ค้นหา

ประธานศูนย์ข้าวชุมชน จ.พระนครศรีอยุธยา แนะวิธีป้องกัน “แมลงหวี่ขาวข้าว” ด้วยสารชีวภัณฑ์

ณฎล สว่างญาติ,ศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา,เว็บไซต์ เทคโนโลยีชาวบ้าน ดอทคอม
เข้าชม 237 ครั้ง

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการปลูกข้าวเป็นพืชหลักในการเกษตร แมลงหวี่ขาวข้าว (Rice Whitefly) เป็นหนึ่งในศัตรูพืชที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตข้าวอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทยที่มีการปลูกข้าวมากที่สุด

ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 พบรายงานการระบาดของแมลงหวี่ขาวข้าวในนาข้าวเป็นครั้งแรกในพื้นที่นาชลประทานภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสุพรรณบุรี โดยพบในข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1, กข87, กข41 และพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับรองจากกรมการข้าว (5451) ซึ่งแมลงหวี่ขาวข้าวนั้นมีวงจรชีวิตที่สั้นและแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ทำให้การระบาดของนั้นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและยากที่จะควบคุม เกษตรกรจะรับมืออย่างไร?

คุณณฎล สว่างญาติ

คุณณฎล สว่างญาติ หรือ ก้อง ประธานศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เผยว่า โดยปกติแล้วการทำเกษตรที่ไม่ใช่เกษตรอินทรีย์ 100% การป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชนั้นจะใช้ทั้งสารชีวภัณฑ์และสารเคมีร่วมกัน ซึ่งหากเราเน้นที่กระบวนการ “ป้องกัน” มีการใช้สารชีวภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ต้น จะช่วยให้ลดปัญหาศัตรูพืชได้ในระดับหนึ่งและลดปริมาณการใช้สารเคมีได้มาก แต่โดยมากเกษตรกรไม่ค่อยนิยมใช้ เนื่องจากไปเน้นที่กระบวน “กำจัด” มากกว่า คือมีความเชื่อว่า พอโรคหรือแมลงลงก็ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ในกรณีแมลงหวี่ขาวข้าว ปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีที่ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายในการกำจัดได้ แต่คุณณฎลมีคำแนะนำถึงวิธีป้องกันด้วยสารชีวภัณฑ์ พร้อมทั้งแนวทางการกำจัดตามแนวทางของกรมวิชการเกษตรเบื้องต้นมาฝากกัน

“แมลงหวี่ขาวข้าว”
ลักษณะเป็นอย่างไร?
แมลงหวี่ขาวข้าวเป็นแมลงขนาดเล็กที่มีความยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ลำตัวสีขาว ปีกสีขาวและใส มีวงจรชีวิตประมาณ 17-24 วัน โดยเริ่มจากไข่ กลายเป็นตัวอ่อน และตัวเต็มวัย

ตัวอ่อนของแมลงหวี่ขาวข้าวเข้าทําลายต้นข้าว จะสังเกตเห็นตัวอ่อนเกาะอยู่ใต้ใบเป็นจุดเล็กๆ มองเห็นได้ยากด้วยตาเปล่า เมื่อนําใบข้าวมาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอจะเห็นตัวอ่อนเป็นวงรีมีจุดสีเหลืองอ่อนชัดเจน ส่วนตัวเต็มวัยที่มีขนาดเล็กจะเกาะอยู่บริเวณใบข้าว และมีความว่องไวมาก หากสัมผัสบริเวณต้นข้าวจะพบแมลงหวี่ขาวข้าวบินไปมาเป็นจํานวนมาก

แมลงหวี่ขาวข้าวโตเต็มวัย

ช่วงเวลา-จุดสังเกต
ข้าวที่ถูก “แมลงหวี่ขาวข้าว” ทำลายเป็นอย่างไร?
อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับแมลงหวี่ขาวข้าว คือ 30 องศาเซลเซียส โดยมากจึงมักระบาดสร้างความเสียหายได้มากในฤดูแล้งที่มีสภาพอากาศร้อนคือช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และมักพบแมลงหวี่ขาวข้าวในข้าวระยะกล้า (อายุ 20 วันขึ้นไป) ระยะแตกกอ และระยะตั้งท้อง เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวมีสภาพอากาศร้อนชื้นมีอุณหภูมิอากาศเฉลี่ย 25-36 องศาเซลเซียส

ส่วนลักษณะการเข้าทำลายของแมลงหวี่ขาวตัวเต็มวัย จะเข้าทำลายต้นข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าว ความเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในระยะข้าวแตกกอ ร่องรอยทำลายช่วงแรกเป็นวงสีเหลืองขนาดเล็ก เมื่อแมลงหวี่ขาวเพิ่มขึ้นจะทำให้ใบข้าวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผิวใบขรุขระ ใบบิดเบี้ยว และทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโต หากทำลายในระยะข้าวออกดอก จะทำให้ช่อดอกและเมล็ดข้าวเหี่ยวเฉาได้

ลักษณะข้าวที่ถูกแมลงหวี่ขาวในข้าวเข้าทำลาย

ใช้ “สารชีวภัณฑ์” ให้ธรรมชาติป้องกัน
ลดต้นทุน ลดปริมาณการใช้สารเคมี
สารชีวภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ เช่น จุลินทรีย์ รา และสารสกัดจากพืช ซึ่งสามารถย่อยสลายได้เองในธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ในดินและน้ำ เช่น จุลินทรีย์ดีและแมลงที่เป็นศัตรูธรรมชาติของศัตรูพืชอื่นๆ

โดยปกติแล้ว คุณณฎลจะใช้สารชีวภัณฑ์อย่าง “เมธาไรเซียม” หรือเชื้อราเขียว (Metarhizium anisopliae) และ “บิวเวอเรีย” (Beauveria bassiana) ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเชื้อราที่เป็นปรสิตของแมลงหลายชนิด มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมแมลงศัตรูพืชหลายชนิดในนาข้าว เช่น แมลงหวี่ขาวข้าว, เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และแมลงบั่ว โดยเชื้อราจะเจริญเติบโตบนตัวแมลงและผลิตสารพิษที่ทำให้แมลงตาย

คุณณฎล เผยว่า ตนเองจะใช้ “เมธาไรเซียม” และ “บิวเวอเรีย” ซึ่งมีราคาต้นทุนประมาณถุงละ 150 บาท (ประมาณ 500 กรัม) สามารถผสมใช้ได้ในนาประมาณ 5 ไร่ เท่ากับว่าตกต้นทุนไร่ละประมาณ 30 บาทเท่านั้น โดยจะใช้ความถี่ประมาณเดือนละครั้ง หรือผสมไปกับน้ำทุกครั้งที่มีการปล่อยน้ำเข้านา เริ่มตั้งแต่หลังจากปลูกข้าวได้ประมาณ 7-10 วัน ก็จะเริ่มใช้ทันที

ซึ่งข้อดีของการใช้สารชีวภัณฑ์คือ มีระยะการควบคุมได้นานกว่าสารเคมี หากเราใช้สารเคมีเพื่อการป้องกันศัตรูพืชจะมีวงรอบฉีดพ่นอยู่ที่ 7-14 วัน ทำให้มีต้นทุนที่สูงมาก แต่หากเป็นสารชีวภัณฑ์จะสามารถป้องกันได้นานกว่า

“ในการทำนาของผมนั้นจะใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันตลอด เพราะว่าต้นทุนต่างกับสารเคมีเยอะเลย แต่ที่ชาวบ้านไม่ค่อยใช้เพราะว่าสารชีวภัณฑ์นั้น ไม่ได้ทำให้แมลงตายร่วงให้เห็นเลยเหมือนกับสารเคมี พอใส่เข้าไปแล้วเหมือนไม่เห็นผล เพราะว่าเราตอบไม่ได้ว่ามีแมลงหรือไม่มี เพราะมันคือการป้องกัน แต่ว่าหากมีแมลงเข้ามาไม่มาก ก็สารชีวภัณฑ์นั้นช่วยได้แน่นอน อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมีได้ แต่หากเกิดการระบาดแล้ว ถึงใช้สารชีวภัณฑ์ก็มักไม่ทันการณ์ กลายเป็นความรู้สึกว่าการใช้สารชีวภัณฑ์ไม่มีประโยชน์” คุณณฎล กล่าว

คุณณฎล แนะนำการใช้ “เชื้อราบิวเวอเรีย” จุลินทรีย์ที่สามารถก่อโรคกับแมลงศัตรูพืชหลายชนิด

สารเคมีสำหรับ “แมลงหวี่ขาวข้าว”
ใช้อย่างถูกต้อง และเท่าที่จำเป็น
แม้ว่าปัจจุบันนั้นยังไม่มีสารเคมีสำหรับกำจัดแมลงหวี่ขาวในนาข้าวโดยเฉพาะ แต่สามารถใช้สารกำจัดแมลงปากดูดเทียบเคียงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรได้ คือสารในกลุ่มไดโนทีฟูแรน, อิมิดาโคลพริด, ไพมีโทรซีน และซัลฟอกซาฟลอร์

โดยในการกำจัดแมลงแต่ละครั้ง ควรฉีดพ่นสารชนิดเดียว หรืออาจผสมกับสารจับใบด้วยก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้ผสมสารอื่นร่วมด้วย เช่น ปุ๋ย สารกำจัดโรคพืชอื่นๆ เนื่องจากอาจทำให้สารกำจัดแมลงหวี่ขาวมีประสิทธิภาพลดลง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เรากำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิปรับตัวสูงขึ้น แมลงหลายชนิดจึงปรับพฤติกรรม และหาแหล่งอาหารใหม่ส่งผลให้เกิดการระบาดของแมลงได้ง่ายมากขึ้น การ “อนุรักษ์ศัตรูธรรรมชาติ” เช่น ตัวเบียน ตัวห้ำ มวนเขียวดูดไข่ ฯลฯ ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น

ดังนั้น คุณณฎล เน้นว่า เกษตรกรควรใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และควรอ่านฉลากอัตราส่วนการใช้อย่างเคร่งครัด โดยให้ใช้ไต่ระดับจากยาฤทธิ์อ่อนไปสู่ยาแรง การใช้สารเคมีในปริมาณมากๆ นั้นไม่ได้ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่อย่างใด แต่กลับมีส่วนช่วยให้แมลงหวี่ขาวข้าวนั้นดื้อยามากขึ้น

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_288192