โครงการเกษตรวิชญา ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พัฒนาศูนย์เรียนรู้ และส่งเสริมอาชีพเกษตรกร โดยส่งเสริมและสนับสนุนการสาธิต พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผัก รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาให้เป็นเกษตรกรต้นแบบ และเป็นชุมชนต้นแบบ ที่มีการทำการเกษตรปลอดภัย
นางอำไพวรรณ พัฒนาศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา กล่าวว่า สำหรับโครงการเกษตรวิชญา ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ 1,350 ไร่ ในการบริหารจัดการพื้นที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกเป็นพื้นที่ป่าไม้ ส่วนที่ 2 พื้นที่ธนาคารอาหารชุมชน ส่วนที่ 3 พื้นที่ศูนย์สาธิตเรียนรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง ส่วนที่ 4 พื้นที่จัดสรรให้เกษตรกรทำกิน ซึ่งบริเวณนี้มีพื้นที่ 95 ไร่ ที่โครงการเกษตรวิชญามีการจัดสรรให้เกษตรกร สมาชิกในโครงการเกษตรวิชญา จำนวน 58 ราย รายละ 1 ไร่ เพื่อเกษตรกรใช้ในการเพาะปลูกพืช และพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างรายได้สูงสุด พร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นภายในปีนี้ 2567 โครงการเกษตรวิชญามีแผนปฏิบัติงาน พัฒนาเกษตรกรสมาชิกในโครงการ 58 ราย ให้เป็นเกษตรกรต้นแบบ ในการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูงอย่างมีประโยชน์สูงสุด รวมทั้งได้รับองค์ความรู้อย่างเหมาะสมในการทำการเกษตร เรื่องปราชญ์ด้านดิน น้ำ พืช วิธีการจัดการการผลิต รวมถึงการรวมกลุ่มและตลาด ในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากโครงการเกษตรวิชญา เป็นในเรื่องของปราชญ์แห่งการเกษตร ซึ่งมีการบูรณาการองค์ความรู้กับหน่วยงานทั้งหมด 16 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาเกษตรกร
สำหรับการพัฒนาที่ดิน ถือเป็นงานพื้นฐาน ในการทำการเกษตร ต้องมีการพัฒนาคุณภาพที่ดิน ส่งเสริมองค์ความรู้ ด้านการดูสภาพดินในพื้นที่ ตรวจสอบสมบัติดิน การวิเคราะห์ดินเบื้องต้น เพื่อให้เกษตรกรได้รู้ถึงสุขภาพดิน ทางกรมพัฒนาที่ดิน จึงมีการแนะนำใช้ปุ๋ยในการจัดการดินให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนปัจจัยที่จะพัฒนาคุณภาพดิน ได้แก่ ปุ๋ยพืชสด โดโลไมท์ เพื่อแก้ไขปรับปรุงสำหรับดินกรด และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน ตั้งแต่สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ไปจนถึง สารเร่งซุปเปอร์ พด.15 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งปัจจุบันโครงการเกษตรวิชญา มีข้อมูลด้านดิน ที่ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสม พร้อมต่อการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 ได้มีการเข้ามาส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรดิน และโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาความสามารถของเกษตรกรเครือข่าย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างและพัฒนาองค์กร ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ สู่ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ดิน