ค้นหา

โชว์โมเดลการพัฒนาชุมชนตำบลสะเนียน จากไร่ข้าวโพด สู่แปลงปลูกไม้ผล คืนผืนป่า สร้างพื้นที่สีเขียว

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส
เข้าชม 57 ครั้ง

โมเดลการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสะเนียน มีประชากร จำนวน 3,387 ครัวเรือน ซึ่งพบว่าในปี พ.ศ. 2566 เกษตรกรในพื้นที่ได้ทำการปลูกไม้ผลเพิ่มขึ้นเป็น 6,860 ไร่ จดทะเบียนไม้ผลแปลงใหญ่ ในพื้นที่รวม 1,745 ไร่ มีเกษตรกรที่หันมาปรับระบบทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีก 1,037 ราย หรือคิดเป็น 79% มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนละ 230,000 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากเดิม รายได้ที่เพิ่มขึ้นมา มาจากการส่งเสริมไม้ผลคิดเป็น 83% ของรายได้ ขณะที่ชุมชนเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำของชุมชน

รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ป่าอุดมสมบูรณ์ สร้างแหล่งอาหารธรรมชาติที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชน ทำให้ปัญหาความยากจนในพื้นที่ลดลง ต่อเนื่องไปถึงประชากรวัยแรงงาน ได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เป็นเชิงลบต่ออาชีพภาคเกษตร เป็นการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้กลับมาทำอาชีพเกษตรในพื้นที่ ปัจจุบันนับว่า ชุมชนตำบลสะเนียนสามารถอยู่ร่วมกับป่า องค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่  

นายสุนทร มีพอ นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. กล่าวว่า ในฐานะที่ สวพส. เป็นหน่วยงานหลักที่มีภารกิจพัฒนาพื้นที่สูง จึงต้องออกแบบกระบวนการพัฒนาโดยใช้การพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Base) อย่างสมดุลและครบวงจร ซึ่งตำบลสะเนียนมีความเหมาะสมในการปลูกไม้ผล จากสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและมีโอกาสทางการตลาดสูง เนื่องจากฤดูกาลไม้ผลทางภาคเหนือออกช้ากว่าทางภาคอื่นของประเทศ จึงมีการวางแผนการผลิตและช่องทางการตลาดไม้ผลชนิดต่างๆ ร่วมกับชุมชน พร้อมทั้งนำองค์ความรู้โครงการหลวงมาปรับใช้ ทั้งด้านการพัฒนาทักษะและให้ประสบการณ์กับเกษตรกร โดยศึกษาดูงานแหล่งปลูกไม้ผลในพื้นที่โครงการหลวง และนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ และประสานงานกับหน่วยงานร่วมบูรณาการ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ และพาณิชย์จังหวัด ร่วมจัดทำแผนการตลาด และประสานให้พ่อค้ามารับซื้อผลผลิตถึงพื้นที่ โดยที่เกษตรกรไม่ต้องนำผลผลิตออกไปขายเอง

ทั้งนี้ กลยุทธ์สำคัญคือ การทำงานด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area based Development) ซึ่งเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผ่านการใช้ประโยชน์ข้อมูลจากแพลตฟอร์มดิจิทัลในระบบต่างๆ ร่วมกัน ตั้งแต่เริ่มต้นการวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการและปัญหาของชุมชน ร่วมกันวางแผนพัฒนา การปฏิบัติงาน การติดตามและประเมินผลจนจบกระบวนการ (Cross–boundary Management) โดยมีกลไกการ ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานในรูปแบบคณะทำงานระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น เพื่อบูรณาการหน่วยงานทั้งในด้านงบประมาณ บุคลากร องค์ความรู้ ตามภารกิจของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการทำงานตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ในการขับเคลื่อนและพัฒนาตำบลสะเนียน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาทิ สถานีพัฒนาที่ดินน่าน สนับสนุนการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำโดยการขุดขั้นบันได คันคูรับน้ำ ทำระบบฝายชะลอน้ำ การเก็บตัวอย่างดินนำไปวิเคราะห์หาธาตุอาหาร การทำปุ๋ยหมัก, กรมทรัพยากรน้ำ ภาค 9 จังหวัดพิษณุโลก สนับสนุนการทำระบบน้ำโซลาร์เซลล์ สูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติสู่ถังเก็บน้ำบนพื้นที่สูง, ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดน่านให้การอบรมความรู้การปลูกไม้ผล การดูแลบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว, ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรจังหวัดน่าน สนับสนุนการตรวจรับรองแปลงปลูกไม้ผลแปลงใหญ่ส้มเขียวหวานและแปลงใหญ่เงาะ และอบรมให้ความรู้ การปลูกพืชตามมาตรฐาน GAP ให้แก่เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ ให้ได้รับการรับรอง GAP ทุกราย, สำนักงานเกษตรอำเภอ/สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ จัดทำทะเบียนสมาชิก สนับสนุนปัจจัยการผลิตและรวบรวบข้อมูลด้านการเกษตรของจังหวัด รวมทั้งดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรภาพรวมของจังหวัด

นายมนต์ชัย ลีไพรัช เกษตรกรผู้นำในพื้นที่ตำบลสะเนียน กล่าวว่า ปัจจุบันความเป็นอยู่ของคนในตำบลสะเนียน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นมาก หากเปรียบเทียบกับสมัยก่อน ที่มีแต่ไร่ข้าวโพดทั้งภูเขา และเกิดภูเขาหัวโล้น กระทั่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและ สวพส. รับพื้นที่สะเนียนไว้ในการพัฒนา ส่งเสริมการปลูกพืชไม้ผลแทนการปลูกข้าวโพด โดยเกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกไม้ผล อาทิ เงาะ ทุเรียน ส้ม เป็นต้น ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จะเห็นว่าจากเดิมครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 40,000–50,000 บาทต่อปี อย่างปัจจุบันผมมีรายได้ 100,000–300,000 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว 

เมื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกในชุมชนดีขึ้น ทำให้ความคิดของคนในชุมชนเปลี่ยนไปจากเดิม จากผู้รุกรานทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้เพื่อสร้างรายได้ กลับหันมาเป็นผู้ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม มีการปลูกป่าเพิ่ม เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน ซึ่งทำให้หลักการ “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้  ของทางการเป็นจริงขึ้นมา ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ดีขึ้นด้วย

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_292623?utm_source=izooto&utm_medium=on_site_interactions&utm_campaign=Exit_Intent_Recommendations