ค้นหา

เกษตรกร อ.แสวงหา รวมกลุ่มแปลงใหญ่ปลูก “ไม้มงคล” ส่งตลาดทั้งในและต่างประเทศ

เกษตรกรอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง,นายประคอง สุขมนต์,กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ไม้มงคล ตำบลแสวงหา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง
เข้าชม 111 ครั้ง

เกษตรกรอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำนา ไร่อ้อย หันมาปลูกไม้มงคลเป็นอาชีพเสริม รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตรให้การสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยง เพื่อร่วมกันวางแผนการผลิตไม้มงคลให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ลดต้นทุนการผลิต หาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และเพิ่มมูลค่าของไม้มงคล ตลอดจนจัดหาพันธุ์ไม้ใหม่ๆ ป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นายประคอง สุขมนต์ ประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ไม้มงคล ตำบลแสวงหา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า เกษตรกรในพื้นที่อำเภอแสวงหา ส่วนใหญ่ทำนา ไร่อ้อย เพราะอยู่ในเขตชลประทานที่สามารถควบคุมน้ำได้ดี แต่เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่บางส่วนมีพื้นฐานของการปลูกและการตลาดไม้ประดับ จึงคิดว่าน่าจะทำเป็นอาชีพเสริมควบคู่ไปกับการเกษตรอื่น ๆ ไปด้วย เพื่อลดความเสี่ยงจากพืชเชิงเดี่ยว และคนในชุมชนไม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่นเมื่อหมดฤดูการทำนา

อีกทั้ง ยังมองว่า ไม้ประดับตลาดยังมีความต้องการมากและมีการขยายตัวสูง แต่ปัญหาของเราคือ ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีความรู้และไม่มีประสบการณ์การปลูกและเลี้ยงไม้ประดับ รวมถึงการจำหน่ายมาก่อน จึงชักชวนให้คนในชุมชนมาเรียนรู้ร่วมกัน โดยจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นในปี พ.ศ. 2552 และต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มในการผลิตพืชชนิดเดียวกัน เพื่อร่วมกันวางแผนการผลิตให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาด สร้างมูลค่าและสร้างสมดุลการผลิตในชุมชน จึงมีการขอจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ไม้มงคลขึ้นในปีงบประมาณ 2561 และต่อมาได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มเกษตรกรกับสหกรณ์กรจังหวัดอ่างทอง ชื่อว่า “กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ไม้มงคล ตำบลแสวงหา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง” 

ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ไม้มงคล ตำบลแสวงหา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง มีสมาชิกทั้งสิ้น 31 ราย พื้นที่ปลูก 15 ไร่ มีเป้าหมายที่จะร่วมกันผลิตให้ตรงตามแผนการผลิตของกลุ่มอย่างชัดเจน โดยวิเคราะห์จากความต้องการของตลาดเป็นหลัก ให้บริการเงินทุน ความรู้ ปัจจัยการผลิตราคาถูกแก่สมาชิก โดยการระดมทุนจากสมาชิกและแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ หาแนวทางให้สมาชิกสามารถลดต้นทุนการผลิตได้

โดยแปลงใหญ่ไม้มงคล มีสำนักงานเกษตรจังหวัดอ่างทอง สำนักงานเกษตรอำเภอแสวงหา เป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านการวิเคราะห์ จัดทำแผนและปรับปรุงข้อมูล การถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรเน้นการบริหารจัดการกลุ่ม การเชื่อมโยงการตลาด ให้ความรู้ด้านการเพิ่มคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ตลอดจนการประสานหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานเกษตรแปลงใหญ่ เช่น ให้ความรู้เรื่องการเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ช่วยลดการใช้ปุ๋ย การทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และการปรับปรุงบำรุงดินปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์ การใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการรวมกลุ่ม การทำบัญชี เป็นต้น

สำหรับการบริหารจัดการของกลุ่ม จะดำเนินการตามแผนและกิจกรรมที่ตั้งไว้ เช่น การลดต้นทุนการผลิต จะรวมกันซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยทางใบ กระถาง ดินใบก้ามปู กาบมะพร้าวสับ และถุงอบพลาสติก เพื่อให้ได้ราคาถูก มีการใช้ชีวภัณฑ์แทนการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคเน่าที่เกิดจากรา มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี และผสมปุ๋ยใช้เอง ส่วนแนวทางการเพิ่มผลผลิต เช่น การยกพื้นที่ปลูกให้สูงจากพื้นดิน การรักษาความสะอาดของแปลงปลูกเพื่อลดการเน่าเสียของไม้มงคล และการใช้สแลนในการพรางแสงเพื่อทำให้ไม้มีสีสันสวยงาม นอกจากนี้ ยังมีการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์มาขยายพันธุ์ มีการใช้โรงอบสำเร็จรูปมาใช้ในการอบแก้วกาญนาในขั้นตอนปักชำ เพื่อทดแทนการใช้ถุงพลาสติกอบต้นแก้วกาญจนา 

อย่างไรก็ตาม ไม้มงคล เป็นพืชที่ตลาดมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กลุ่มจะต้องหาข้อมูลเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกปลูกไม้มงคลที่มีคุณภาพตรงต่อตามความต้องการของตลาดในช่วงนั้น ทั้งเรื่องของสายพันธุ์ไม้ใหม่ๆ ให้มีความหลากหลาย และมีการใช้ธาตุอาหารเสริมเพิ่มคุณภาพของใบและต้นให้มีสีสันสวยงาม เปลี่ยนภาชนะให้สวยงามมากขึ้นเพื่อการขายปลีกให้ลูกค้า ปัจจุบันผลผลิตบางส่วนของกลุ่มมีการจำหน่ายไปยังต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ บางส่วนนำมาวางจำหน่ายในตลาดชุมชน และตลาดอื่นๆ เช่น ตลาดบางบัวทอง คลอง 15 จังหวัดนครนายก จังหวัดนครราชสีมา และบางส่วนจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เสริมเฉลี่ยเดือน 3,000-4,000 บาทต่อราย อย่างช่วงที่กระแสของไม้มงคลดีมาก ๆ สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาทเลยทีเดียว 

“นอกจากความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากกรมส่งเสริมการเกษตร ที่สอนให้รู้จักการรวมกลุ่มและการบริหารจัดการกลุ่ม การเชื่อมโยงการตลาด ร่วมกันผลิต และร่วมกันจำหน่าย ซึ่งจะช่วยให้มีตลาดรองรับที่แน่นอนแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น แม่พันธุ์แก้วกาญจนา กระถางพลาสติกดำ ตาข่ายพรางแสง กาบมะพร้าวสับ ใบก้ามปู ท่อเหล็กกลม โรงเรือนเพาะปลูก และเครื่องผสมดิน จากโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี2564 อีกด้วย สำหรับทิศทางในอนาคต ทางกลุ่มจะต้องติดตามสถานการณ์ของไม้มงคลตลอดเวลา เพื่อจะได้วางแผนและกำหนดทิศทางได้ตรงกับความต้องการของตลาด เนื่องจากไม้สวยงาม ไม้มงคล ตลาดมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” นายประคอง กล่าว

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/555954