ด้วงสาคู เป็นแมลงกินได้ที่มาแรง มีการเพาะเลี้ยงกันมากในแถบจังหวัดภาคใต้ เป็นที่นิยมบริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เนื่องจากสามารถเพาะเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก ขนาดของตัวหนอนค่อนข้างโต มีน้ำหนัก ขายได้ราคาดี เป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจทั้งในด้านการเพาะเลี้ยง ซึ่งมีวงจรชีวิตสั้นและนำไปบริโภคเช่นเดียวกับแมลงชนิดอื่นๆ
สำหรับด้วงสาคู หรือ ด้วงลาน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Rhynchophorus ferrugineus Oliver วงศ์ Curculionidae อันดับ Coleoptera เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งจำพวกแมลงที่มีชื่อเรียกว่า ด้วงงวง ด้วงไฟ ด้วงมะพร้าว ทางภาคใต้เรียกว่า ด้วงสาคู หรือด้วงลาน
ลักษณะตัวเต็มวัย ด้วงสาคูตัวเต็มวัยจะมีขนาดตัวยาวประมาณ 2.2-3.5 เซนติเมตร สีน้ำตาลอมส้ม หรือสีน้ำตาลปนดำ ปากยาวบอบบาง มีงวงโค้ง มีจุดแต้มสีน้ำตาลแต้มกระจายบริเวณด้านบนของอกปล้องแรก ซึ่งจุดแต้มนี้มีหลายรูปแบบ ปีกคู่หน้ามีริ้วรอยเป็นเส้นๆ ตามความยาวของปีก ปีกคลุมไม่มิดส่วนปลายท้อง ตัวผู้และตัวเมียมีความแตกต่างกัน โดยที่ตัวผู้จะมีขนมองเห็นได้ชัดเจน และมีลักษณะเป็นแนวบริเวณส่วนกลางตามความยาวของงวง
ทั้งนี้ รูปแบบการเลี้ยงด้วงสาคูในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ การเลี้ยงด้วงสาคูแบบดั้งเดิม โดยใช้ท่อนสาคู/ท่อนลาน เป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ และการเลี้ยงด้วงสาคูแบบประยุกต์ โดยใช้การเลี้ยงในกะละมัง
เลี้ยงด้วงสาคูแบบดั้งเดิม
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดชุมพร (ผึ้ง) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงด้วงสาคูแบบดั้งเดิม ว่า วิธีการนี้จะต้องมีอุปกรณ์การเลี้ยงที่สำคัญ ประกอบด้วย
– ท่อนสาคู หรือท่อนลาน ความยาวท่อนละ 50 เซนติเมตร
– พ่อ-แม่พันธุ์ด้วงสาคู ตัวผู้ 2 ตัว ตัวเมีย 4 ตัว
– ฝักบัว หรือสายยางสำหรับรดน้ำ
สถานที่สำหรับวางท่อนสาคู หรือท่อนลาน อาจเป็นลานกว้างหรือทำเป็นโรงเรือนก็ได้
การจัดการเลี้ยงด้วงสาคูแบบดั้งเดิม สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับการเลี้ยงด้วงสาคูคือ ความสะอาดและการจัดการอย่างเป็นระบบ จึงประสบความสำเร็จ โดย
– สถานที่ ควรเป็นที่น้ำไม่ท่วมขัง บริเวณที่เลี้ยงสามารถวางตากแดด ตากฝนได้ แต่ต้องมีกระดานทำจากกาบต้นไม้ที่เลี้ยงครอบปิด
– เตรียมท่อนสาคู หรือท่อนลาน ใช้เป็นท่อนเลี้ยงด้วงสาคู ตั้งตรงเรียงไว้บริเวณที่จะเลี้ยง มีความห่างพอเหมาะแก่การดูแล
– นำพ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคูที่เลี้ยงได้ปล่อยลงในท่อนสาคู หรือท่อนลาน จำนวนท่อนละ 3 คู่ อัตราตัวผู้ 2 ตัว ตัวเมีย 4 ตัว จากนั้นปิดด้านบนของท่อนสาคู หรือท่อนลาน
– รดน้ำด้วยฝักบัว หรือสายยางรดน้ำ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 40-45 วัน จะสามารถจับตัวหนอนด้วงสาคูออกจำหน่ายได้
เลี้ยงด้วงสาคูแบบประยุกต์ในกะละมัง
การเลี้ยงด้วงสาคูแบบประยุกต์ โดยใช้การเลี้ยงในกะละมัง ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดชุมพร (ผึ้ง) แนะนำนว่า อุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงประกอบด้วย
- กะละมัง พร้อมฝาปิด
- กิ่งทางปาล์มสด
- เครื่องบดสับทางปาล์ม
- ถังหมัก
- สูตรอาหารเสริม
- พ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคู
- อุปกรณ์อื่นๆ
ส่วนขั้นตอนการจัดการเลี้ยงด้วงสาคู มีขั้นตอนดังนี้
นำกิ่งทางปาล์มสดปลอดเปลือกและเข้าเครื่องสับบด
นำกิ่งทางปาล์มสดสับละเอียดแล้วนำมาหมักในถังหมัก ไม่น้อยกว่า 3 วัน
นำกิ่งทางปาล์มสดสับที่หมักแล้ว ผสมกับสูตรอาหารเสริมพอประมาณ คลุกเคล้าให้เข้ากัน บรรจุใส่กะละมังอัดให้แน่นพอประมาณ
ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคู 5 คู่ อัตรา ตัวผู้ 5 ตัว ตัวเมีย 5 ตัว
หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคูแล้ว ทิ้งไว้ 25-30 วัน ก็สามารถจับหนอนด้วงสาคูออกจำหน่ายได้
สำหรับในส่วนของสูตรอาหารเสริมผสมทางปาล์มสด ทางศูนย์ได้ให้ข้อแนะนำในการเตรียมอาหารสำหรับการเลี้ยง ใน 1 กะละมัง โดยจะประกอบด้วย
– EM 1 ช้อนโต๊ะ
– กากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ
– อาหารหมู 0.5 กิโลกรัม
– น้ำ 2 ลิตร
– รำข้าว 0.5 ลิตร
ขั้นตอนการผสมอาหารเลี้ยงด้วงสาคู
เตรียมทางปาล์มสดสับหมัก 1 กะละมัง
เตรียมสูตรอาหารเสริมคือ EM กากน้ำตาล น้ำ อาหารหมู และรำข้าว ตามอัตราส่วนที่กำหนด ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ทั้งนี้อาหารหมู และรำข้าว ต้องแช่น้ำทิ้งไว้ก่อน ประมาณ 20-30 นาที
นำทางปาล์มสดสับหมักตาม ข้อ 1 มาผสมกับสูตรอาหารเสริม ตาม ข้อ 2 คลุกเคล้าให้เข้ากัน
นำส่วนผสมที่ได้ใส่กะละมัง อัดให้แน่นพอประมาณ
ก็จะได้อาหารผสมเลี้ยงด้วงสาคูที่มีประสิทธิภาพ 1 กะละมัง
อีกเทคนิคที่เกษตรกรผู้สนใจต้องรับรู้ นั่นคือ การผลิตพ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคู ซึ่งทางศูนย์ได้ให้ข้อแนะนำถึงขั้นตอนการผลิตพ่อแม่พันธุ์ด้วงสาคูว่า
เตรียมอาหารผสม คือ ทางปาล์มสดสับหมักผสมกับสูตรอาหารเสริม 1 กะละมัง
นำอาหารผสมรองก้นกะละมัง หนาประมาณ 1 นิ้ว
นำเปลือกมะพร้าวปอกแช่น้ำมาวางเรียงในกะละมังและใส่อาหารผสมลงไป ทำอย่างนี้ให้ได้ 2 ชั้น ใน 1 กะละมัง
ปล่อยตัวหนอนด้วงสาคู อายุ 35-40 วัน ใส่ในกะละมังที่เตรียมไว้ ประมาณ 100 ตัว
ปล่อยทิ้งไว้รอให้ตัวหนอนเข้าฝักดักแด้ ประมาณ 20- 30 วัน
เก็บฝักดักแด้ออกมารวมกันอีกกะละมัง เพื่อรอให้ตัวด้วงเจาะออกจากฝักดักแด้ 5-10 วัน
จับตัวด้วงรวบรวมอีกกะละมัง คัดแยกเพศเพื่อรอผสมพันธุ์ก่อนนำไปปล่อยในกะละมังเลี้ยงต่อไป
ทั้งนี้ ระหว่างการรวบรวมตัวด้วง เพื่อรอการผสมพันธุ์ให้กล้วยและน้ำเป็นอาหาร
สำหรับในส่วนของผลตอบแทน ผลผลิตด้วงสาคูที่นิยมนำไปบริโภคเป็นด้วงที่อยู่ในระยะหนอนวัยสุดท้ายก่อนเข้าดักแด้ โดย 1 กิโลกรัม มีประมาณ 200 ตัว จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 200-250 บาท ส่วนดักแด้จำหน่ายกิโลกรัมละ 250-300 บาท
การนำมาบริโภค ก่อนนำมาปรุงอาหารบริโภค ให้นำตัวหนอนด้วงสาคู เลี้ยงในอาหาร กากมะพร้าวขูด 1-2 วัน แล้วนำตัวหนอนมาล้างน้ำและแช่เกลือทิ้งไว้ 10-30 นาที เพื่อล้างสิ่งสกปรกทั้งภายในและภายนอกตัวหนอนออก และล้างด้วยน้ำปูนใสอีกครั้ง
จากนั้นจึงนำมาลวกน้ำร้อนก่อนนำไปผัด โดยไม่ต้องใส่น้ำมัน ให้น้ำมันสีดำๆ ในตัวหนอนด้วงออกให้หมด จนกว่าน้ำมันจากตัวหนอนด้วงเป็นสีใส แล้วนำไปล้างน้ำอีกครั้ง จึงค่อยนำไปปรุงอาหารได้ตามใจชอบ เช่น คั่วเกลือ ทอดน้ำมัน ผัดขี้เมา เป็นต้น และถ้าปรุงอาหารเสร็จแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น จะได้ตัวหนอนด้วงที่มีรสชาติดีขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำที่ควรระวังในการเลี้ยงด้วย เนื่องจากแมลงชนิดนี้เป็นศัตรูพืชที่เข้าทำลายต้นปาล์ม มะพร้าว ลาน และสาคู จึงไม่ควรปล่อยให้ตัวเต็มวัยเล็ดลอดสู่ธรรมชาติโดยเด็ดขาด