ค้นหา

การใช้สาหร่ายทะเล เพื่อการบำบัดน้ำทิ้ง จากการเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิสราภรณ์ เพ็ชร์สุทธิ์,เว็บไซต์เทคโนโลยีชาวบ้าน ดอทคอม
เข้าชม 187 ครั้ง

สาหร่าย ตรงกับภาษาอังกฤษว่า algae และภาษากรีกว่า phykos หมายถึง สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ เป็นพืชชั้นต่ำที่มีขนาดตั้งแต่เล็กมากมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่าต้องมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ จนถึงขนาดใหญ่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (ยุวดี, 2549) ส่วนใหญ่จะมีคลอโรฟิลล์ช่วยในการสังเคราะห์แสง เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมาประมาณ 4,500 ล้านปีมาแล้ว ดำรงชีวิตด้วยการสร้างอาหารเช่นเดียวกับพืชชั้นสูงทั่วไป

สาหร่าย เป็นกลุ่มของสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายกลุ่ม พบแพร่กระจายทั่วไปตามธรรมชาติ สามารถมีชีวิตได้ทั้งในแหล่งน้ำจืด ซึ่งอาศัยอยู่ได้ทั้งในแหล่งน้ำนิ่ง และแหล่งน้ำไหล น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ซึ่งเป็นสาหร่ายที่สามารถเจริญเติบโตได้ในทะเลและมหาสมุทร นอกจากนี้ ยังสามารถพบสาหร่ายได้ทุกหนทุกแห่งที่มีความชื้น เช่น ในดิน หิมะ หรือในน้ำพุร้อน

สำหรับ สาหร่ายทะเล (seaweeds, marine algae) เป็นพืชชั้นต่ำชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทะเล (grass of the sea) สามารถขึ้นได้ในแหล่งน้ำกร่อย หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศวิทยา (ecosystem) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในฐานะผู้ผลิตหรือผู้สร้างอาหาร เป็นหน่วยแรกของห่วงโซ่อาหาร จัดเป็นทรัพยากรจากทะเลที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นทรัพยากรประมงอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ

ในประเทศไทยนอกจากมีการนำสาหร่ายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมาเป็นอาหารของคน ทำปุ๋ย อาหารสัตว์ ใช้ผลิตแก๊สเชื้อเพลิง และใช้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรมและการค้าแล้ว ยังมีการนำสาหร่ายทะเลบางชนิดมาใช้เพื่อการบำบัดน้ำทิ้งจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้ง ปลา หรือหอย ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

การบำบัดน้ำทิ้งจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

สาหร่ายทะเล เป็นพืชชั้นต่ำอีกชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการนำมาบำบัดน้ำจากการเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณภาพดีขึ้น และส่งผลให้สาหร่ายมีการเจริญเติบโตเนื่องจากสารอาหารในน้ำทิ้งนั่นเอง

ในประเทศไทยมีการศึกษาการเลี้ยงสาหร่ายวุ้นสีแดง ในน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งทะเล ซึ่งพบว่าสามารถลดสารอาหารในน้ำทิ้งจาการเลี้ยงกุ้งได้ และจากการศึกษาพบว่า สาหร่ายพวงองุ่น (Caulerpe lentillifera) ที่เลี้ยงด้วยน้ำทิ้ง จากการเลี้ยงกุ้งผสมด้วยน้ำทะเลธรรมชาติ จะมีอัตราการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตโดยรวม ดีกว่าสาหร่ายที่เลี้ยงด้วยน้ำทะเลธรรมชาติเพียงอย่างเดียว อีกทั้งคุณภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่าย ภายหลังจากที่นำสาหร่ายลงเลี้ยง ก็พบว่ามีคุณภาพดีขึ้นกว่าก่อนที่จะนำสาหร่ายมาเลี้ยง

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ผลผลิตของสาหร่ายผักกาดทะเล Ulva rigida ที่เลี้ยงในบ่อหอยหวานซึ่งมีปริมาณไนเตรตสูงกว่าบ่อเลี้ยงอื่น ให้ผลผลิตของสาหร่ายดังกล่าวสูงกว่าบ่อเลี้ยงอื่นๆ

จากการทดลอง ใช้สาหร่ายผมนาง (Gracilaria fisheries) ลดปริมาณแอมโนเนีย ไนไตรต์ ไนเตรต และฟอสฟอรัสในน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้ง โดยเลี้ยงสาหร่ายที่ความหนาแน่น 0 (ชุดควบคุม), 0.25, 0.5, และ 1 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร ผลปรากฏว่า สาหร่ายที่เลี้ยงที่ความหนาแน่น 1 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร สามารถลดปริมาณความเข้มข้นของแอมโนเนีย ไนไตรต์  ไนเตรต และฟอสฟอรัส ในน้ำทิ้งจากการเลี้ยงกุ้งได้ดีที่สุด นอกจากนี้ ได้ทดลองเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น (Caulerpe lentillifera) ในถังไฟเบอร์ โดยใช้น้ำทะเลธรรมชาติผสมน้ำทิ้งจากการเลี้ยงปลา ผลปรากฏว่าสาหร่ายที่เลี้ยงในถังไฟเบอร์กลาสโดยใช้น้ำทะเลธรรมชาติผสมน้ำทิ้งจากการเลี้ยงปลามีอัตราการเจริญเติบโตต่อวันสูงกว่าสาหร่ายที่เลี้ยงโดยใช้น้ำทะเลเพียงอย่างเดียว

ยังมีการทดลองเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อด้วยสาหร่ายมงกุฎหนาม (Acanthophora spicifera) และสาหร่ายผมนาง (Gracilaria fisheries) ซึ่งหอยที่ได้มีอัตราการเจริญเติบโตดีและมีอัตราการรอดตายต่ำ แต่ต้องเก็บรวบรวมจากสาหร่ายดังกล่าวในธรรมชาติและไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงได้นำสาหร่ายทั้ง 2 ชนิด มาประยุกต์ใช้ในการบำบัดน้ำทางชีวภาพช่วยในการบำบัดน้ำทิ้งจากการเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณภาพดีขึ้น  และเป็นอีกทางหนึ่งเพื่อเพิ่มผลผลิตสาหร่ายให้มากเพียงพอ ต่อเกษตรกรที่จะเลี้ยงหอยเป๋าฮื้อในอนาคตต่อไป

นอกจากนี้ มีการทดลองเลี้ยงสาหร่ายเขากวาง (Gracilaria  edulis) และสาหร่ายมงกุฎหนาม (Acanthophora spicifera) ในบ่อบำบัดน้ำทิ้งโรงเพาะอนุบาลสัตว์น้ำของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดตราด ด้วยวิธีการแขวนในบ่อ โดยใช้สาหร่ายบรรจุในถุงที่ทำด้วยเนื้ออวน พบว่า อัตราการเจริญเติบโตน้ำหนักเป็นกรัมต่อวัน ของสาหร่ายเขากวาง และสาหร่ายมงกุฎหนาม ในช่วง 81 วัน มีค่า 20.98 และ 17.89  ตามลำดับ

นอกจากนี้ หลังจากการเลี้ยงสาหร่ายในบ่อบำบัดน้ำทิ้งแล้ว คุณภาพน้ำดีขึ้นจากเดิมมาก โดยสามารถลดปริมาณความเข้มข้นของแอมโนเนีย ไนไตรต์ ไนเตรต และบีโอดี (BOD.)

จากประโยชน์ของสาหร่ายทะเลข้างต้น จะเห็นว่า มีศักยภาพเพื่อการนำมาบำบัดน้ำทิ้งจากการเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งนอกจากเป็นการลดค่าใช้จ่ายเพื่อการบำบัดน้ำ อันหมายถึงเป็นการลดต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว ยังเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_69511