ค้นหา

แจกเงินหมื่นก็ “แป้ก” แถมข้าวของก็ “ราคาพุ่ง” น้ำมันปาล์มขวดละ 50-กะทิโลฯ เกือบร้อย

สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย
เข้าชม 37 ครั้ง

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ –  เพิ่งจะดีใจกับ “เงินหมื่น” ที่รัฐบาลแจกให้ยังไม่ทันข้ามเดือนดี ก็มีข่าวร้ายน้ำมันพืชขึ้นราคามหาโหด โดยน้ำมันปาล์มพุ่งขึ้นขวดละ 10 บาท ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองจ่อปรับราคาตามมาติด ๆ เช่นเดียวกันกับราคากะทิสดที่ปรับขึ้นชนกิโลฯเกือบร้อย ป่วนราคาอาหาร ขนมหวาน ขยับตามเป็นขบวน 

ราคาน้ำมันปาล์มที่ขยับขึ้นแรงเกิน ถูกตั้งคำถามจาก สมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย  ที่พูดถึงความเคลื่อนไหวของราคาสินค้า ว่าล่าสุดมีน้ำมันปาล์มขวดปรับราคาขายขึ้นอีก 10 บาทต่อขวดลิตร จากเดิมขายอยู่ที่ 40 กว่าบาท เป็น 50 กว่าบาทต่อขวดลิตร ซึ่งไม่ทราบสาเหตุเกิดจากอะไรถึงทำให้ราคาปรับขึ้นแรง

ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ยังบอกด้วยว่า กำลังซื้อของประชาชนยังไม่ค่อยคึกคัก คนมีรายได้เท่าเดิมและใช้จ่ายประหยัดขึ้น ของกินของใช้ในครัวเรือน เช่น กะปิ น้ำปลา ที่ไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ และราคาไม่เกิน 10-20 บาท จะขายดี

เป็นการให้ภาพสะท้อนในมุมกลับที่ว่า รัฐบาลเพิ่งโอ่ถึงความสำเร็จของมาตรการแจกเงินหมื่นลงถึงมือประชาชน แต่พายุหมุนเศรษฐกิจยังเอื่อยเฉื่อย การจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคักอย่างที่หวัง ประชาชนยังประหยัดกินประหยัดใช้ เงินหมื่นที่ได้รับมาส่วนใหญ่ก็เอาไปจ่ายหนี้ เพราะเวลานี้ครัวเรือนไทยต่างมีมีหนี้สินล้นพ้นตัว จนกลายเป็นว่าหนี้ครัวเรือนฉุดรั้งเศรษฐกิจในภาพรวมก็ว่าได้

ไม่เพียงแต่ราคาน้ำมันปาล์มขวดเท่านั้นที่ปรับขึ้น ในส่วน น้ำมันถั่วเหลือง ก็ขยับขึ้นเช่นกัน ตามที่ มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด จังหวัดอุดรธานี บอกได้รับแจ้งจากผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลือง ว่าจะปรับราคาขายขึ้นอีก 1-2 บาทต่อขวด ภายในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

เมื่อคนระดับที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ออกมาแสดงความกังขาราคาน้ำมันปาล์มแพงขึ้นพรวด ๆ ทาง พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็รีบออกมาอธิบายต้นสายปลายเหตุว่าเป็นเพราะผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดน้อยลง ทำให้ปรับตัวสูงขึ้น เวลานี้กระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าไปดูแลให้เกิดความสมดุล ฝั่งเกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดี และฝั่งผู้บริโภคไม่ต้องแบกรับราคาน้ำมันปาล์มขวดแพงเกินไป


มาตรการรัฐนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งการคือ ในระยะสั้นไม่ให้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อให้มีสต็อกเพียงพอ และดูแลน้ำมันปาล์มขวดให้เหมาะสม หากจำเป็นก็ปรับลดการใช้น้ำมันปาล์มในไบโอดีเซลลง เพื่อให้เหลือสำหรับการบริโภคมากขึ้น

 กรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้ผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดน้อยเนื่องจากเจอภัยแล้งและโรคระบาดก่อนหน้านี้ ซึ่งราคาปาล์มดิบที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ 8-9 บาทต่อกิโลกกรัม แต่ต้องดูแลฝั่งผู้บริโภคไม่ให้ราคาปาล์มขวดสูงเกินไป

มาตรการที่พาณิชย์ดำเนินการ คือหารือร่วมกับสมาคมโรงสกัดน้ำมันปาล์ม และสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ในการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันปาล์มให้เหมาะสมทั้งเพื่อบริโภคและภาคพลังงาน ซึ่งขณะนี้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ มีสต็อกเกินกว่า 2 แสนตัว และสมาคมฯ จะยังไม่ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายประมาณเดือนมกราคม 2568

นอกจากนั้น กรมการค้าภายในยังขอความร่วมมือกับผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดชะลอการปรับราคาออกไปให้นานที่สุด และหารือห้างค้าส่ง ค้าปลีก ห้างท้องถิ่น ให้จำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุขวดให้อยู่ในระดับราคาที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชน โดยขณะนี้จำหน่ายในราคาตั้งแต่ 43-48 บาทต่อขวด แล้วแต่สต็อกเก่า-ใหม่ หากจะปรับราคาขึ้น หรือได้รับสินค้าล่าช้า ไม่เพียงพอ ให้แจ้งมายังกรมฯ เพื่อที่จะเข้าไปดูแลต่อ

อย่างไรก็ดี ขณะที่ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ยืนยันว่าการหารือกับห้างค้าส่ง ค้าปลีก และร้านค้า ทางห้างยินดีให้ความร่วมมือในการตรึงราคาน้ำมันพืชเรียบร้อยดีไม่มีปัญหา แถมจัดโปรโมชั่นช่วยเหลือลูกค้าอีกด้วย แต่การที่ สมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ออกมาตั้งคำถามดัง ๆ ว่าราคาน้ำมันปาล์มขึ้นแรงพุ่งพรวดขวดละ 10 บาทนั้น จึงมีข้อควรสงสัยในความทะแม่ง ๆ เนื่องจากไม่เป็นไปอย่างที่พาณิชย์ว่าเข้ามาดูแลราคาให้ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเรียบร้อยแล้ว

ตอนนี้ กรมการค้าภายใน ก็ได้แต่ปราม โดยสั่งการสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ติดตามสถานการณ์น้ำมันพืช ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง หากพบผู้ประกอบการดำเนินการใด ๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาสูงเกินสมควร หรือทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด จะดำเนินการตามกฎหมายต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 หรือทางแอพลิเคชัน[email protected] และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2566 ส่งผลต่อผลผลิตปาล์มน้ำมัน ออกสู่ตลาดลดลง นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 เป็นต้นมาจนบัดนี้ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พยากรณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันปีนี้ มีปริมาณ 18.61 ล้านตัน ผลผลิตช่วงไตรมาสสุดท้ายจะออกสู่ตลาดลดลง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุมาจากปัญหาภัยแล้ง และโรคระบาดในปาล์มน้ำมัน เช่น โรคลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน หรือเชื้อราการ์โนเดอร์มา ในบางพื้นที่ ทำให้ต้นปาล์มดูดซึมอาหารและน้ำไม่เต็มที่ ส่งผลให้ทะลายปาล์มไม่สมบูรณ์ และช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี จะเป็นช่วงที่มีผลผลิตปาล์มน้ำมันมีน้อย ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศยังมีต่อเนื่องเฉลี่ยเดือนละ 2 แสนตัน รวมทั้งการส่งออกตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2-3 ทำให้ราคาขยับสูงขึ้น

ประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร ให้ภาพรวมว่า สถานการณ์ราคาเฉลี่ยน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ ไตรมาส 4/2567 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องที่ระดับกว่า 40 บาทต่อกิโลกรัม ขยับจาก 37 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งไปตามการปรับราคาของตลาดโลกที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลปาล์มสดในตลาดมีปริมาณลดลงตามช่วงฤดูกาล ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบออกสู่ตลาดในประเทศลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ ในไตรมาส 4/2567 ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการบริโภค อุปโภค และความต้องการด้านพลังงานในช่วงเทศกาล

อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ ความต้องการของอินโดนีเซีย ที่มีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบคงคลัง ณ เดือน มิถุนายน 2567 เหลืออยู่ที่ 2.51 ล้านตัน หรือลดลงราว 20% จากปี 2566 จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมไบโอดีเซล ในสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลที่ 35% และจะปรับสัดส่วนขึ้นเป็น 40% ในปี 2568 ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการเพิ่มขึ้นอีก 4-5 แสนตันต่อไตรมาส ถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

เช่นเดียวกับมาเลเซีย ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 มีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบคงคลังอยู่ที่ 2.01 ล้านตัน ลดลงกว่า 10% และไทยมีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบคงคลัง อยู่ที่ 0.296 ล้านตัน ลดลง 18% จากปี 2566 ทำให้แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ราคาน้ำมันปาล์มดิบจึงยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ดูจากสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบแล้ว คาดว่าราคาน้ำมันปาล์มขวด คงปรับตัวสูงขึ้นแบบยาวไปเช่นเดียวกัน

ฝนแล้งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผลผลิตปาล์มน้ำมันเท่านั้น ในส่วนของ มะพร้าว ก็ประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน และผลส่งกระทบเป็นลูกโซ่ โดยราคากะทิสดปรับตัวสูงขึ้น และต่อเนื่องไปถึงเมนูอาหารทั้งคาวและหวานที่มีส่วนผสมของกะทิ พ่อค้าแม่ค้าต่างบ่นกันระนาวทั่วแทบทุกหัวระแหง

สถานการณ์ราคามะพร้าวผลแก่และราคากะทิสด ตามที่  วิทยากร มณีเนตร  ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบ พบว่า มะพร้าวผลแก่ซึ่งเป็นสินค้าที่ออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี มีช่วงออกมากในเดือนเมษายน – กรกฎาคม ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ผลละ 5-9 บาท ส่วนช่วงเดือนสิงหาคม – มีนาคม ผลผลิตออกน้อย ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 18-28 บาทต่อผล

สำหรับปี 2567 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าจะมีมะพร้าวผลแก่ในประเทศ ประมาณ 0.86 ล้านตัน น้อยกว่าปีที่ผ่านมา (0.94 ล้านตัน) และน้อยกว่าผลผลิตย้อนหลังเฉลี่ย 3 ปี (ปี 2564-2566) ร้อยละ 8.51 และ 7.53 ตามลำดับ โดยสาเหตุมาจากฝนแล้งต่อเนื่อง มีโรคแมลงศัตรูมะพร้าวระบาด ทั้งแมลงดำหนาม หนอนหัวดำ และด้วงแรด ส่งผลต่อการติดดอกของมะพร้าวใหลายพื้นที่ ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 1.19 ล้านตัน แยกเป็น ตลาดผู้ค้าส่ง/ตลาดสด ร้อยละ 35 และโรงงานกะทิสำเร็จรูป ประมาณร้อยละ 65 ซึ่งช่วงที่ผลผลิตออกน้อยโรงงานได้นำเข้ามะพร้าวเพื่อแก้สถานการณ์ขาดแคลนมะพร้าวผลแก่ภายในประเทศ

 ปัญหามะพร้าวขาดตลาด ทำให้ราคากะทิสดแพงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 95-100 บาท และราคามะพร้าวผลแก่ปรับขึ้น เช่น ที่จังหวัดพังงา ราคามะพร้าวตกลูกละ 30 บาท ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารทั้งคาวและหวานที่ต้องใช้กะทิเป็นวัตถุดิบสำคัญ พ่อค้าแม่ค้าที่แบกรับต้นทุนเพิ่มต่อเนื่องมาหลายเดือนไม่ไหว ได้ปรับราคาอาหารที่ใช้กะทิเป็นส่วนผลขึ้น 2-3 บาท ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย 

 พันธกร โลหะกุล เจ้าของร้านห่อหมกต้นโพธิ์ ตลาดลานโล่ง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ได้ปรับราคาห่อหมกจากเดิมขายห่อละ 15 บาท ต้องปรับเป็นห่อละ 18 บาท โดยยอมรับว่าช่วงนี้มะพร้าวผลแก่หายากมาก เรียกได้ว่าขาดตลาด

ร้านค้ากะทิคั้นสดที่ตลาดรถไฟขอนแก่น ก็เช่นกัน  ณจาวิชย์ ทัตหิรัญรัตน์ ผู้จัดการโครงการตลาด ซึ่งตรวจเยี่ยมพ่อค้าแม่ค้าในตลาด พบราคากะทิคั้นสดพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 110-115 บาท

ส่วนปัญหาการขาดแคลนมะพร้าวผลแก่ในจังหวัดยะลา ทำให้กะทิสดมีราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 100-120 บาท ไม่แตกต่างจากพื้นที่จังหวัดอื่น

 สุพัฒน์ โพธิ์ธรรมกูล  พ่อค้ากะทิสดในตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง บอกว่าฝนแล้งและโรคระบาดทำให้มะพร้าวที่เคยสั่งในพื้นที่อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ไม่มีผลผลิตมาให้ ส่วนมะพร้าวผลแก่จากอินโดนีเซียที่เมื่อก่อนพ่อค้าคนกลางนำเข้ามาจำหน่ายให้พ่อค้าปลีก ช่วงนี้ไม่มีเข้ามา ทราบว่ามีปัญหาเช่นกัน ตอนนี้พ่อค้าคนกลางเข้าไปซื้อมะพร้าวถึงสวนในราคาสูง แล้วนำมาขายต่อให้พ่อค้าขายปลีกผลละ 30 – 35 บาท ต้องใช้มะพร้าวแก่ 4-5 ผล ถึงจะได้น้ำกะทิสด 1 กิโลกรัม ก็ได้แต่ต้องทำใจ เพราะตลาดมะพร้าวไม่มีสมาคมฯ กำหนดราคามะพร้าว ก็เลยเป็นแบบที่เห็นและเป็นอยู่

ทว่า กระทรวงพาณิชย์ กลับคุยว่า มะพร้าวและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อรักษาสมดุลของอุปสงค์และอุปทานมะพร้าวตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีการกำกับดูแลโดยคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว ภายใต้คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช

การปรับขึ้นราคาของน้ำมันปาล์มและกะทิสด ทำให้ราคาอาหารทั้งคาวทั้งหวานปรับราคาขึ้นตาม และเมื่อปรับขึ้นแล้วมีแต่ขึ้นเลยไม่มีลง ราคาข้าวแกง อาหารตามสั่ง ที่พอประทังชีวิตอัพราคาจากจานละ 40 บาท ทะลุ 60-70 บาทกันไปแล้ว ขณะที่รายได้ของมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่และคนหาเช้ากินค่ำยังย่ำอยู่กับที่ แถมยังมีลดเงินเดือน เลิกจ้างในบางกิจการที่ถูกดิสรัปกันไปก็ใช่น้อย

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่เข้าหารือกับ แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 มีข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น กู้ชีพเอสเอ็มอี แก้หนี้ครัวเรือน ฯลฯ โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่  ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย มองปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มาเหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจ เชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน เป็นมาตรการใหญ่ก่อนช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็ตอบรับแข็งขัน หวังช่วยกันพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้โตเต็มศักยภาพ มุ่งสู่เป้าหมายให้จีดีพีไทยกลับมาเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3 – 5%

 ออกแรงปั่นกันไป ส่วนจะทำได้จริงสักกี่มากน้อย ก็เฝ้าติดตามกันต่อไป 

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://mgronline.com/daily/detail/9670000105538