ค้นหา

กรมวิชาการเกษตร อวดเห็ดฟางพันธุ์ใหม่ “กวก. สทช.1” ให้ผลผลิตสูงปลูกได้ทุกภาค

กรมวิชาการเกษตร
เข้าชม 96 ครั้ง

กรมวิชาการเกษตร อวดโฉมเห็ดฟางพันธุ์ใหม่ “กวก. สทช.1” พัฒนาจากนครนายก ให้ผลผลิตสูงสุด ดอกตูม ทรงน้ำเต้า เพาะได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย แต่ดีสุดในภาคกลางและอีสาน เริ่มเก็บผลผลิตได้หลังลดอุณหภูมิโรงเรือน 7 วัน 1 รอบผลิตมีระยะเวลาเก็บผลผลิตนาน 2-3 สัปดาห์

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยได้รับความนิยมเพาะบริโภคอย่างแพร่หลาย  มีกำลังการผลิตสูงถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตเห็ดรวมที่ผลิตได้ในประเทศ  โดยมีพื้นที่ภาคกลางเป็นแหล่งการผลิตหลักและมีตลาดกลางที่จำหน่ายผลผลิตเห็ดฟาง ได้แก่ ตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง ราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 100-150 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของดอกเห็ดฟาง ตามเกณฑ์มาตรฐานชั้นคุณภาพของเห็ดฟาง (มกษ. 1515-2558) 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญในการผลิตเห็ดฟาง คือ เชื้อพันธุ์เห็ดฟางที่มีจำหน่ายในท้องตลาด มักประสบปัญหาความอ่อนแอลง เนื่องจากความแปรปรวนทางพันธุกรรม และจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ซึ่งเชื้อพันธุ์เห็ดฟางถือเป็นปัจจัยข้อแรก ที่ส่งผลอย่างมากต่อผลผลิตเห็ดฟางของเกษตรกร ส่งผลให้ผลผลิตเห็ดฟางลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายรพีภัทร์  กล่าวอีกว่า ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร  จึงได้ดำเนินการรวบรวม เก็บอนุรักษ์เชื้อพันธุ์เห็ดฟางจากพื้นที่ต่างๆ เพื่อดำเนินการเพาะทดสอบ คัดเลือกเห็ดฟางสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ ผลผลิตสูงและมีลักษณะที่ดีตามความต้องการของตลาด จนได้เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช.1

นางสาวจิตรา กิตติโมรากุล นักวิชาการโรคพืชชำนาญการ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวว่า เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช.1 เป็นเชื้อพันธุ์ที่รวบรวมได้จากโรงเรือนของเกษตรกรในพื้นที่ จ.นครนายก และดำเนินการเก็บอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ในน้ำกลั่นนึ่งฆ่าเชื้อภายในศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาในปี พ.ศ. 2560-2561 ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพการสร้างตุ่มดอกของเห็ดฟางที่เก็บอนุรักษ์ จำนวน 69 สายพันธุ์ พบว่ามีเห็ดฟาง 14 สายพันธุ์ที่สามารถสร้างตุ่มดอกเห็ดได้

นักวิชาการโรคพืชชำนาญการฯ กล่าวต่อว่า เมื่อนำมาศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา และการให้ผลผลิตของเชื้อพันธุ์เห็ดฟางในโรงเรือนของกรมวิชาการเกษตร สามารถคัดเลือกสายพันธุ์เห็ดฟางที่มีศักยภาพให้ผลผลิตสูง และมีลักษณะตรงตามความต้องการของตลาดได้ 4 สายพันธุ์จึงดำเนินการเพาะทดสอบผลผลิตของสายพันธุ์ที่คัดเลือกได้เปรียบเทียบกับเห็ดฟาง 2 สายพันธุ์เดิม โดยใช้ฟางข้าว ขี้ฝ้าย และทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันเป็นวัสดุเพาะ พบว่า เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช.1 เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุด ดอกมีลักษณะแบบฐานกว้าง รูปร่างค่อนข้างกลม เปลือกหุ้มดอกหนา

นางสาวจิตรา กล่าวอีกว่า เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช.1  ลักษณะเด่นให้น้ำหนักผลผลิตเฉลี่ย 2,285.16 กรัม/ตารางเมตร เมื่อใช้ฟางข้าวและขี้ฝ้ายเป็นวัสดุเพาะ สูงกว่าเห็ดฟาง 2 สายพันธุ์เดิม ซึ่งให้น้ำหนักผลผลิตเฉลี่ย 601.56 กรัม/ตารางเมตร คิดเป็น 300 เปอร์เซ็นต์ และให้น้ำหนักผลผลิตเฉลี่ย 3,450.93 กรัม/ตารางเมตร เมื่อใช้ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันเป็นวัสดุเพาะ  สูงกว่าเห็ดฟาง 2 สายพันธุ์เดิม ซึ่งให้น้ำหนักผลผลิตเฉลี่ย 648.43 กรัม/ตารางเมตร คิดเป็น 500 เปอร์เซ็นต์ลักษณะดอกตูม เป็นทรงน้ำเต้า ฐานกว้างขนาด 11-58 มิลลิเมตร ยาว 14-58 มิลลิเมตร ดอกสีน้ำตาลอ่อนถึงเทาอมดำอ่อน ขนาดและรูปร่างของดอกตรงตามเกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตรของเห็ดฟาง (มกษ. 1515-2558) เริ่มเก็บผลผลิตได้หลังลดอุณหภูมิในโรงเรือนลงประมาณ 7 วัน และใน 1 รอบการผลิต มีระยะเวลาการเก็บผลผลิตได้นาน 2-3 สัปดาห์

เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช.1 ผ่านการรับรองเป็นพันธุ์แนะนำเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 สามารถเพาะได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทยมีแผนการผลิตและจำหน่ายเชื้อพันธุ์เห็ดฟาง กวก. สทช.1 ในรูปแบบแม่เชื้อบริสุทธิ์ได้ปีละ 500 ขวด เกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถขอรับบริการเชื้อพันธุ์เห็ด ได้ที่กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2579-0147 ในวันและเวลาราชการ” นักวิชาการโรคพืชชำนาญการฯ กล่าว.

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/agriculture/agricultural-technology/2803044