ค้นหา

ม.เกษตรฯ ขยายผลสร้างต้นแบบผลิตอาหารจากผลิตภัณฑ์แมลงวันลาย

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เข้าชม 109 ครั้ง

ผศ.ดร.กฤษณ์ วันอินทร์ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและพันธกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมติดตามผลการดำเนินงานของโครงการ “การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ของชุมชนคุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยบูรณาการต้นแบบการผลิตอาหารจากผลิตภัณฑ์แมลงวันลายสู่การเกษตรและการท่องเที่ยวของชุมชน” โอกาสนี้ นายศาสตรา ปาสาบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1, นายสมปอง รัศมิทัติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางยอ ประธานศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมคุ้งบางกะเจ้า, รศ.ดร.อุทัยวรรณ โกวิทวที หัวหน้าโครงการฯ พร้อมด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู บุคลากร นักเรียนกลุ่มโรงเรียนคุ้งบางกะเจ้า 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนวัดบางน้ำผึ้งนอก โรงเรียนวัดบางขมิ้น โรงเรียนวัดราษฎร์รังสรรค์ โรงเรียนวัดบางกอบัว และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์  คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเกษตร บางเขน คณะเกษตร กำแพงแสน  คณะมนุษยศาสตร์   คณะประมง  วิทยาลัยนานาชาติ  สถาบันขงจื๊อ  สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน และ  สำนักงานนวัตกรรมและพันธกิจเพื่อสังคม จำนวนทั้งสิ้น 297 คน เข้าร่วมพิธีเปิดกิจกรรม และ เยี่ยมชมฐานเรียนรู้ 4 กิจกรรม ได้แก่ 1. ฐานการผลิตหนอนแมลงวันลาย 2.ฐานการเลี้ยงไก่ไข่ดัวยหนอน เปลือกหุ้มดักแด้ ซากตัวเต็มวัยของแมลงวันลาย 3. ฐานการเลี้ยงปลาดุกด้วยหนอน เปลือกหุ้มดักแด้ ซากตัวเต็มวัยของแมลงวันลาย  4. ฐานการเพาะปลูกพืชผักด้วยปุ๋ยมูลหนอน เปลือกหุ้มดักแด้ของแมลงวันลาย และมูลไก่ โดยมีมัคคุเทศก์น้อยจากกลุ่มโรงเรียนคุ้งบางกะเจ้าเป็นผู้นำชมและบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาไทย  ณ โรงเรียนวัดบางน้ำผึ้งนอก ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

รศ.ดร.อุทัยวรรณ โกวิทวที หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า กิจกรรมติดตามผลการดำเนินงานของโครงการ “การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ของชุมชนคุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยบูรณาการต้นแบบการผลิตอาหารจากผลิตภัณฑ์แมลงวันลายสู่การเกษตรและการท่องเที่ยวของชุมชน” ในวันนี้ เป็นการขยายผลความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อ 6 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2562) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้การเลี้ยงแมลงวันลายครบวงจรชีวิตแก่โรงเรียนและชุมชน และผลจากการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการของโรงเรียนและชุมชนกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องนั้น ในปี พ.ศ.2566 ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มอบหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง “การเลี้ยงและการใช้ประโยชน์จากแมลงวันลาย” ให้แก่ นายทศพร ถือพุดซา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 1 รวมทั้งได้มอบแหล่งเรียนรู้การเลี้ยงแมลงวันลายครบวงจรชีวิตและขออนุญาตนำทรัพย์สินทางปัญญาอนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2303000600 วันที่ยื่นคำขอ 2 มีนาคม 2566 เรื่อง โรงเลี้ยงแมลงวันลายระยะตัวเต็มวัยสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เลขที่คำขอ 2302001049 วันที่ยื่นคำขอ 14 มีนาคม 2566 เรื่องตู้เก็บไข่และตู้ใส่แมลงวันลายระยะดักแด้แก่ นายสมปอง รัศมิทัติ ประธานศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมคุ้งบางกะเจ้า  ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมคุ้งบางกะเจ้า  ตำบลบางยอ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยเปิดให้มีการเยี่ยมชมและอบรมการเลี้ยงแมลงวันลายครบวงจรชีวิต ซึ่งมีประชาชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งหน่วยงานราชการ และเอกชนเข้าเยี่ยมชมจำนวนมาก

