กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เฝ้าระวังบั่วศัตรูข้าว เนื่องจากพยากรณ์อากาศในระยะนี้รายงานว่าภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีอากาศเย็นในตอนเช้าและยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยบั่วจะระบาดมากในพื้นที่ที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอเตือนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือ หมั่นสำรวจแปลงนา เมื่อพบบั่วศัตรูข้าวดังกล่าวในแปลงนาเพาะปลูกของตน ควรรีบป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรง ซึ่งล่าสุดได้รับรายงานว่าเริ่มพบบั่วทำลายนาข้าวแล้วในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา และอุตรดิตถ์รวม 460 ไร่
ลักษณะการทำลายของบั่ว หนอนบั่วจะเข้าทำลายส่วนเจริญของตายอดข้าว สามารถสังเกตเห็นอาการเป็นหลอดคล้ายหลอดหอม เรียกว่า หลอดบั่ว ซึ่งเมื่อถูกทำลาย ต้นข้าวจะแคระแกรน ลำต้นกลมเตี้ย มีสีเขียวเข้ม และยอดที่ถูกทำลายจะไม่ออกรวง ทำให้ไม่ได้ผลผลิตข้าวตามที่ต้องการโดยหนอนบั่ว
มีลักษณะคล้ายหนอนแมลงวันลักษณะหัวท้ายเรียว ในส่วนของตัวเต็มวัยนั้น จะมีลักษณะคล้ายยุง ลำตัวมีสีน้ำตาลปนเหลือง ลำตัวยาว 3-4 มิลลิเมตร หนวดมีสีดำ โดยบั่วเพศเมียจะวางไข่ใต้ใบข้าวในเวลากลางคืน
การป้องกันกำจัดบั่ว ควรกำจัดวัชพืชรอบแปลงนา เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งหลบซ่อนอาศัยของศัตรูพืช รวมทั้งควรอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงดิน แมงมุม แตนเบียนของบั่ว เป็นต้น และสำหรับตัวเต็มวัยของบั่วให้ใช้กับดักแสงไฟล่อมาทำลาย หากมีการระบาดรุนแรง ให้ใช้สารเคมีตามคำแนะนำ ได้แก่ สารกลุ่ม 2B ได้แก่ อิทิโพรล และสารกลุ่ม 4A ได้แก่ อิมิดาโคลพริด หรือไทอะมีไทแชม หรือไทอะโคลพริด หรือโคลไทอะนิดิน มาพ่นในแปลงดังกล่าว โดยแนะนำให้พ่นสารกำจัดแมลงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ห่างกันทุก 7 วันไม่เกิน 3 ครั้ง และหมุนเวียนสารตามกลไกการออกฤทธิ์ ไม่พ่นซ้ำสารในกลุ่มเดิมในรอบวงจรชีวิตของแมลงศัตรูพืช เพื่อชะลอความต้านทานต่อสารกำจัดแมลง อย่างไรก็ตาม การเตรียมตัวก่อนปลูกข้าวเพื่อป้องกันบั่วเข้าทำลายนั้น เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวในช่วงที่บั่วมาเล่นแสงไฟจำนวนมาก และไม่ควรหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในปริมาณมากหรือปักดำถี่จนเกินไป ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถสอบถามหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน