นายอนุสรณ์ เทียนศิริฤกษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร (กวก.) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยเฉพาะวิกฤตแล้งกระทบโดยตรงต่อผลผลิตอ้อย ช่วงต้นปี 2567 เกิดความแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ ทำให้ผลผลิตอ้อยเฉลี่ยต่อไร่ลดลง ทั้งปีคาดมีปริมาณมี 85.78 ล้านตัน มูลค่าการผลิตรวม 123,311.50 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย (ม.ค. – มิ.ย.) 1,438 บาท/ตัน
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา มีหน้าที่แนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเป็นการใช้ปุ๋ยให้ตรงกับระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน เหมาะสมตามความต้องการของอ้อย สามารถใช้ปุ๋ยได้ถูกอัตรา
ดังนั้น พื้นที่ที่เหมาะสมที่จะปลูกอ้อย ต้องมีโครงสร้างดี ควรมีเนื้อดินร่วนปนทรายถึงร่วนเหนียว ค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน (pH) เป็นกรดจัดถึงด่างเล็กน้อย (5.5-7.5) อินทรียวัตถุ 1.5-2.5 % ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 10-20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 80-150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น
หากพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นดินทรายหรือร่วนปนทรายโดยทั่วไปจะมีอินทรียวัตถุในปริมาณต่ำ ควรปรับปรุงดินด้วยวัสดุอินทรีย์ เช่น กากตะกอนหม้อกรองอ้อย 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นต้น การไถกลบเศษซากพืช หรือ การปลูกพืชตระกูลถั่วที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศ เช่น การปลูกปอเทือง ถั่วมะแฮะ ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม และถั่วขอ เป็นต้น โดยหว่านเมล็ดอัตรา 8 – 10 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถกลบก่อนปลูกอ้อย 2 – 4 สัปดาห์
กรณีที่ดินมีค่าความเป็นกรด-ด่างของดิน ต่ำกว่า 5.6 ควรปรับปรุงดินด้วยปูนขาวหรือปูนโดโลไมต์100 กิโลกรัมต่อไร่ กรณีดินทรายถึงดินร่วนปนทรายที่มีค่าความเป็นกรดด่างของดิน ต่ำกว่า 5.6 ควรปรับปรุงดินด้วยปูนโดโลไมต์100 กิโลกรัมต่อไร่ ร่วมกับการใช้กากตะกอนหม้อกรอง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยได้ถึง 30 – 50 %
สำหรับการวิเคราะห์ตัวอย่างดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รู้ปริมาณธาตุอาหารในดิน ดังนี้ 1. ปริมาณอินทรียวัตถุในดิน (%OM-Organic matter)หรือ เพื่อดูปริมาณอินทรียวัตถุในดินที่จะปลดปล่อยไนโตรเจนให้แก่อ้อย 2. ปริมาณฟอสฟอรัสที่แลกเปลี่ยนได้ (Available P) หรือ เพื่อดูปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่ออ้อย และ 3. ปริมาณโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้(Available K) หรือ เพื่อทราบปริมาณโพแทสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่ออ้อย
“การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเป็นการใช้ปุ๋ยให้ตรงกับระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินและความต้องการธาตุอาหารของอ้อย ผลวิเคราะห์ดินสามารถบอกถึงปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืชว่าอยู่ในระดับใด เพื่อเป็นแนวทางการใช้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามความต้องการของพืช สามารถใช้ปุ๋ยได้ถูกอัตรา ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย 20% จากต้นทุนปุ๋ยที่มีสัดส่วนประมาณ 30% ของต้นทุนการเพาะปลูกอ้อย และเพิ่มผลผลิต 10% ”
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เมื่อได้รับผลวิเคราะห์ตัวอย่างดินแล้ว นำค่าที่ได้มาพิจารณาร่วมกับตารางคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินของอ้อย เพื่อนำไปพิจารณาอัตราการใช้ปุ๋ยต่อการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของอ้อยให้เหมาะสม ซึ่งอัตราปุ๋ยที่ใส่ให้อ้อยจะแตกต่างกันตามระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน
สำหรับอ้อยปลูกและอ้อยตอ โดยทั่วไปจะใส่ปุ๋ยประมาณ 2-3 ครั้งต่อฤดูปลูก คือ
1. ใส่รองพื้นพร้อมปลูก (สำหรับอ้อยปลูก) หรือใส่หลังจากเก็บเกี่ยวอ้อยประมาณ 1-2 เดือน (สำหรับอ้อยตอ) ให้มีธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมครบทั้ง 3 ธาตุ โดยใส่ปุ๋ยฟอสเฟตตามอัตราแนะนำร่วมกับปุ๋ยไนโตรเจนและปุ๋ยโพแทช อย่างน้อย 1 ใน 3 ของอัตราแนะนำ
2.เมื่ออ้อยอายุ 3-4 เดือน หรือ 5-6 เดือน (กรณีปลูกอ้อยข้ามแล้ง) และดินมีความชื้นเหมาะสม ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนและโพแทชที่เหลือทั้งหมด โดยโรยข้างแถวปลูกแล้วพรวนดินกลบ กรณีดินทรายหรือร่วนปนทราย ควรแบ่งใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ให้ใส่ปุ๋ยฟอสเฟตตามอัตราแนะนำ ส่วนปุ๋ยไนโตรเจนและปุ๋ยโพแทชให้แบ่งใส่ 1 ใน 3 ของอัตราแนะนำ จากนั้นใส่ปุ๋ยไนโตรเจนและปุ๋ยโพแทชอีก 2 ครั้ง เมื่ออ้อยอายุ 3-4 เดือน และ 5-6 เดือน โดยใส่ครั้งละ 1 ใน 3 ของอัตราแนะนำ
ส่วนวิธีการเก็บตัวอย่างดิน มีรายละเอียดดังนี้คือ
- แบ่งแปลงเก็บตัวอย่างดินตามสภาพของพื้นที่ ชนิดดิน ความลาดเอียงของพื้นที่เพื่อให้พื้นที่มีความสม่ำเสมอ ขนาดพื้นที่ 5-10 ไร่ต่อแปลง
- เก็บตัวอย่างดินให้ทั่วพื้นที่อย่างน้อย 5-10 จุดต่อแปลง ที่ความลึก 0-20 เซนติเมตร
- นำตัวอย่างดินมาคลุกให้เข้ากัน และแบ่งใส่ถุงประมาณ 1 กิโลกรัม พร้อมบันทึกรายละเอียดตัวอย่าง เช่น สถานที่เก็บตัวอย่าง เป็นต้น
- นำตัวอย่างดินส่งวิเคราะห์ตามหน่วยงานที่รับวิเคราะห์ตัวอย่างดิน
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรมีการเก็บตัวอย่างดินหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตมาวิเคราะห์ในทุก ๆ ปี เพื่อทราบระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน การปรับปรุงดิน และการจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมในปีต่อ ๆ ไป โดยสามารถส่งตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ได้ที่ กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ หรือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรทั่วประเทศ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร