ค้นหา

ระบบการให้น้ำพืช ตัวช่วยทุ่นแรงเกษตรกร เลือกให้เหมาะกับดินและพืชที่ปลูก

https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_274557
เข้าชม 131 ครั้ง

พืชทุกชนิดมีความต้องการน้ำ โดยน้ำเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งของกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชเป็นตัวละลายธาตุอาหารในดินเพื่อให้รากดูดขึ้นไปสร้าง การเจริญเติบโต และคายน้ำเพื่อระบายความร้อน 

นอกจากนี้ ยังเป็นตัวที่สำคัญในการกำหนดปริมาณและผลผลิตของพืชด้วย ซึ่งพืชแต่ละชนิดมีความต้องการน้ำต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ และอายุของพืชนั้นๆ การให้น้ำน้อยไปทำให้พืชเจริญเติบโตช้า ผลผลิตต่ำ ฯลฯ แต่ถ้ามากไปก็จะทำให้สิ้นเปลืองน้ำและค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้น้ำอย่างเหมาะสมกับความต้องการน้ำของพืชนั้นๆ

ในปัจจุบันเกษตรกรหลายคน หันมานิยมใช้ระบบให้น้ำพืชเพื่อลดภาระงาน และลดความเสี่ยงจากภัยแล้งกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวนผลไม้ สวนผัก และพืชไร่ ซึ่งระบบการให้น้ำแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

การให้น้ำแบบฉีดฝอย เป็นการให้น้ำโดยฉีดน้ำขึ้นไปบนอากาศเหนือต้นพืชกระจายเป็นฝอย
แล้วให้เม็ดน้ำตกลงมาบนพื้นที่เพาะปลูก โดยมีเครื่องสูบน้ำเป็นอุปกรณ์ส่งน้ำผ่านระบบท่อด้วยแรงดันที่สูง เพื่อให้น้ำฉีดเป็นฝอยออกทางหัวปล่อยน้ำ

หัวปล่อยน้ำ เป็นอุปกรณ์ซึ่งทำหน้าที่รับน้ำมาจากท่อย่อยและจ่ายให้กับต้นพืชตามปริมาณที่กำหนด
หัวจ่ายน้ำมีมากมายหลายแบบซึ่งผู้ใช้จะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของพืช

สปริงเกลอร์ เป็นระบบที่ใช้แรงดันตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป และมีอัตราการไหลของหัวปล่อยน้ำตั้งแต่ 250 ลิตรต่อชั่วโมงขึ้นไป เหมาะสำหรับการให้น้ำในบริเวณกว้างครอบคลุมพื้นที่ได้มาก เช่น พืชไร่ และพืชผัก เหมาะกับสภาพแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากเพียงพอ คุณภาพน้ำปานกลาง การดูแลง่าย ปัญหาการอุดตันน้อย จึงไม่ต้องการระบบการกรอง แต่ถ้าคุณภาพน้ำต่ำและมีสิ่งเจือปนมาก ก็จำเป็นต้องมีระบบการกรองแรงดันที่ต้องใช้ในระบบค่อนข้างสูงทำให้การลงทุนด้านเครื่องสูบน้ำและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูงที่สุด

การให้น้ำแบบเฉพาะจุด เป็นการให้น้ำบริเวณรากพืชโดยตรง น้ำจะถูกปล่อยจากหัวปล่อยน้ำสู่ดิน
ให้น้ำซึมไปในดินบริเวณเขตรากพืช ระบบนี้เป็นระบบที่ประหยัดน้ำได้อย่างแท้จริง เนื่องจากจะเกิดการสูญเสียน้ำจากปัจจัยอื่นน้อยมากและแรงดันที่ใช้กับระบบต่ำ ประมาณ 5-20 เมตร ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านต้นกำลังสูบน้ำ

มินิสปริงเกลอร์ เป็นระบบที่ใช้แรงดัน 10-20 เมตร และมีอัตราการไหลของหัวปล่อยน้ำ 20-300 ลิตรต่อชั่วโมง เหมาะสำหรับไม้ผลที่มีระยะปลูกตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป และพืชผัก บังคับทางออกของน้ำให้มีขนาดเล็ก ข้อแตกต่างจากหัวปล่อยน้ำแบบอื่นๆ ที่ค่อนข้างจะเด่น คือมีส่วนที่หมุนได้ที่เรียกว่า ใบหมุน
ซึ่งเป็นตัวทำให้น้ำกระจายออกเป็นวงกว้างได้ดีกว่าสเปรย์ขนาดเล็กแบบอื่น ทำให้มีบริเวณพื้นที่เปียกมาก เหมาะสำหรับพืชที่ปลูกทั้งระยะชิดและระยะห่างใช้ได้ดีกับพืชผักได้ด้วย

ไมโครสเปรย์และเจ็ท การให้น้ำแบบไมโครสเปรย์และเจ็ท เป็นรูปแบบการให้น้ำโดยหัวปล่อยน้ำกระจายน้ำเป็นฝอยหรือเป็นสาย หัวปล่อยน้ำจะไม่มีใบหมุนหรือชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวให้ปริมาณน้ำทีละน้อยเพียงพอแก่การเจริญเติบโตของพืช หัวปล่อยน้ำถูกวางไว้ยังจุดที่เลือกบนท่อน้ำ ส่วนใหญ่จะวางไว้เหนือผิวดินกระจายน้ำลงสู่ดินในบริเวณเขตรากพืชรัศมี 1-3 เมตร ทำให้เกิดเขตเปียกซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของดินและเวลาให้น้ำ เหมาะสำหรับพืชที่ปลูกระยะชิด และต้องการความชื้นสูง ไม้ผลระยะต้นเล็กๆ และในเรือนเพาะชำ

น้ำหยด เหมาะกับสภาพแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำจำกัด คุณภาพน้ำดี รูปล่อยน้ำมีขนาดเล็กมากต้องการระบบการกรองที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดการอุดตัน และอัตราการไหลของหัวปล่อยน้ำ 1-8 ลิตรต่อชั่วโมง ปล่อยน้ำจากหัวปล่อยน้ำสู่ดินโดยตรง แล้วซึมผ่านดินไปในบริเวณเขตรากพืชด้วยแรงดูดซับของดิน เหมาะสำหรับพืชไร่ พืชผัก ที่ปลูกเป็นแถวชิดหรือไม้ผลบางชนิด

หัวน้ำหยด จะถูกติดตั้งไว้ยังจุดที่เลือกบนท่อย่อย ส่วนใหญ่หัวน้ำหยดจะวางไว้บนผิวดินก็ได้หรือสารมารถฝังไว้ในดินระดับตื้นๆ เพื่อป้องกันการเสียหายก็ได้ หัวน้ำหยดจะปล่อยน้ำสู่ดินให้น้ำซึมไปในดิน ระหว่างหัวน้ำหยดด้วยแรงดูดซับซึ่งแรงดูดซับก็คือ การเคลื่อนที่ของน้ำผ่านดินโดยแรงดึงของดิน ซึ่งหัวน้ำหยดก็สามารถแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้

แบบที่ 1 หัวน้ำหยดแบบติดบนท่อ สามารถยึดติดกับท่อย่อยโดยอาศัยเงี่ยงเกาะ ใช้ในโรงเรือน โรงอนุบาลพืช พืชตระกูลส้ม มะนาว ไม้ผลัดใบ ไม้ผลต่างๆ และไม้เถา ดังนั้น น้ำสามารถกระจายออกได้ 4 จุด ทำให้เป็นประโยชน์เมื่อใช้กับดินร่วนหรือดินทราย ซึ่งไม่ค่อยมีการแผ่ขยายของเขตเปียก การติดหัวน้ำหยดบนท่อทำให้ยากต่อการม้วนเก็บจึงนิยมติดตั้งแบบถาวร

แบบที่ 2 หัวน้ำหยดแบบฝังท่อ มีหัวน้ำหยดเป็นส่วนเดียวกับท่อ ไม่ยื่นออกมาภายนอกท่อและสามารถ
ม้วนเก็บหลังการใช้ได้ด้วย มีทั้งชนิดไม่ปรับแรงดันและชนิดปรับแรงดันในตัวได้

แบบที่ 3 หัวน้ำหยดแบบเทปน้ำหยด ประกอบด้วยท่อใหญ่ผนังบาง นำน้ำไหลผ่านต่ออยู่กับท่อเล็กเพื่อจ่ายน้ำมีลักษณะเป็นร่อง หรือบางแบบอาจเป็นรูเล็กๆ และมีหัวน้ำหยดฝังอยู่ภายใน เทปน้ำหยด ปกติใช้กับพืชผลต่างๆ ที่ปลูกเป็นแถว เช่น สับปะรด อ้อย มันสำปะหลังผักต่างๆ และกล้วย ยิ่งขนาดของท่อออกเล็กมากเท่าไหร่การซึมลงดินก็ยิ่งดีมากขึ้น

การเลือกระบบการให้น้ำที่เหมาะสมกับชนิดของพืช

พืชไร่

– ระบบน้ำหยด เหมาะสำหรับการให้น้ำกับพืชไร่ ที่มีการปลูกเป็นแถวชิด เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด สับปะรด ที่มีระยะการปลูกระหว่างแถว 1-2 เมตร สามารถใช้เทปน้ำหยดวางตามแถวปลูกทุกแถว โดยใช้เทปน้ำหยดที่มีอัตรา 2-4 ลิตรต่อชั่วโมง ทุกช่องทางออกระยะ 30-50 เซนติเมตร ลักษณะการติดตั้งสำหรับขนาดพื้นที่กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร

– ระบบสปริงเกลอร์ เหมาะสำหรับพืชไร่ ที่มีระยะปลูกทั้งแถวชิดและห่าง เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด สับปะรด ที่มีระยะการปลูกระหว่างแถว 1-2 เมตร การติดตั้งไม่ต้องวางท่อย่อยทุกแถวพืช แต่ใช้ระยะห่างระหว่างแนว ท่อย่อยและระหว่างหัวตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป

พืชผัก

– ระบบน้ำหยด เหมาะสำหรับพืชผักที่ปลูกเป็นแถวเป็นแนว เช่น ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ที่มีระยะการปลูกระหว่างแถว 0.5-1 เมตร สามารถใช้เทปน้ำหยดวางตามแถวปลูกทุกแถว โดยใช้เทปน้ำหยดที่มีอัตรา 2-4 ลิตรต่อชั่วโมง ทุกช่องทางออกระยะ 30-50 เซนติเมตร

– ระบบมินิสปริงเกลอร์ เหมาะสำหรับพืชผักที่ปลูกเป็นแปลงแบบหว่าน หรือแบบต้นกล้า เช่น ผักกินใบ ผักหวาน การติดตั้งสามารถวางระยะห่างระหว่างแนวท่อย่อย และระหว่างหัวประมาณ 3-4 เมตร เช่น ติดตั้งหัวมินิสปริงเกลอร์อัตราการไหล 60-120 ลิตรต่อชั่วโมง รัศมีกระจายน้ำ 4 เมตร ทุกระยะ 4×4 เมตร

ไม้ผล

– ระบบมินิสปริงเกลอร์ เหมาะสำหรับไม้ผลที่มีระยะปลูกตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป เช่น ระยะปลูก 5×5, 6×6, 8×8 เมตร สามารถวางท่อย่อยตามแถวของไม้ผลทุกแถว และติดตั้งหัวมินิสปริงเกลอร์ต้นละ 1-2 หัว

– ระบบไมโครสเปรย์และเจ็ท เหมาะสำหรับไม้ผลที่มีระยะปลูกไม่เกิน 4 เมตร เช่น ไม้ผลระยะปลูก 4×4 เมตร สามารถวางท่อย่อยตามแถวของไม้ผลทุกแถวและติดตั้งหัวไมโครสเปรย์หรือเจ็ท ต้นละ 1-2 หัว

ระบบการให้น้ำที่ดีจะต้องสนองความต้องการน้ำของพืชได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังต้องเป็นระบบที่เหมาะสมกับปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นความสะดวกของผู้ใช้ระบบด้วย เช่น ชนิดของแหล่งน้ำ ข้อจำกัดของเครื่อง และเวลาการให้น้ำ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์