ค้นหา

กรมพัฒนาที่ดิน ขับเคลื่อนบริหารจัดการดินและน้ำในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เพิ่มศักยภาพภาคการเกษตร

กรมพัฒนาที่ดิน
เข้าชม 83 ครั้ง

จากปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรกรรม ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรทำให้ผลผลิตตกต่ำ ขาดความมั่นคงในรายได้และคุณภาพชีวิต กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการขับเคลื่อนภาคการเกษตรสู่ความสำเร็จ หนึ่งในนั้นคือการรับมือภัยแล้ง รวมทั้งการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูภัยพิบัติทางธรรมชาติ กรมพัฒนาที่ดินมีภารกิจที่สำคัญในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อการป้องกันดินและที่ดินไม่ให้เกิดความเสื่อมโทรม การปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงการรักษาน้ำในดินหรือบนผิวดินให้เกิดความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ที่ดินในทางเกษตรกรรม ดังนั้นการอนุรักษ์ดินและน้ำจึงเป็นการรักษาดินให้มีความสามารถในการให้ผลผลิตสูงสุดและเป็นการใช้ดินอย่างถูกวิธี ดินและน้ำในภาคการเกษตรมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การดูแลรักษาดินและน้ำให้มีความยั่งยืน จะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ รวมทั้งคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสัตว์ กรมพัฒนาที่ดินจึงได้ดำเนิน “โครงการบริหารจัดการดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกร” เพื่อหาแนวทางและมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแล้งในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ให้เกษตรกรมีทรัพยากรทั้งดินและน้ำที่เหมาะสมไว้ใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม โดยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ที่ดิน สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

จากข้อมูลภัยแล้งของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งกว่า 53 จังหวัด จึงพิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่โดยการเพิ่มศักยภาพด้วยการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งประกอบด้วยการขุดสระเก็บน้ำ ขนาดความจุ 1,375 ลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ประโยชน์ในยามฝนทิ้งช่วง ควบคู่กับการติดตั้งระบบกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งขยายพื้นที่ใช้น้ำสู่กลุ่มเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่ยั่งยืนและสำคัญต่อภาคการเกษตรไทย

การบริหารจัดการดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดินเป็นการช่วยรักษาความสมดุลของทรัพยากรที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำเกษตรกรรม โดยเมื่อดินมีความชุ่มชื้นเหมาะสม จะส่งผลให้การเพาะปลูกพืชได้ผลดี อีกทั้งยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในยามที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ

นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินยังมุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถจัดการมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าของผลผลิตให้แข่งขันในตลาดได้ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน”

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.thairath.co.th/news/local/2822415