ค้นหา

ปุ๋ยมูลหนอนไหม มีธาตุไนโตรเจนสูง ช่วยปรับสภาพดินเค็ม ลดต้นทุน

กรมหม่อนไหม
เข้าชม 8 ครั้ง

มูลหนอนไหม มีนํ้าหนักเบา ขนย้ายง่าย และมีความสามารถในการอุ้มนํ้าสูง มูลหนอนไหมเป็นส่วนผสมสําหรับเป็นวัสดุเพาะกล้า เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับมูลหนอนไหมและเป็นช่องทางการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหนอนไหมอีกทางหนึ่ง

นำมูลหนอนไหมจากการเพาะเลี้ยงมาทำเป็นปุ๋ยช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ผลจากการวิเคราะห์ “ปุ๋ยหมักมูลหนอนไหม” มีธาตุอาหารไนโตรเจน 0.95% ฟอสฟอรัส 0.5% โพแทสเซียม 0.86% และอินทรียวัตถุ 28.69% เหมาะใช้เป็นวัตถุดิบแทนปุ๋ยคอกในการทำปุ๋ยหมัก ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอย่างคุ้มค่า 

ส่วนประกอบในการทำปุ๋ยมูลหนอนไหม ช่วยปรับสภาพดินเค็ม

มูลหม่อนไหมตากแห้ง จำนวน 50 กิโลกรัม
รำหยาบ จำนวน 20 กิโลกรัม
น้ำหมักชีวภาพ จำนวน 1 ลิตร
น้ำเปล่า จำนวน 10 ลิตร
ปุ๋ยคอก จำนวน 100 กิโลกรัม
วิธีการทำ

นำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าเข้ากัน จากนั้นคลุมด้วยพลาสติกดำ ทิ้งไว้ 15 วัน ไม่ต้องกลับกองปุ๋ย แค่นี้ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในการฟื้นฟูนาข้าว ที่มีสภาพดินเสื่อมหรือดินเค็ม

ประโยชน์

Advertisement

การใช้มูลหม่อนไหม จะมีแร่ธาตุอาหารในดินค่อนข้างสูง ซึ่งก็สามารถประหยัดต้นทุนได้มากเพราะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงไหมอยู่แล้ว ดังนั้น จึงสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แค่ระยะเวลาเพียง 3 ปี นาข้าวที่เสื่อมสภาพจะกลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ของดินสูงมากดังเดิม

นอกจากนี้ ยังมีสูตรปุ๋ยน้ำหมักมูลไหมที่ผลิตจากมูลหนอนไหมที่เลี้ยงด้วยใบหม่อนปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง 100% ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยคอกได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มผลผลิตใบหม่อน ทำให้ใบหม่อนมีคุณภาพที่ดี ขนาดใบใหญ่ขึ้น และมีความเขียวอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วย

น้ำหมักมูลไหมปริมาณ 200 ลิตร

วัตถุดิบ

– กากน้ำตาล 5 ลิตร

– สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 5 ซอง (ซองละ 25 กรัม)

– มูลไหม 30 กิโลกรัม

– น้ำ 200 ลิตร

วิธีการทำ

ชั่งมูลไหม 30 กิโลกรัม ใส่มูลไหมลงในน้ำ 100 ลิตร เติมกากน้ำตาล 5 ลิตร ละลายสารเร่ง พด.2 จำนวน 5 ซอง แล้วเติมน้ำให้ครบ 200 ลิตร ใช้ไม้คนส่วนผสมให้เข้ากัน แล้วปิดฝาหมักทิ้งไว้ 14 วัน โดยแต่ละวันให้เปิดฝาถัง ใช้ไม้คนส่วนผสมทั้งหมดในถังให้เข้ากัน เมื่อครบ 14 วันแล้ว ให้กรองน้ำปุ๋ยหมักมูลไหมใส่ขวดหรือแกลลอน

วิธีการนำไปใช้

ผสมปุ๋ยน้ำหมักมูลไหม 100 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร นำไปพ่นหรือรดต้นหม่อนในแปลงหม่อนทุกๆ 7 วัน และงดใช้ 15 วันก่อนนำใบหม่อนไปเลี้ยงไหม เท่านี้ก็จะทำให้ใบหม่อนมีคุณภาพที่ดี ขนาดใบใหญ่ขึ้น และมีความเขียวอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วย

สำหรับการใช้ปุ๋ยหมักมูลไหมร่วมกับเชื้อไมคอร์ไรซา 

สามารถทำได้โดยการใส่เชื้อไมคอร์ไรซาระหว่างแถวในแปลงหม่อน อัตรา 10 กรัมต่อต้น หรือประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ โดยใส่ปุ๋ยหมักมูลไหม อัตรา 1 ตันต่อแปลงหม่อน 1 ไร่ต่อปี และใส่ปุ๋ยหมักมูลไหมหลังตัดแต่งกิ่งหม่อน

ปุ๋ยหมักมูลไหมหากใช้ร่วมกับเชื้อไมคอร์ไรซา ซึ่งเป็นเชื้อราชีวภาพที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชในการเพิ่มผลผลิตใบหม่อน และเมื่อนำปุ๋ยหมักที่ทดลองนี้ไปใช้ในแปลงหม่อนสาธิต ใส่รอบๆ ทรงพุ่ม หลังการตัดแต่งกิ่งหม่อน ในอัตราส่วน 1 ตันต่อไร่ต่อปีพบว่ามีผลผลิตใบหม่อนเพิ่มขึ้นถึง 37% ลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 27%

การใช้ปุ๋ยหมักเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_270955