ปัญหาโรคกุ้ง ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การเลี้ยงกุ้งไม่ประสบความสําเร็จ และส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีต้นทุนการเลี้ยงสูงกว่าประเทศคู่แข่ง จนไม่สามารถแข่งขันได้ และเป็นผลให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
สถานการณ์กุ้งตลาดโลกตกต่ำ … กระหน่ำกุ้งไทยไม่สดใส สถานการณ์กุ้งโลกปี 2567 นี้ เอฟไอเอส ( Fish Information & Services : FIS) รายงานว่า ผลผลิตกุ้งทั่วโลกในครึ่งแรกปี 2567 ลดลง สวนทางกับความต้องการบริโภคยังมีสูง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ประเทศผู้ผลิตกุ้งต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวเชิงรุกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การป้องกันโรค และการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ ขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาโรคระบาดมามากกว่า 10 ปี นับแต่ปลายปี 2553 เป็นต้นมา และโรค EMS ในปี 2554 สร้างความเสียหายกับอุตสาหกรรมกุ้งทั่วโลก รวมถึงกุ้งไทยที่มีปริมาณผลผลิตลดลงเช่นเดียวกัน
ปี 2567 ผลผลิตกุ้งทั่วโลกไม่สดใส ปีนี้ประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ของโลก ต่างก็ต้องปรับตัว เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรม มีเพียง อินเดีย ที่มีความก้าวหน้าเชิงบวก คาดว่า จะเพิ่มผลผลิตได้ร้อยละ 10 และมีต้นทุนการผลิตต่ำ เนื่องจากมีรูปแบบการเลี้ยงที่มีความหนาแน่นต่ำ
เอกวาดอร์ แม้คาดว่าผลผลิตจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่เอกวาดอร์ยังรักษาความเป็นผู้นำในการผลิตกุ้ง ซึ่งฟาร์มขนาดเล็กเผชิญกับความยากลำบาก เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ฟาร์มขนาดกลาง มีแนวโน้มจะควบรวมกิจการกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โรคยังเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมกุ้ง ซึ่งจะต้องมีมาตรการการจัดการและการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
เวียดนาม ยังเผชิญกับอุปสรรคหลายปัจจัย อาทิ บ่อเลี้ยงที่ไม่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และโรคในกุ้ง อาทิ โรคโปร่งใส (TPD) ซึ่งคาดว่าจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เกิดแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมกุ้งในประเทศ จำเป็นต้องมีวิธีแก้ปัญหาขั้นพื้นฐาน อย่างเช่นการปรับปรุงบ่อ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ และการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
อินโดนีเซีย การผลิตกุ้งค่อนข้างซบเซา เนื่องจากมีปัญหาทั้งเรื่องโรคและการปรับปรุงเทคนิคการเลี้ยง โดยเฉพาะการป้องกันโรค ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมกุ้งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
กุ้งไทยประสบปัญหาโรคกุ้ง “กุ้งไทย” เคยเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมกุ้งไทย เคยเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ จากผู้ส่งออกเบอร์ 1 ได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศ ว่าเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสูง โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศกว่าร้อยละ 90 และมีผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมประมาณ 2,000,000 คน โดยปี 2553 ไทยมีผลผลิตกุ้งสูงสุดถึง 6.4 แสนตัน ด้วยมูลค่ารวม 100,000 ล้านบาท ปัจจุบัน กลับมีผลผลิตเพียงกว่า 2.0 แสนตัน
