ค้นหา

กรมประมงแนะนำ 5 วิธีเตรียมบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันจากปลาหมอคางดำ

กรมประมง
เข้าชม 148 ครั้ง

กรมประมง มีข้อแนะนำสำหรับเกษตรกรที่กำลังมีการเตรียมบ่อสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ว่าจะเป็นกุ้งหรือปลา กับ 5 วิธีป้องกันปลาหมอคางดำเข้าบ่อสร้างความเสียหาย

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยพบการแพร่ระบาดแล้ว 16 จังหวัด แต่ในขณะนี้ มีข้อสงสัยของสังคม เรื่อง ไข่ปลาหมอคางดำสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมนอกปากปลาหมอคางดำได้ถึง 2 เดือน และยังฟักเป็นตัวได้ตามที่มีการเสนอข่าวไปนั้น

หากอธิบายด้วยหลักวิชาการด้านประมง พบว่า ปลาหมอคางดำเป็นปลาที่มีพฤติกรรมหวงลูก นั่นคือ พ่อปลาอมไข่ไว้ในปาก เพื่อฟักไข่ในปากไข่ปลาต้องได้รับความชุ่มชื้น และได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ จึงจะเป็นสภาพที่พร้อมในการฟักลูกปลา ดังนั้น ไข่ปลาหมอคางดำจึงไม่สามารถทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ หากนำไข่ปลาหมอคางดำขึ้นมาจากน้ำ แล้วทิ้งไว้จนแห้งจะกลายเป็นไข่เสียทันที ไม่สามารถฟักเป็นตัวได้อีก

ดังนั้น สำหรับเกษตรกรที่กำลังมีการเตรียมบ่อสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ว่าจะเป็นกุ้งหรือปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ กรมประมงมีข้อแนะนำ ดังนี้

1. ลงปูนขาว หรือ กากชา เพื่อฆ่าศัตรูปลา ในการเตรียมบ่อก่อนลงลูกปลาที่เลี้ยงทุกครั้ง
2. ใช้ถุงกรองเพื่อกรองน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าสู่บ่อ ป้องกันไม่ให้ปลาหมอคางดำ ปลาผู้ล่าอื่นๆ รวมถึงศัตรูปลาเข้าสู่บ่อเลี้ยง

3. หากพบปลาหมอคางดำในบ่อต้องรีบดำเนินการจับขึ้น โดยใช้แห อวน ลอบ หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อควบคุมและกำจัดไม่ให้แพร่ระบาดจำนวนมาก
4. หากพบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำใกล้เคียงบ่อเลี้ยงให้รีบกำจัด และแจ้งกรมประมงเพื่อหาทางควบคุมและกำจัดออกจากแหล่งน้ำทันที
5. หากบ่อเลี้ยงเคยพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมาแล้ว ควรทำการตากบ่อ จนกว่าดินจะแห้งสนิทก่อนสูบน้ำเข้าบ่อ เพื่อเพาะเลี้ยงใหม่อีกครั้ง.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-policy/2802985