ค้นหา

ศมข.ชลบุรี มุ่งพัฒนาผลิตข้าวรักษ์โลกบ้านหนองคาย ลดต้นทุนการผลิตผ่านหลัก BCG Model

ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี (ศมข.ชลบุรี)
เข้าชม 98 ครั้ง

เกษตรกรในพื้นที่บ้านหนองคาย ตำบลไทรเดี่ยว อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว แต่เดิมมีการใช้สารเคมี ในการทำไร่ ทำนา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าและปุ๋ยเคมี ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกรในชุมชนและเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมในชุมชน เกษตรกรในชุมชนจึงได้มีการรวมกลุ่มกันและได้ร่วมกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี เพื่อจัดตั้ง ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองคาย เมื่อปี 2558 และในปี 2566 ได้มีการนำหลัก BCG Model มาเป็นหลักในการพัฒนาและเป็นต้นแบบ ในการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำนารูปแบบใหม่เป็นข้าวรักษ์โลก เพื่อสร้างคุณภาพให้กับข้าวของชาวนาให้ปราศจากสารเคมีเจือปน มีการปรับใช้ปุ๋ยเป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ซึ่งจะทำให้ข้าวมีคุณภาพดีและปลอดภัยในการนำไปบริโภค

โดยนายจิรกิตติ์ ถนอมธรรม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรี (ศมข.ชลบุรี) เปิดเผยว่า หากการทำนาโดยที่ไม่มีหลัก BCG Model เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะเป็นการทำนาในรูปแบบเดิมๆ คือเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน ไถดินตามปกติทั่วไป เพื่อเอาน้ำเข้าไปขังในนาข้าว ซึ่งการขังน้ำในนาจะทำให้เกิดสภาวะไม่มีอากาศ พอไม่มีอากาศจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่อยู่ในดินก็จะผลิตก๊าซมีเทนออกมา ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นก๊าซที่จะก่อให้เกิดปัญหาก๊าซเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากเรามีการนำเรื่องของ BCG Model มาส่งเสริมให้เกษตรกร โดยเน้นในเรื่องของการใช้สารชีวภัณฑ์ นำวัสดุต่าง ๆ ที่อยู่ในแปลงนามาทำให้เกิดกระบวนการที่ลดมลภาวะให้ได้มากที่สุด อย่างเช่นในพื้นที่ไหนที่มีระบบชลประทาน เราก็จะสนับสนุนให้ใช้ในเรื่องของการทำนาเปียกสลับแห้ง และมีการส่งเสริมในเรื่องการใช้จุลินทรีย์ต่าง ๆ เพื่อย่อยสลายไม่ว่าจะเป็น ตอซังข้าว ฟางข้าวที่อยู่ในนา ซึ่งในห้วงเวลาที่ผ่านมามันมีปัญหาในเรื่องของ PM 2.5

ซึ่งปัญหาตรงนี้ เกิดจากการที่เกษตรกรเผาฟาง เพื่อกำจัดฟางในนาข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชลบุรีได้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องของเงินทุนและมีเงื่อนไขให้ชุมชนคือการไปจดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และการไปจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเพื่อให้เป็นรูปแบบกลุ่มที่รัฐบาลสามารถสนับสนุนได้ หลังจากนั้นทางกรมข้าวจะมีการจัดประชุมเพื่อชี้แจงให้เกษตรกรเข้าใจถึงหลักการ BCG Model มากยิ่งขึ้นและเน้นให้เกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์ แทนการใช้ สารเคมี ส่งเสริมในเรื่องของปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์เข้ามาในกระบวนการผลิต เพื่อให้พืชได้ธาตุอาหารครบและเจริญเติบโตได้ดีกว่าการใช้เคมีเพียงอย่างเดียว

BCG Model ถือเป็นหลักการที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรในชุมชนบ้านหนองคายและภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก ซึ่งผลลัพธ์ในการทำนา ฤดูนาปี 2567/68 ของ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหนองคาย นั้น เริ่มเห็นความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาในปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของความสมบูรณ์ของต้นข้าวในแปลงนา กระบวนการผลิตและแปรสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว และการแปรรูปผลผลิต ที่มีศักยภาพมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะกระบวนการผลิตและแปรสภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการรวมกลุ่มกันเป็นศูนย์ข้าวชุมชนเลยทีเดียวและที่สำคัญการปลูกข้าว ด้วยหลักการ BCG Model ช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของการลดสภาวะโลกร้อน เพิ่มการสร้างคาร์บอนเครดิตและยังสามารถช่วยให้เกษตรกรนำไปขายเพื่อสร้างเป็นรายได้เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตนเองและครอบครัวต่อไปในอนาคต

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/566656