขึ้น รวมถึง ไขมัน หากเลือกไขมันที่ดี ก็จะส่งผลดีต่อสุขภาพ หากกินอาหารทุกอย่างอย่างสมดุลในปริมาณที่เหมาะสม ถูกต้องตามสัดส่วน ตามปริมาณที่แนะนำจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ชีวิตเราก็จะมีคุณภาพที่ดี และมีชีวิตยืนยาว