ค้นหา

ต้นแบบย่อยสลายฟางข้าว ปั้นปทุมธานี เมืองปลอดเผา

กรมส่งเสริมการเกษตร
เข้าชม 96 ครั้ง

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า บ้านเรามีพื้นที่ปลูกข้าวเฉลี่ยประมาณ 65 ล้านไร่ คิดเป็น 20% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ในแต่ละรอบการผลิตจะมีฟางข้าวประมาณปีละ 25.45 ล้านตัน และมีตอซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าวปีละ 16.9 ล้านตัน ถือว่ามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับตอซังพืชชนิดอื่น

“ในพื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ จะมีปริมาณฟางข้าวและตอซังโดยเฉลี่ยปีละ 650 กก. เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการฟางข้าวและตอซัง เพื่อเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้และผลผลิตทางการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ ตัดสินใจเผาฟางข้าวและตอซัง เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกพืชหมุนเวียนต่างๆ โดยการเผาฟางนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นมลภาวะและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก”

ด้วยเหตุนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ขับเคลื่อนนโยบาย 3 R หรือ 3 เปลี่ยน ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร มีเป้าหมายสำคัญคือ ทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เผา และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร ขณะที่ตอซังข้าวและฟางข้าวเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย จึงเกิดความร่วมมือหลายหน่วยงานคิดค้นนวัตกรรมใหม่ มาช่วยในการย่อยสลาย และต้องปลอดภัยทั้งเกษตรกร ปลอดภัยต่อพืช ไม่มีสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อมจนเกิดความร่วมมือ กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) คิดค้นและพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซัง และฟางข้าว คิดค้นถังบ่มเพาะหัวเชื้อ โดยมีภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนการขยายจุลินทรีย์ให้เกษตรกรสามารถผลิตขยายจุลินทรีย์ใช้ในชุมชนได้ มีหลายภาคส่วนร่วมกันหา ขณะที่สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานีมีส่วนสนับสนุนในการให้ความรู้เกษตรกร โดยใช้ จ.ปทุมธานี เป็นต้นแบบในการบูรณาการจัดการปัญหา โดยการใช้เทคโนโลยีชีวภาพย่อยสลายตอซังและฟางข้าว โดยในเดือนตุลาคม 2567 เป็นต้นไป และจะ ขยายนำร่องอีก 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี เกษตรกร 2,400 ราย พื้นที่รวม 59,000 ไร่

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเผยอีกว่า จุลินทรีย์ชนิดนี้ สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ ตามความสะดวกและทรัพยากรที่มีอยู่ในมือของเกษตรกร เช่น ใช้โดรนในการฉีดพ่น ใช้ถังฉีดพ่น หรือละลายน้ำและขังน้ำไว้เพียง 7 วัน ก็สามารถทำให้ตอซังและฟางข้าวนุ่ม เปื่อยยุ่ย ไม่ติดล้อรถที่มาตีนาในขั้นตอนเตรียมดิน ลักษณะของน้ำในแปลงนาที่หมักด้วยจุลินทรีย์ จะมีสีฟางข้าว ไม่มีกลิ่นเหม็น โดยรวมใช้เวลาน้อยกว่าการขังน้ำโดยไม่มีการเติมจุลินทรีย์ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเริ่มการทำนาได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ โดยปกติฟางข้าวมีปริมาณธาตุอาหารหลักของพืช ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมเฉลี่ย 0.51, 0.14 และ 1.55% มีปริมาณธาตุอาหารรองของพืชได้แก่ แคลเซียม, แมกนีเซียม และซัลเฟอร์เฉลี่ย 0.47, 0.25 และ 0.17% เมื่อย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุจะปรับเพิ่มปริมาณธาตุอาหารในดินเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ประหยัดต้นทุนการซื้อปุ๋ย เป็นวงจรการปรับปรุงบำรุงดิน โดยจากการวิจัยและทดลองในพื้นที่พบว่า ปริมาณการใช้ปุ๋ยลดลงเกือบ 1 เท่าตัว จากเดิมใส่ธาตุอาหารเฉลี่ยไร่ละ 650 กก. แต่หลังจากการอัดฟางใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย พบว่า ใส่ธาตุอาหารแค่ไร่ละ 275 กก. นอกจากจะช่วยให้โครงสร้างดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีธาตุอาหารในดินเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการไม่สร้างมลพิษทางอากาศให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้จังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นชุมชนเมือง มีอากาศที่สะอาด ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงแปลงเกษตรกรข้างเคียง.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-policy/2802466