ค้นหา

สวก.โชว์นวัตกรรมสารสกัด “เห็ดกระถินพิมาน” ชูต้านไขมันหลอดเลือด ลดสิวช่วยผิวสวย

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. (ARDA),พนิดา เล้าชาญวุฒิ หัวหน้าคณะวิจัยฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เข้าชม 123 ครั้ง

สวก.โชว์นวัตกรรมสมุนไพรไทย สกัดสารพอลิแซ็กคาไรด์จาก “เห็ดกระถินพิมาน” มาพัฒนายาแคปซูลต้นแบบ ต้านไขมันในหลอดเลือด ลดอ้วน ต้านสิว เพื่อผิวสวย ต้านกลุ่มโรค NCDs สู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรม BCG ด้วยมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ

นายวิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. (ARDA) กล่าวว่า ARDA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีการสกัดสมุนไพร เพื่อให้ได้สารสกัดจากเห็ดกระถินพิมาน ที่มีสารสำคัญสูงที่ช่วยลดการสะสมและกระตุ้นการเผาผลาญไขมัน เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาชีววัตถุหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ด้วยกระบวนการที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีสังเคราะห์ โดยโครงการนี้ขับเคลื่อนตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แผนเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นพัฒนาเศรษฐกิจและเกษตรสมัยใหม่เพื่อสร้างมูลค่าสูง “ทำน้อย ได้มาก”

ปัจจุบันตลาดสมุนไพรได้รับความนิยม และมีการนำไปใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น มูลค่าการบริโภคสมุนไพรของโลกสูงถึง 54,957 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ของโลก มีมูลค่าการบริโภคสมุนไพร 1,483.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งการบริโภคสดและแปรรูปเป็นอาหารอาหารเสริม สมุนไพรยังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพอันดับ 1 ของประเทศไทยและของโลก อีกทั้งยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Noncommunicable diseases; NCDs) ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย โดยประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคเบาหวานรายใหม่รอบ 5 ปี จำนวน 1.5 ล้านคน และโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ 2 ล้านคน ดังนั้นการลดอัตราการเกิดโรคกลุ่มนี้เพียงร้อยละ 10 จะช่วยลดงบประมาณการรักษาลงได้ถึง 7 หมื่นล้านบาทต่อปี (อ้างอิง สวรส.,2564)

สำหรับโครงการ “การเพิ่มศักยภาพการผลิตสารสกัดพอลิแซ็กคาไรด์พร้อมใช้ที่ได้มาตรฐานปริมาณมากจากเส้นใยของเห็ดเฟลลินัสที่ได้จากการเพาะเลี้ยง และการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมแคปซูลพิชิตไขมันและเวชสำอางสเปรย์บำรุงผิวหน้าและต้านสิว” เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG Model (โครงการระยะที่ 3) เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่ ARDA ให้การสนับสนุนทุนวิจัยมา 3 ระยะ ดังนี้

การดำเนินโครงการวิจัยระยะที่ 1 (ปี 2563) สามารถศึกษาและเพาะเลี้ยงเส้นใยเห็ดทำให้ได้กรรมวิธีการผลิตสารสกัดพอลิแซ็กคาไรด์พร้อมใช้จากห้องปฏิบัติการ และผ่านการทดสอบเอกลักษณ์ทางเภสัชเวทว่ามีปริมาณสารออกฤทธิ์เชิงหน้าที่ (Functional ingredient)ในการป้องกันและควบคุมภาวะไขมันในเลือดสูงเป็นรายแรกของประเทศไทย มีปริมาณพอลิแซ็กคาไรด์และเบตา-กลูแคนและความหลากชนิดของมอโนแซ็กคาไรด์สูงกว่าที่พบในดอกเห็ดธรรมชาติ นอกจากนี้ยังผ่านโดยการทดสอบแล้วว่าไม่แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ร่างกาย มีฤทธิ์ต้านการสะสมหยดไขมันภายในเซลล์ไขมัน นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบ

การดำเนินโครงการวิจัยระยะที่ 2 (ปี 2565) เป็นการวิจัยการประเมินผลความปลอดภัยและประสิทธิภาพของสารสกัดพอลิแซ็กคาไรด์จากโครงการที่ 1 ในการยับยั้งการสะสมลิพิดในเซลล์ไลน์ไขมันและในหนูแรตที่มีภาวะอ้วนและไขมันในเลือดสูง กลูโคสในเลือดสูง และไขมันสะสมตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ภายหลังการได้รับอาหารที่พัฒนาขึ้น และใช้เทคนิคจีโนมิกส์และเทคนิคอนุพันธุศาสตร์ในตับ สมัยใหม่พบว่า สามารถออกฤทธิ์ต้านการสร้างอาหารไขมันสูง ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ในการป้องกันการสร้างและสะสมไขมันในเซลล์ร่างกาย และป้องกันการเกิดไขมันพอกตับ ลดการอักเสบของตับเนื่องจากมีไขมันพอกตับสูง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบ ซึ่งสามารถขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อต่อยอดเป็นยาชีววัตถุและจดแจ้งเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอางบำรุงผิวหน้า

การดำเนินโครงการวิจัยระยะที่ 3 (ปี 2567) พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมยาแคปซูลต้านไขมันและสเปรย์บำรุงผิวหน้าและต้านสิวอักเสบ ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตสารสกัดพอลิแซ็กคาไรด์พร้อมใช้ที่ได้มาตรฐานสากลในปริมาณมากจากเห็ดเฟลลินัส พร้อมควบคุมคุณภาพ และศึกษาความคงตัวของยาแคปซูลตามเกณฑ์เภสัชตำรับเพื่อต่อยอดเส้นใยเพาะเลี้ยงและพัฒนานวัตกรรมการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เพื่อนำไปต่อยอดการทดสอบทางคลินิกในระยะที่ 4 โดยจะนำต้นแบบนวัตกรรมยาแคปซูลและสเปรย์บำรุงผิวหน้าไปทดลองประสิทธิภาพและความปลอดภัยทางคลินิกในอาสาสมัครสำหรับต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปี 2569

ด้าน นางสาวพนิดา เล้าชาญวุฒิ หัวหน้าคณะวิจัยฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า จากการที่ทีมผู้วิจัยได้ทำงานร่วมกับทีมแพทย์ นักวิจัย และผู้ป่วย พบว่าอยากให้นักวิจัยไทยร่วมกันวิจัยผลิตชีววัตถุจากธรรมชาติ เพื่อป้องกันรักษาโรคอ้วนและภาวะไขมันในเลือดสูงจากเห็ดสกุลเฟลลินัสเพราะเป็นเห็ดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฐานะยาสมุนไพร การวิจัยในครั้งนี้หัวใจหลักจะอยู่ที่การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในกระบวนการเพาะเลี้ยง และสกัดสารสำคัญให้ได้ปริมาณมากกว่าดอกเห็ดในธรรมชาติ และได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อสร้างเป็นเกษตรมูลค่าสูง สำหรับเจาะตลาดเห็ดสุขภาพเชิงพาณิชย์

หัวหน้าคณะวิจัยฯ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวด้วยว่า ในประเทศไทยยังไม่เคยมีงานวิจัยที่ศึกษาสภาวะและปัจจัยในกระบวนการเพาะเลี้ยงเส้นใยของเห็ดเฟลลินัสในปริมาณมาก และนำมาใช้ประโยชน์ในด้านนี้มาก่อน เนื่องจากต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา และวัสดุและสารเคมีที่มีราคาสูง ต้องขอขอบคุณ ARDA ที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนทุนวิจัย ซึ่งมั่นใจว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมวงการสมุนไพรอย่างแน่นอน นอกจากนี้ทางคณะวิจัยยังมีแผนจะนำเส้นใยเห็ดที่ได้จากห้องปฏิบัติการกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อคงความอุดมสมบูรณ์และช่วยเพิ่มปริมาณเห็ดในธรรมชาติ.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-technology/2801367