นอกจากนี้ กลุ่มโรงเรียนคุ้งบางกะเจ้าทั้ง 10 โรงเรียน ได้แก่ (1) โรงเรียนวัดบางน้ำผึ้งนอก (2) โรงเรียนวัดบางน้ำผึ้งใน (3) โรงเรียนวัดบางขมิ้น (4) โรงเรียนวัดบางกอบัว (5) โรงเรียนวัดราษฎร์รังสรรค์ (6) โรงเรียนวัดคันลัด (7) โรงเรียนวัดป่าเกด (8) โรงเรียนวัดกองแก้ว (9) โรงเรียนวัดบางกะเจ้ากลาง และ (10) โรงเรียนวัดบางกระสอบ สามารถนำองค์ความรู้จากกิจกรรมการเลี้ยงแมลงวันลายครบวงจรชีวิตมาบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ของกลุ่มโรงเรียนคุ้งบางกะเจ้า โดยแต่ละโรงเรียนรับผิดชอบแต่ละรายวิชา ดังนี้ (1) รายวิชาภาษาอังกฤษ บรรยายวงจรชีวิตของแมลงวันลายเป็นภาษาอังกฤษ (2) รายวิชาวิทยาศาสตร์ (3) รายวิชานาฏศิลป์ (4)  รายวิชาภาษาไทย (5) รายวิชาคณิตศาสตร์ (6) รายวิชาศิลปะ (7) รายวิชาเกษตร (8)  รายวิชาสังคมศึกษา และ (9) รายวิชาสุขศึกษา

จากความสำเร็จดังกล่าวในปี พ.ศ.2567 จึงได้มีการต่อยอดโดยดำเนินการโครงการ “การพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ของชุมชนคุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยบูรณาการต้นแบบการผลิตอาหารจากผลิตภัณฑ์แมลงวันลายสู่การเกษตรและการท่องเที่ยวของชุมชน” มี 10 หน่วยงานในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (คณะวิทยาศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเกษตร บางเขน คณะเกษตร กำแพงแสน คณะมนุษยศาสตร์ คณะประมง วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันขงจื๊อ สถานีวิจัยประมงกำแพงแสน และ สำนักงานนวัตกรรมและพันธกิจเพื่อสังคม) กลุ่มโรงเรียนคุ้งบางกะเจ้า (โรงเรียนวัดบางน้ำผึ้งนอก โรงเรียนวัดบางขมิ้น โรงเรียนวัดราษฎร์รังสรรค์ และโรงเรียนวัดบางกอบัว) และกลุ่มชุมชน: ศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมคุ้งบางกะเจ้า ตำบลบางยอ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมโครงการ

รศ.ดร.อุทัยวรรณ กล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ ต้องการลดขยะอินทรีย์ของแต่ละกลุ่มกิจกรรมให้เหลือศูนย์หรือเหลือน้อยที่สุด ตามแนวคิดของ Zero waste โดยนำขยะอาหาร (Food waste) ของโรงเรียนและขยะทางการเกษตร (Agricultural waste) มาเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ปลา ไก่ไข่พันธุ์เชิงการค้า   ซึ่งเป็นชนิดที่ให้ผลผลิตไข่ค่อนข้างสูงและไก่ดำนิลเกษตร (ศาสตร์) ซึ่งส่วนของเนื้อและไข่จะมีคุณค่าทางสารอาหารค่อนข้างสูง รวมทั้งนำหนอน เปลือกหุ้มดักแด้ และซากตัวเต็มวัยของแมลงวันลายมาเลี้ยงไก่และปลา นำมูลของหนอนแมลงวันลาย มูลของไก่ และเปลือกหุ้มดักแด้ มาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับปลูกพืชผัก ที่สอดคล้องกับความต้องการในการใช้ประกอบอาหารกลางวันของนักเรียน และชุมชนอีกด้วย

นอกจากนี้แต่ละกลุ่มกิจกรรมยังสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อจัดจำหน่ายซึ่งเป็นแนวทางการสร้าง ความสามารถพัฒนาทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ด้านอาชีพ รวมทั้งพัฒนาเยาวชนของชุมชนสู่การเป็นมัคคุเทศก์ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต โดยทุกกิจกรรมจะเป็นการสร้างต้นแบบการผลิตอาหารด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของกลุ่มโรงเรียนและชุมชนคุ้งบางกะเจ้า ซึ่งจะเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ สำหรับชุมชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจต่อไป

สำหรับหนอนแมลงวันลาย เป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่ามีศักยภาพสูงในการเปลี่ยนขยะอินทรีย์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีคุณค่าทางโภชนาการมีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 40-60 ไขมันร้อยละ 10-20 คาร์โบไฮเดรต 10-15 เกลือแร่ร้อยละ 1-3 จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนทดแทนในการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจหลายชนิด เช่น สัตว์น้ำ (ปลานิล ปลาดุก) สัตว์ปีก (เป็ด ไก่ นก) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (สุกร โค กระต่าย สุนัข แมว) และสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ (Exotic Pet) ได้แก่ อีกัวน่า กิ้งก่า ชูการ์ไกลเดอร์ เม่น โอพอสซัม นกป่า และบลูเบิร์ด เป็นต้น สำหรับไขมันสามารถนำไปผลิตสารมูลค่าสูง ได้แก่ ผลิตสารต้านจุลชีพ เครื่องสำอาง และ  ไบโอดีเซล เป็นต้น นอกจากนี้ส่วนของมูลหนอนแมลงวันลาย และเปลือกหุ้มดักแด้ ยังสามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกพืชผักได้อีกด้วย

​​​​​​​

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/552969