ค้นหา

พิษเอลนีโญแตะมือลานีญา…ทำลายล้างภาคเกษตรไทย กดจีดีพีร่วง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เข้าชม 51 ครั้ง

ตลอดปี 2567 ภาคเกษตรไทยเผชิญทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งในช่วงครึ่งปีแรก และปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งปีหลังที่ทำให้เกิดอุทกภัย

ผลกระทบจาก 2 ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังสะท้อนตัวเลขรายได้เกษตรกรไทยให้ลดลงไปด้วย

⦁จีดีพีเกษตรหดผลแล้งซ้ำท่วม
โดย ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2567 (กรกฎาคม-กันยายน 2567) หดตัว 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดความแห้งแล้งในช่วงครึ่งปีแรก และปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงครึ่งปีหลังที่ทำให้เกิดอุทกภัย

โดยการผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนในไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ส่งผลให้ปริมาณฝนน้อย และอากาศแห้งแล้ง และยังได้รับผลกระทบลานีญาที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2567 ทำให้มีมรสุมและฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เกิดอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่งผลให้สาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 เช่นเดียวกับสาขาประมง หดตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาป่าไม้ ยังคงขยายตัวได้

รายละเอียดในแต่ละสาขาที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ มีดังนี้

สาขาพืช หดตัว 0.4% จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเดือนเมษายน 2567 ทำให้สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชบางส่วน ผลผลิตพืชหลายชนิดลดลง

แม้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2567 แต่การเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมและมีฝนตกหนัก เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต และมีโรคพืชและแมลงรบกวนสำหรับสินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และเงาะ

⦁ข้าวนาปรัง-ทุเรียนผลผลิตลด
โดยข้าวนาปรัง ผลผลิตลดลง เนื่องจากในช่วงเพาะปลูกมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้มีน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ และภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือพืชผักแทน

มันสำปะหลัง ผลผลิตลดลงตามเนื้อที่เก็บเกี่ยวลดลง เนื่องจากเกษตรกรขาดแคลนท่อนพันธุ์จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งและฝนทิ้งช่วง ท่อนพันธุ์ดีหายากและมีราคาสูง ทำให้เกษตรกรบางรายปล่อยพื้นที่ให้ว่างหรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น สับปะรด ยางพารา ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ นอกจากนี้ ยังพบการเกิดโรคใบด่างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

ยางพารา ผลผลิตลดลงเนื่องจากพื้นที่ปลูกในภาคใต้และภาคเหนือยังคงมีการระบาดของโรคใบร่วง ประกอบกับเกษตรกรในภาคใต้และภาคกลางบางส่วนมีการตัดโค่นต้นยางอายุมากเพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลและปาล์มน้ำมัน รวมถึงทั่วประเทศมีฝนตกชุก ทำให้จำนวนวันกรีดยางลดลง

ทุเรียน ผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในช่วงออกดอก และในช่วงติดผลมีอากาศร้อนสลับฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดการแตกยอดอ่อนแทนการออกดอก ดอกบางส่วนแห้งฝ่อและหลุดร่วง ส่วนที่ติดผลแล้วบางส่วนเกิดการร่วงหล่นเสียหาย

เงาะ ผลผลิตลดลงจากเนื้อที่ยืนต้นลดลงจากการโค่นต้นเงาะที่มีอายุมากและทรุดโทรม เพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า

สำหรับสินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดปัตตาเวีย ปาล์มน้ำมัน ลำไย และมังคุด

โดยข้าวนาปี ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงฤดูเพาะปลูกมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีที่ผ่านมาจึงเพียงพอต่อการเพาะปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้น ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 เติบโตได้ดีอีกทั้งเกษตรกรมีความรู้ในการใส่ปุ๋ย บำรุงรักษาและป้องกันโรค

ได้ดีขึ้น ผลผลิตต่อไร่จึงเพิ่มขึ้น

สับปะรดปัตตาเวียผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น และราคาสับปะรดอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ปาล์มน้ำมันผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2564

ราคาปาล์มอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพาราพื้นที่นาและพื้นที่รกร้าง ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตในปี 2567 เป็นปีแรก ถึงแม้ว่าสภาพอากาศที่แห้งแล้งในปีที่ผ่านมาจะทำให้ต้นปาล์มบางส่วนไม่สมบูรณ์และออกทะลายลดลง แต่ผลผลิตโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น

ลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาลำไยในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ทำให้มีการออกดอกและติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา

มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นมังคุดมีความสมบูรณ์มากขึ้นจากการได้พักต้นสะสมอาหารในปีที่ผ่านมาและสภาพอากาศในภาคใต้มีความเหมาะสมต่อการติดผล ผลผลิตจึงทยอยออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

⦁บริการเกษตร-ประมงจับมือไม่รอด
ขณะที่สาขาบริการทางการเกษตร หดตัว 0.3% เนื่องจากช่วงต้นฤดูเพาะปลูกอากาศร้อนและแห้งแล้ง หลายพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรบางส่วนจึงปล่อยพื้นที่ให้ว่าง

ประกอบกับสภาวะลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดความเสียหายต่อผลผลิตพืชและเป็นอุปสรรคต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต

ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง อาทิ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง

ด้านสาขาประมง หดตัว 3.8% เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาสินค้าประมงลดลง ทำให้เกษตรกรชะลอการผลิต สินค้าประมงที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และราคากุ้งตกต่ำ ประกอบกับความต้องการของตลาดต่างประเทศชะลอตัว ทำให้เกษตรกรชะลอการปล่อยลูกกุ้ง

นอกจากนี้ พื้นที่เลี้ยงกุ้งบางส่วนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งสร้างความเสียหายแก่บ่อเพาะเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร เกษตรกรจึงลดเนื้อที่เพาะเลี้ยง

สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือ ผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตหลักของการทำประมงทะเลปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายลดรอบการออกเรือจับสัตว์น้ำ

⦁คาดจีดีพีเกษตรปีนี้ -0.8 ถึง 0.2%
โดย นายฉันทานนท์ ระบุว่า แนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจการเกษตรทั้ง ปี 2567 คาดว่าจะอยู่ในช่วง -0.8-0.2% เมื่อเทียบกับปี 2566

พร้อมระบุว่า หากมองอีกมุม การที่ปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืชเช่นเดียวกัน ทั้งในภาพรวมประกอบกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน และการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลเพื่อการวางแผน ตลอดจนการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวโดยเฉพาะการบริโภคและการส่งออก ทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงหลายประการ อาทิ ความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิต

รวมถึงปัจจัยภายนอกทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย

นายฉันทานนท์ย้ำว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาภาคเกษตรทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อให้ภาคเกษตรเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพต่อไป

⦁รายได้เกษตรลดไม่เยอะ-ลุ้นเพิ่ม
สำหรับอุทกภัยที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ และยังมีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่องจากบรรดาพายุที่พาเหรดกระทบไทย หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบว่า เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอยู่ในกรอบ 3-4 หมื่นล้านบาท

โดยภาคเกษตร ได้รับผลกระทบมากที่สุด คาดว่ามีมูลค่าความเสียหายที่ 2.75 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 74.3% รองลงมาคือ ภาคบริการ คาดว่ามีมูลค่า 9.2 พันล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม 287 ล้านบาท มูลค่าความเสียหายต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย คิดเป็น 0.21%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุว่า ความเสียหายของภาคเกษตรครอบคลุมถึง 90% หรืออยู่ในกรอบ 3-4 หมื่นล้านบาท ส่วนความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อจีดีพีภาคการเกษตรหรือไม่นั้น มองว่ากระทบระดับนึง

เนื่องจากสถานการณ์ของภาคการเกษตรปี 2567 มีทั้งเรื่องของภัยแล้ง และพอมาเจอน้ำท่วมซ้ำอีกหลายระลอก จะเป็นสาเหตุทำให้ภาคการเกษตรนั้นเจริญเติบโตต่ำ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเหตุการณ์น้ำท่วมจะมีผลต่อภาคการเกษตร ให้ผลผลิตลดลงประมาณ 0.1-0.2% เท่านั้น

ประมาณเบื้องต้นว่าจีดีพีภาคเกษตรปี’67 จะโตอยู่ที่ 0-0.5% ยังไม่ถือว่าอ่วมมากนัก

สำหรับผลกระทบต่อรายได้ของชาวเกษตรกร นายธนวรรธน์ ให้ความเห็นว่า สินค้าเกษตรอาจจะลดลงไม่เยอะ ท้ายสุดผลผลิตจะมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น รายได้ช่วงครึ่งปีแรกอาจจะลดลงบ้าง แต่คิดว่าครึ่งปีหลังรายได้จะเป็นบวก

ดังนั้นทั้งปี 2567 รายได้ของเกษตรกรจะเป็นบวก โดยเฉพาะข้าว และยางพารา ราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นผลกระทบทั้งปีรายได้อาจจะไม่กระทบมากอย่างที่กังวล

นายธนวรรธน์ ระบุด้วยว่า รัฐบาลกำลังมีมาตรการเยียวยาและชดเชยให้กับชาวเกษตรกร ดังนั้น ภาคการเกษตร จะมีการสำรวจความเสียหายในพื้นที่ คิดว่าทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้อง

ดำเนินการเยียวยา และในอนาคตรัฐบาลจะมีการป้องกันในส่วนของชลประทาน และระบบของการระบายน้ำ น่าจะเป็นจุดสำคัญที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

⦁เกษตรเร่งสำรวจ-ฟื้นฟู
สำรวจมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนี้มีการดำเนินงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนระยะเร่งด่วน 3 มาตรการได้แก่ 1.การฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด 6 โครงการ 2.การปรับพื้นที่และฟื้นฟูพื้นที่เกษตร 2 โครงการ และ 3.มาตรการลดภาระหนี้สินให้สมาชิกสถาบันเกษตรกร 2 โครงการ

อีกทั้ง กระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเร่งรัดเพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย พร้อมปรับเกณฑ์ย่นระยะเวลาในการช่วยเหลือ จาก 90 วัน ให้เหลือ 65 วัน

โดยกรมส่งเสริมการเกษตร สำรวจพื้นที่ความเสียหายไปกว่า 90% เพื่อเร่งเยียวยาและฟื้นฟูตามขั้นตอน เช่นเดียวกับ กรมวิชาการเกษตร ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรเร่งสำรวจความเสียหาย ในพื้นที่ที่มีมวลน้ำที่ท่วมขังในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และสุโขทัย และเตรียมความพร้อมด้านปัจจัยการผลิต ได้แก่เมล็ดพันธุ์ ชีวภัณฑ์ รวมถึงสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อสกัดกั้นการระบาดอย่างเร่งด่วนของโรคและแมลงศัตรูพืชอย่างฉุกเฉินทันต่อสถานการณ์

ทั้งนี้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยต่อเนื่อง ไม่ว่าจะการทำความสะอาดดินโคลนออก ในหลายๆ จุด ไม่ได้ถอนกำลังในทุกพื้นที่ และให้ความสำคัญอย่างการฟื้นฟูหลังน้ำลด

“จะมีการร่างเสนอโครงการกับทุกฝ่าย ร่วมมือกับแบงก์รัฐและภาคเอกชน ให้พี่น้องชาวเกษตรกรมีแหล่งเงินที่จะไปทำการเพาะปลูกพืชต่อ มีเอกชนรอรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร เป็นพันธะสัญญาร่วมกัน เพื่อรายได้ที่เร็วและแน่นอน” นางนฤมลระบุ

จบปี 2567 จีดีพีเกษตรจะเหลือระดับใด และรัฐบาลจะใช้บทเรียนจากปีนี้ รับมือเอลนีโญ-ลานีญาในอนาคตได้ดีแค่ไหน น่าติดตาม

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4868228