ค้นหา

รวมสูตรเด็ด! อาหารสัตว์ต้นทุนต่ำ จาก “กล้วย”…

พระนาง สุรชิต
เข้าชม 42 ครั้ง

“กล้วยน้ำว้า” เลี้ยงปลา ตัวโต เนื้อหวาน ขายได้ราคา
คุณพะเยาว์ และ คุณประมวล รุ่งทอง สองสามีภรรยา อยู่ที่จังหวัดชัยนาท เป็นเกษตรกรที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งสองเป็นเกษตรกรหัวไวใจสู้พร้อมที่จะเปิดรับความรู้ใหม่ๆ กล้าที่จะทดลองและรับแนวทางการส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตร ปัจจุบันทั้งสองมีอาชีพเพาะเลี้ยงปลาในกระชังบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าของสูตรใช้กล้วยน้ำว้าเลี้ยงปลา

“สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงปลานั้นจะเป็นอาหารเม็ดทั่วๆ ไป โดยจะให้วันละ 3 เวลา (เช้า กลางวัน เย็น) บวกกับรำข้าวผสมกับกล้วยน้ำว้าสุกบด (เสริมเฉพาะปลานิล ส่วนปลากดหลวงจะหั่นเป็นชิ้นๆ ลักษณะกล้วยบวชชี) วันละ 1 เวลา ซึ่งเลือกในช่วงกลางวันเพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สะดวกที่สุดของผู้เพาะเลี้ยงที่จะมีเวลาเตรียมบดกล้วยในช่วงเช้า เช้า, กลางวัน, เย็น ตามความสะดวกของผู้เลี้ยง”

คุณประมวล เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการนำกล้วยน้ำว้ามาเลี้ยงปลานั้น มาจากการเพาะเลี้ยงปลาในช่วงนั้น มีต้นทุนในการผลิตสูงในเรื่องของอาหาร ทำให้ไม่คุ้มต่อผลตอบแทนที่ได้มาในแต่ละครั้ง ทุกฟาร์มเกิดปัญหาเดียวกันหมด ทำให้ตนเองต้องหาหนทางลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของอาหารลง จึงเกิดแนวคิดนำกล้วยมาเลี้ยงปลาขึ้น

จากแนวคิดที่คิดแบบชาวบ้านทั่วๆ ไปและจากประสบการณ์ที่เคยผ่านมาและเคยเห็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ใช้กล้วยน้ำว้าบดผสมกับข้าวเลี้ยงเด็ก ก็ยังสามารถทำให้เด็กโตขึ้นมาได้ จึงได้ทดลองนำกล้วยน้ำว้าสุกมาบดผสมกับรำข้าวให้ปลากิน เริ่มแรกจะทดลองกับปลากด ผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจ ปลามีขนาดใหญ่ รสชาติของเนื้อหวาน ได้คุณภาพกว่าปลาที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยกล้วย ที่สำคัญลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของอาหาร

หลังจากที่เลี้ยงปลาด้วยกล้วยน้ำว้ามาได้ระยะหนึ่ง ก็เกิดเสียงตอบกลับมาจากผู้บริโภคว่าปลาในกระชังมีรสหวานและเนื้อแน่น ทำให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น จากนั้นมาก็เริ่มนำกล้วยน้ำว้าสุกมาบดผสมกับรำข้าวผสมให้ปลาไปพร้อมกับอาหารเม็ด

สูตรอาหารเสริมด้วยหยวกกล้วยทำให้ไข่แดงสด
การนำหยวกกล้วยมาเลี้ยงไก่ไข่ จะทำให้ไก่ไข่ที่เลี้ยงออกไข่ได้ง่ายขึ้น และไข่ไก่ที่ได้มีสีแดงสดน่ากิน ที่สำคัญผู้เลี้ยงสามารถลดต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ได้เป็นอย่างดี

นำหยวกกล้วยมาหั่นเป็นแว่นให้ไก่ไข่จิกกินในช่วงเช้า ซึ่งหยวกกล้วยที่นำมาให้ไก่นั้นควรที่จะลอกเปลือกชั้นนอกที่หุ้มออกประมาณ 2 ชั้นก่อนและให้ควบคู่กับอาหารไก่ไข่ตามปกติ จะทำให้ไก่ไข่ที่เลี้ยงออกไข่ได้ง่ายขึ้น และไข่ไก่ที่ได้มีสีแดงสดน่ากิน ผู้บริโภคก็ชอบ ที่สำคัญเกษตรกรผู้เลี้ยงก็สามารถลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี

ข้อแนะนำ : กรณีที่เลี้ยงไก่ไข่ไม่มาก หรือปล่อยเลี้ยงแบบธรรมชาติก็สามารถใช้วิธีการตัดเป็นแว่นๆ แล้วโยนให้ไก่จิกกินในช่วงเช้า แต่ถ้าเลี้ยงแบบเชิงพาณิชย์เป็นโรงเรือนให้ใช้วิธีการสับให้ละเอียดหรือบดผสมกับอาหารไก่ไข่ (อัตราส่วน หยวกกล้วยสับ 0.5 ส่วน : อาหารไข่ไก่ 1 ส่วน) ใส่ในรางอาหารให้ไก่ไข่กินในช่วงเช้า และควรทำครั้งต่อครั้ง ไม่ควรทำเก็บไว้

ทำอาหารเลี้ยงหมู จาก “กล้วยสุก”
ผลกล้วย เมื่อแก่เต็มที่จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบ 60-70 เปอร์เซ็นต์ วัตถุแห้ง ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ มีแป้งคิดจากน้ำหนักแห้งประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อกล้วยสุกแป้งจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลทำให้มีรสหวานอาจจะมีกลิ่นหอมด้วยขึ้นกับสายพันธุ์ของกล้วย

สัตว์ทุกชนิดชอบกินกล้วยสุก เนื่งจากมีความหวาน และมีความน่ากิน ผลกล้วยน่าจะเป็นแหล่งพลังงานสำหรับสัตว์มากกว่าโปรตีน เพราะมีโปรตีนคิดจากน้ำหนักเพียง 3-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และทำให้สัตว์ฟื้นจากการป่วยขึ้น ทั้งนี้ อาจจะเนื่องจากกล้วยสุกมีรวหวาน มีความน่ากิน เป็นการกระตุ้นให้สัตว์กินอาหาร และในกล้วยสุกมีพลังานสูงสามารถย่อยได้มาก ทำให้สัตว์ได้รับพลังงานในเวลารวดเร็ว ทำให้สัตว์มีความแข็งแรงเร็วขึ้น

การนำผลกล้วยหมักร่วมกับอาหารหยาบคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว ชานอ้อย ผักตบชวา น้ำตาลจากผลกล้วยจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการหมักให้เร็วขึ้น ทำให้อาหารหมักมีคุณภาพดีขึ้น นอกจากนั้น การใช้กล้วยสุกเป็นแหล่งพลังงานเสริมสำหรับโค-กระบือ ซึ่งเลี้ยงด้วยฟางหมักยูเรียหรือชานอ้อยหมักยูเรีย น่าจะทำให้สัตว์กินอาหารและใช้ประโยชน์จากอาหารมากขึ้น

การใช้ผลกล้วยสุกเลี้ยงสุกร ควรใช้ผลกล้วยสุก เพราะสุกรจะชอบกินมากกว่าผลดิบ อย่างไรก็ตาม ถ้าให้สุกรกินกล้วยสุกเพียงอย่างเดียวจะทำให้สุกรท้องเสีย ดังนั้น เกษตรกรจะต้องเสริมอาหารข้นที่มีโปรตีน 10-22 เปอร์เซ็นต์ วันละ 1-2 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของสุกรจะทำให้สุกรเจริญเติบโตตามปกติ

การทำกล้วยป่น โดยนำกล้วยดิบหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแห้ง สามารถเก็บไว้ได้นานและใช้แทนรำ แทนปลายข้าวในสูตรอาหารข้นสำหรับเลี้ยงสุกรได้มากถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์ กรณีที่เกษตรกรทำสวนกล้วยและมีผลิตผลมากเกินความต้องการของตลาด อาจจะทำให้กล้วยป่นเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์จำหน่ายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ ก็จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง

แชร์ :