ธรรมนัส เปิดผล โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการเกษตร ขยายผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย พบ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 14,929 บาทต่อครัวเรือนต่อปี มีความมั่นคงด้านอาหาร 98 %
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการสัมมนาผลการติดตามประเมินผล “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2567 พร้อมเผยแพร่ความสำเร็จของโครงการพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ให้เป็นที่ประจักษ์สืบต่อไป
ปัจจุบันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีประมาณ 4,910 โครงการ (คิดเป็น 95% ของโครงการทั้งหมด 5,176 โครงการ) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดำเนินการ 1,099 โครงการ มีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมน้อมนำแนวทางพระราชดำริไปส่งเสริมและพัฒนาในพื้นที่โครงการ และมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นหน่วยงานติดตามผลการดำเนินงานในส่วนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ
ซึ่งในปี 2567 จะเป็นการติดตามผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นในปี 2566 ที่ผ่านมา ในโครงการสำคัญ ๆ รวม 36 โครงการ ทั้งนี้ มีตัวอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แบ่งเป็น 5 ด้านสำคัญ อาทิ
1) โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูก และช่วยป้องกัน บรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา (ห้วยโสมง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี สามารถเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนได้ 111,300 ไร่ และฤดูแล้ง 45,000 ไร่ ราษฎรโดยรอบมีอาชีพมั่นคงและมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 12,414 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
2) โครงการพัฒนาด้านการเกษตร ส่งเสริมฝึกอบรมให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการเกษตร ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัยพืช สัตว์ ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อาทิ โครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาทางด้านการเกษตรโดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ในพื้นที่ อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทุกปี โดยจัดทำแปลงสาธิตเทคโนโลยีด้านข้าวเพื่อลดต้นทุน การผลิตเปียกสลับแห้ง สร้างคลังอาหารสัตว์ช่วงน้ำท่วม ส่งเสริมการปลูกพริกพลิกชีวิต การปลูกผักแบบแพลอยน้ำ ถ่ายทอดองค์ความรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์
ส่งผลให้เกษตรกรร้อยละ 74 มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 31 กิโลกรัมต่อไร่ มีรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10,106 บาทต่อครัวเรือน ลดรายจ่ายทางการเกษตรเฉลี่ย 1,041 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และเกษตรกรร้อยละ 82 มีการพัฒนาต่อยอดขยายผล
3) โครงการด้านสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงสภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูป่าหนองเหมือดแอ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกำแพง 12 หมู่บ้าน รวม 1,753 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 1,400 ไร่ โดยเกษตรกรร้อยละ 95 มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4,857 บาทต่อครัวเรือนต่อปี สามารถลดรายจ่ายทางการเกษตรเฉลี่ย 1,583 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
4) โครงการด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา โดยจัดหาที่ทำกิน สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชน เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้แก่ โครงการเพิ่มศักยภาพระบบงานเกษตรภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติฯบ้านโรงเลื่อย ตำบลละหานทราย อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินการในโรงเรียนที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน 63 ไร่ มีนักเรียนได้รับการถ่ายทอดความรู้การขยายพันธุ์พืช 36 ราย โดยนักเรียนทั้งหมด มีโภชนาการที่ดี และมีสุขภาพแข็งแรงจากการบริโภคอาหารครบ 5 หมู่
และ 5) โครงการพัฒนาแบบบูรณาการและโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ เป็นการดำเนินการร่วมกันในหลายหน่วยงาน อาทิ โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินการในพื้นที่ในชุมชนบ้านสาละวะ – ชุมชนบ้านไล่โว่ มีเกษตรกรในพื้นที่ได้รับการพัฒนาความรู้ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตในการต่อยอดทำการเกษตรทั้งพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์รวม 611 ราย โดยมีผลผลิตข้าวเฉลี่ย 378 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 45 กิโลกรัมต่อไร่
หลังเข้าร่วมโครงการ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตจากการทำเกษตรในรูปแบบเกษตรผสมผสาน เช่น ทุเรียน กาแฟ หมาก บุก เงาะ กล้วย มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ พืชสมุนไพร พืชผักสวนครัว เลี้ยงไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ โคเนื้อ เป็ด เลี้ยงปลานิล ปลาดุก กบ เฉลี่ย 18,039 บาทต่อครัวเรือนต่อปี โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
โดยเฉพาะปัญหา 4 น้ำ 3 รส (น้ำเค็ม – น้ำเปรี้ยว น้ำท่วม – น้ำแล้ง) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟูให้มีความสมดุลในพื้นที่ 10 อำเภอ 73 ตำบล เกษตรกรมากกว่าร้อยละ 80 มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการฯ มีอาชีพมั่นคงและรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10,056 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
ทั้งนี้ เมื่อติดตามผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 36 โครงการที่ สศก. ได้ติดตาม พบว่า ภาพรวมช่วยเกษตรกรได้รับการส่งเสริมความรู้รวมแล้วกว่า 40,417 ราย เกิดผลสัมฤทธิ์ 4 ด้าน ได้แก่
1) ด้านเศรษฐกิจครัวเรือน ภาพรวมเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 14,929 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ลดรายจ่ายครัวเรือนจากการบริโภคอาหารในแปลงการเกษตรของตนเองเฉลี่ย 3,933 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และลดรายจ่ายการเกษตรจากการผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักและสารชีวภาพ นำมาใช้ทดแทนสารเคมีเฉลี่ย 3,750 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
2) ด้านสังคมครัวเรือน ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรร้อยละ 98 ได้บริโภคอาหารครบ 3 มื้อ ร้อยละ 92 บริโภคอาหารครบ 5 หมู่ นอกจากนี้ เกษตรกรร้อยละ 67 มีการรวมกลุ่ม และร้อยละ 86 มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกร
3) ด้านการจัดการทรัพยากร พบว่า เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการพังทลายของดินในชุมชน ทำให้คุณภาพดินดีขึ้นร้อยละ 84 พืชพันธุ์มีความหลากหลายร้อยละ 52
และ 4) ด้านการขยายผลการน้อมนำแนวพระราชดำริไปปฏิบัติ พบว่า เกษตรกรร้อยละ 85 ยังมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่ความรู้ไปยังเกษตรกรรายอื่น นอกจากนี้ ยังเกิดทายาทการเกษตรถึงร้อยละ 86
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้วางแนวทางโครงการพระราชดำริ เพื่อร่วมขับเคลื่อนไปสู่วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND น้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ ศึกษา ถอดบทเรียน สืบสานแนวคิด วิธีการ และประสบการณ์ที่ได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาพัฒนาด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม ทั้งการผลิต การพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาพันธุ์พืช/สัตว์ ดิน ปุ๋ย การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ตลอดจนพัฒนา Soft Power สร้าง Gimmick ชูจุดขายในพื้นที่ และเสริมสร้างสนับสนุนให้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เป็นต้น