ค้นหา

ต้องรีบแก้!‘บ่อร้าง’ขวางทางกำจัด‘ปลาหมอคางดำ’

กรมทรัพยากรชายฝั่งและชายฝั่ง (ทช.)
เข้าชม 27 ครั้ง

ต้องรีบแก้!‘บ่อร้าง’ขวางทางกำจัด‘ปลาหมอคางดำ’ 

เวทีสาธารณะว่าด้วยเรื่องปลาหมอคางดำใน จ.จันทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ มีหลากหลายความเห็นที่น่าสนใจ เช่น ผู้แทนกรมทรัพยากรชายฝั่งและชายฝั่ง (ทช.) ยืนยันว่าในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก ยังไม่พบปลาหมอคางดำใน จ.ชลบุรี และ จ.ตราด แต่พบที่ จันทบุรีและระยองเท่านั้น ขณะที่ข้อมูลจากคนจันทบุรีผู้ร่วมฟัง ก็ยืนยันตรงกันว่า ที่จันทบุรีพบปลาหมอคางดำเฉพาะในพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบน ไม่พบใน อ.ขลุง  ขณะที่บริเวณปากแม่น้ำจันทบุรีไม่มีปลาชนิดนี้อยู่เลย ส่วน อ.แหลมสิงห์ ก็พบราว 5-8 ตัวต่อสัปดาห์ โดยพบใน “บ่อร้าง” ของสองหมู่บ้านเท่านั้น  เหตุปัจจัยสำคัญที่ทุกคนกังวลคือ “บ่อร้าง” ที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เป็นบ่อร้างที่ร้างราจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของปลาหมอคางดำได้

ที่สำคัญชาวจันท์มั่นใจว่าปลาไม่ได้ว่ายน้ำไปโดยธรรมชาติ   แต่ปลาไปถึงจันท์ได้เพราะมี “คนพาไป” โดยเฉพาะพวกรถเร่ขายปลาเพื่อปล่อยเอาบุญและเป็นไปได้ว่ารถเร่เหล่านี้อาจเพาะพันธุ์ปลาไว้ขาย ซึ่งน่ากังวลมากเนื่องจากเป็นวิธีที่จะนำพาปลาชนิดนี้ไปได้ทุกที่ 

สมาชิกสภาเกษตร จ.ตราดที่ร่วมฟังด้วย ได้แบ่งปันแนวคิดว่า ปลาหมอคางดำแพร่ระบาดเพราะฝีมือคน เพราะตนสังเกตว่า ไม่มีปลาหมอคางดำที่หาดเจ้าสำราญ แหลมผักเบี้ย แต่กระโดดข้ามไปพบที่ สะพานหัวหิน เขาสามร้อยยอด แล้วยังข้ามช่วงสโมสรทหาร ไปเจอที่คลองวาฬ ประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นการข้ามขั้นของช่วงลำน้ำ ที่ชี้ชัดว่าปลาไม่ได้ว่ายน้ำไปเอง แต่เป็นฝีมือมนุษย์  เหมือนที่ภาคใต้ มีการข้ามสิชล หัวไทร ไปเจอปลาที่ปากพนัง และมันยังเป็นไปไม่ได้เลยที่ปลาจะว่ายน้ำได้เร็วขนาดนี้

ขณะที่ ทช. รายงานถึงผลการผ่าท้องปลาหมอคางดำจากอ่าวคุ้งกระเบนว่าพบเฉพาะแพลงตอนพืช แอมพิพอด ไข่ปลา หญ้าทะเล แต่ไม่พบแพลงตอนสัตว์น้ำชนิดอื่น สอดคล้องกับ เกษตรกรอีกรายหนึ่งที่ฝากให้รัฐผ่าท้องปลาหลาย ๆ ชนิด เพื่อพิสูจน์ว่าตัวไหนร้ายกว่ากันกันแน่  เพราะตนเชื่อว่าปลาหมอคางดำไม่ร้ายเท่าปลาหมอเทศข้างลาย ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ซึ่งจากข้อสังเกตของคนพื้นที่และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นไปได้สูงมากที่ “มนุษย์” นี่ล่ะ เป็นต้นเหตุนำพาปลาหมอคางดำไปในแต่ละพื้นที่

การจัดการกับมนุษย์ก็ควรต้องใช้กฎหมาย ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยเรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 โดยห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งรัฐต้องมีความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย ลงพื้นที่ตรวจสอบใกล้ชิด ตรวจสอบไปถึงรถเร่ขายปลา และตรวจละเอียดให้ครอบคลุมการเคลื่อนย้ายปลาที่กฎหมายบังคับว่าจะเคลื่อนย้ายได้เฉพาะปลาที่ตายแล้วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ที่สำคัญมาก และพบในแทบทุกจังหวัดที่มีการระบาดก็คือ “บ่อร้าง” ดังที่ จ.จันทบุรีก็พบประเด็นนี้เช่นกัน เป็นที่น่ากังวลใจของทุกฝ่าย พื้นที่บ่อร้างของชาวบ้านยังมีเป็นจำนวนมาก มักจะเป็นน้ำนิ่ง เอื้อต่อการเพาะและขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำ  แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลที่ภาครัฐไม่สามารถเข้าไปจับปลาได้ จึงทำให้ยังคงมีปลาตกค้างในบ่อเหล่านี้อีกไม่น้อย  รัฐควรหาวิธีปรับแก้หรือออกกฎหมายเฉพาะ ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปจัดการปลาตามบ่อร้างเหล่านี้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
ยิ่งหากไม่ใช่แค่ทิ้งร้าง แต่เป็นความตั้งใจของบางคนที่ปล่อยให้ปลาหมอคางดำเติบโต รอเวลาที่รัฐเบิกงบประมาณออกมาจัดรับซื้อปลาอีกเมื่อไหร่ ก็คงได้จับปลาล็อตใหญ่-ตัวใหญ่มาหลอกขายให้รัฐ แบบนี้ยิ่งต้องเล่นงานให้หนัก ตรงนี้จึงจำเป็นมากที่ต้องเร่งแก้กฎหมายเป็นการเฉพาะก่อนที่จะสายเกินไป

ขณะที่การจับปลาออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติมีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ปริมาณปลาหมอคางดำในหลายพื้นที่ลดจำนวนลงไปมากแล้ว รัฐควรเร่งตัดไฟแต่ต้นลม หากยังปล่อยให้มีแหล่งน้ำนิ่งที่ปลาสามารถวางไข่ เพาะพันธุ์และเติบโตได้ ก็สุ่มเสี่ยงกับการเปิดโอกาสให้ปลาชนิดนี้กลับมาแพร่กระจายขึ้นมาได้อีกทุกเมื่อ ยิ่งถ้าบ่อร้างเหล่านั้นปล่อยน้ำออกมาเมื่อไหร่ คงได้ตามกำจัดในแหล่งน้ำธรรมชาติกันอีกยกใหญ่

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.naewna.com/local/839519