สาเหตุสำคัญจากการที่กุ้งไทยประสบกับปัญหาโรคระบาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยโรคที่พบบ่อยในไทย คือ โรคขี้ขาว (Enterocytozoon hepatopenaei : EHP) โรคตายด่วน (Early mortality syndrome : EMS) และโรคตัวแดงดวงขาว (White Spot Disease : WSD) โดยโรคขี้ขาว เริ่มพบในปี 2553 เป็นโรคที่เกิดในบ่อที่ปล่อยกุ้งเลี้ยงค่อนข้างหนาแน่น เปลี่ยนถ่ายน้ำน้อย ทำให้ระบบทางเดินอาหาร (EHP) เซลล์ตับ ตับอ่อน และลำไส้ของกุ้งเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้ประสิทธิภาพการดูดซึมอาหารลดต่ำลง กระทบผลผลิตเหลือกุ้งรอดเพียง 20-30% และในปี 2553 ยังเกิดการระบาดของโรคตัวแดงดวงขาว (WSD) ที่กลายเป็นโรคประจำถิ่นพบการระบาดในฤดูหนาวและช่วงการเปลี่ยนเข้าช่วงฤดูแล้ง ทำให้อัตราเลี้ยงรอดต่ำ ต่อมาช่วงปลายปี 2554 เกิดโรคตายด่วน (EMS) เป็นกลุ่มอาการตับและตับอ่อนตายเฉียบพลัน (AHPNS) ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งไทยลดลงไปมากกว่า 40%
ผลผลิตกุ้งไม่กระเตื้อง ปัญหาโรคกุ้งดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้รับการยืนยันจาก นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย ก่อนหน้านี้ว่า เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง ซึ่งสถานการณ์ผลผลิตกุ้งของไทยในปี 2567 นี้ คาดว่าจะมีปริมาณใกล้เคียง 3 แสนตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่ต่างจากปี 2566 ที่ผ่านมา ที่มีปริมาณที่ 2.8 แสนตัน เป็นผลจากราคากุ้งตกต่ำ สวนทางต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ยังมีปัญหาโรคและสภาพอากาศแปรปรวน ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการลดต้นทุนให้ได้ ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝง ที่เกิดจากความเสียหายจากโรค การเพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงสร้างตลาดภายในให้เข้มแข็ง รวมถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อกระจายสินค้าที่สามารถคงคุณภาพความสดของกุ้งไทยไปถึงผู้บริโภค
ปริมาณผลผลิตที่ลดลงนี้ มีสาเหตุหลักจากปัญหาโรคกุ้งที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด รวมถึงปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ขณะที่ ต้นทุนการผลิต วัตถุดิบต่างๆ และราคาพลังงานสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้ผู้เลี้ยงบางรายต้องชะลอการลงกุ้ง
ทั้งนี้ ผลผลิตกุ้งไทยมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเกิดโรคระบาดดังกล่าวข้างต้น จากที่มีปริมาณผลผลิตมากถึง 6.4 แสนตัน ในปี 2553 ลดลงเหลือ 6.0 แสนตัน ในปี 2554 และ 5.4 แสนตัน ในปี 2555 และด้วยผลกระทบของการระบาดของโรค โดยเฉพาะ EMS ทั้งภาวะโรคเข้าทำลายกุ้งโดยตรง และการชะลอการเลี้ยงจนถึงเลิกเลี้ยงกุ้งจากความไม่มั่นใจของเกษตรกรผู้เลี้ยง ทำให้ผลผลิตกุ้งของไทยลดไปกว่าครึ่งเหลือเพียง 2.5 แสนตัน ในปี 2556 จนกระทั่งปี 2558 ปริมาณผลผลิตจึงเริ่มกระเตื้องขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา สมาคมกุ้งไทย สมาชิก และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างใช้ความพยายามอย่างหนักในการแก้ปัญหามาโดยตลอด
เลี้ยงน้อยส่งออกน้อย ประเทศไทยเคยเป็นผู้ส่งออกกุ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่หลังเกิดการระบาดของ EMS ส่งผลให้ประเทศคู่แข่งอย่าง เอกวาดอร์ อินเดีย และเวียดนาม ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่สำคัญ ทั้งนี้ ผลผลิตกุ้งไทยลดลงตามการชะลอการลงกุ้งของเกษตรกร สะท้อนให้เห็นได้จากที่ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ให้ข้อมูลเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า การส่งออกกุ้งเดือนมกราคม-มิถุนายน 2567 ไทยส่งออกกุ้ง ปริมาณ 61,926 ตัน คิดเป็นมูลค่า 20,005 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าลดลง 0.37% และ 7.95 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สรุปได้ว่า ปัญหาโรคกุ้ง ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การเลี้ยงกุ้งไม่ประสบความสําเร็จ และส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีต้นทุนการเลี้ยงสูงกว่าประเทศคู่แข่ง จนไม่สามารถแข่งขันได้ และเป็นผลให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน