เป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์สภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบันนั้น มีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกคาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกอาจเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ภายในปี 2570 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอันดับต้น ๆ ของโลก กำลังเผชิญกับผลกระทบที่ชัดเจน อาทิ อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปริมาณฝนที่ผันผวนรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ปริมาณฝนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ปีที่เกิดปรากฏการณ์ลานีญาก็มีแนวโน้มที่จะเกิดฝนตกหนักมากขึ้น
สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับสถิติที่บันทึกไว้ โดยปี 2559 เป็นปีที่โลกเผชิญกับอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 1.28 องศาเซลเซียส ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเร่งด่วนในการรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน
วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ “ภาคการเกษตร” ของไทย โดยเฉพาะความผันผวนของสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น เช่น ภัยแล้งและอุทกภัย ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงและมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ แม้ว่าไทยจะมีศักยภาพทางการเกษตรสูงและเป็นที่รู้จักในฐานะ “ครัวของโลก” แต่พืชเศรษฐกิจหลักอย่างข้าวและอ้อย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ของประเทศ กลับเผชิญกับปัญหาผลผลิตต่อไร่ตํ่ากว่าคู่แข่ง และมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างยิ่ง สะท้อนให้เห็นจากผลผลิตปาล์มนํ้ามันที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่เกิดภัยแล้งรุนแรงเมื่อปี 2557-2559
เช่นเดียวกันกับ “ภาคประมง” ที่กำลังเผชิญกับภาวะอุณหภูมินํ้าทะเลที่สูงขึ้น การศึกษาของ Marine Stewardship Council ชี้ให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการผลิตสัตว์นํ้าในเขตร้อนโดยคาดการณ์ว่าผลผลิตจะลดลงอย่างมากภายในปี 2593 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารและเศรษฐกิจในวงกว้าง
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรและอาหารของไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ผลผลิตที่ผันผวน ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงผู้บริโภค เกษตรกรประสบปัญหาผลผลิตลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ และธุรกิจแปรรูปอาหารจำนวนมากต้องเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารบางประเภท เช่น นํ้ามันพืชและนํ้าตาลทรายขาว เพิ่มสูงขึ้นหรืออาจขาดแคลน อีกทั้ง ผู้ประกอบการที่นำเข้าวัตถุดิบอาหารของไทย ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการลดปริมาณการส่งออกของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ อาร์เจนตินาและออสเตรเลีย ซึ่งเกิดจากผลกระทบของสภาพอากาศที่ผันผวน ทำให้จำเป็นต้องแสวงหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ผลกระทบเหล่านี้ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศในระยะยาว
สำหรับด้านการส่งออกของภาคเกษตรไทยก็กำลังเผชิญกับความท้าทายอยู่ 2 ประการหลัก โดย ประการแรกคือ
ผลผลิตทางการเกษตรมีความผันผวนสูงขึ้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรง ส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพ
สินค้าส่งออก ส่วนประการที่สองคือ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย กำลังสร้างแรงกดดันให้ภาคการเกษตรต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน กล่าวคือสหภาพยุโรปได้ประกาศนโยบายสำคัญหลายฉบับ เช่น ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ที่มุ่งเน้นการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนและลดการใช้สารเคมีรวมถึงกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ซึ่งกำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดสำหรับสินค้าเกษตรหลายชนิดที่นำเข้าสู่ตลาดยุโรป นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ทั่วโลกยังมีการกำหนดมาตรฐานความยั่งยืนของตนเอง ซึ่งส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยต้องปรับปรุงกระบวนการผลิต และเพิ่มต้นทุนในการดำเนินงาน
ไม่เพียงเท่านี้ “การผลิตข้าว” และ “ปศุสัตว์” ของไทย ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่ามาตรฐานสากลและคู่แข่งสำคัญ อย่าง เวียดนาม อินเดีย และบราซิล โดยเฉพาะภาคปศุสัตว์ที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซสูงกว่าภาคการผลิตข้าวถึงสิบเท่า หากประกอบการไทยไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในระยะยาวโดยกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือผู้ประกอบการในภาคผักผลไม้แปรรูป อาหารทะเล และเนื้อสัตว์แปรรูป ซึ่งพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการส่งออกมากกว่า 50% ของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาคการเกษตรและอาหารขั้นกลางนํ้า-ปลายนํ้า
ดังนั้น หากไม่เร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด อาจลดลงตํ่ากว่า 15% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และเป็นรองเพียงอินโดนีเซียในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้แรงกดดันดังกล่าวจะเร่งให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแม้จะต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและเปิดโอกาสทางการตลาดในประเทศที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่ยั่งยืน
ณ เวลานี้ จำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบในการตัดสินใจลงทุนปรับตัว อาทิ ต้นทุนการปรับตัว ต้นทุนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความเสี่ยงที่จะสูญเสียตลาดหากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน