“รมช.อัครา” ชูแนวคิด จับ 1 ปล่อย 100 “งานจับปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน” พร้อมหนุนนโยบายความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับชุมชนประมงเป็นต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน
นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานบริหารจัดการการทำประมงปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ชาวประมง และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน ณ หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนแก่งกระจาน ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ว่า งานกิจกรรมงานบริหารจัดการการทำประมงปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน ประจำปี พ.ศ. 2567 กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “จับ 1 ตัว ปล่อย 100 ตัว” เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มชาวประมงผู้ทำประมงปลาบึก จำนวน 21 ราย จาก 6 ชุมชนรอบเขื่อนแก่งกระจาน สามารถทำการประมงอย่างถูกกฎหมาย ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เดือนมกราคมของทุกปี รวมระยะเวลา 60 วัน และจะมีการจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาบึกลงสู่เขื่อนแก่งกระจาน โดยจะปล่อยจำนวน 100 เท่าของจำนวนปลาบึกที่จับได้ เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกให้เกิดความยั่งยืน สอดคล้องตามนโยบายความมั่นคงทางอาหารของรัฐบาล ทั้งนี้ กรมประมงได้ปล่อยปลาบึกกลับคืนสู่แก่งกระจานไปแล้วกว่า 50,000 ตัว และตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน พบว่าแต่ละปีมีการจับปลาบึกจากแก่งกระจานได้ปีละประมาณ 50 ตัว ยกเว้นในปี พ.ศ. 2566 ที่สามารถจับปลาบึกได้ถึง 60 ตัว สร้างรายได้ให้กับชุมชนไปแล้วมากกว่า 4 ล้านบาท จึงเห็นได้ว่าปลาบึกเป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรได้อย่างมหาศาล รวมถึงควรขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติอื่น ๆ ต่อไป
“ในวันนี้ได้มาร่วมปล่อยพันธุ์ปลาบึก ณ เขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญของจังหวัดเพชรบุรี อีกทั้งยังมีกลุ่มเกษตรกรชาวประมงที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก กระทรวงเกษตรฯ ขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน และชาวประมง ที่ให้ความสำคัญกับการทำการประมงควบคู่การอนุรักษ์ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีกินมีใช้และสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ กล่าว
ด้าน นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมประมงพร้อมขับเคลื่อนในรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ตามนโยบายการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนและสถาบันเกษตรกรอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม อาทิ ธนาคารสัตว์น้ำประจำชุมชน ศูนย์ผลิตพันธุ์ปลาประจำชุมชน และโครงการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำชุมชน เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีกินมีใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ชาวประมงมีรายได้ ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ต่อยอดธุรกิจจากอาชีพประมง เกิดการจัดตั้งกองทุนพัฒนาอาชีพประมง/บรรเทาความเดือดร้อนให้กับสมาชิกในชุมชน ช่วยปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิดให้กับคนรุ่นใหม่ ได้เข้ามาพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืน จนสามารถพัฒนาสู่การเป็นชุมชนประมงต้นแบบด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมง เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน และขยายผลต่อยอดโครงการฯ เป็นโมเดลไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ รมช.อัครา ร่วมปล่อยพันธุ์ปลาบึก 12,200 ตัว พันธุ์ปลาตะเพียน 100,000 ตัว ปลาตุ้ม 1,000,000 ตัว และพันธุ์กุ้งก้ามกราม 1,000,000 ตัว รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,112,200 ตัว ลงสู่เขื่อนแก่งกระจาน ก่อนลงเรือตรวจเยี่ยมพื้นที่บริหารจัดการทรัพยากรประมงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน
เงื่อนไขและวิธีการทำการประมงปลาบึก
1) กำหนดระยะเวลาการทำการประมงปลาบึกบริเวณเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ในช่วงระหว่างเดือน พฤศจิกายน – เดือนมกราคมของทุกปี รวมระยะเวลา 60 วัน หรือ ได้จำนวนปลาบึกที่กำหนด
2) สมาชิกกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมง เขื่อนแก่งกระจาน และชาวประมงในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี สามารถยื่นใบสมัครทำการประมงได้ ณ ที่ทำการกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพื่อการอนุรักษ์ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงเขื่อนแก่งกระจาน
3) ข่ายปลาบึกที่ใช้ทำการประมง มีขนาดช่องตาไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร
4) เมื่อจับปลาบึกได้ ชาวประมงผู้นั้นแจ้งคณะกรรมการกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมง เขื่อนแก่งกระจานทราบทุกครั้ง เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านสภาวะการประมง
5) ชาวประมงผู้ใดจับปลาบึกได้ต้องร่วมสมทบทุนเงินเข้ากองทุนปลา อัตราตัวละ 1,000 บาท/ตัวเพื่อกลุ่มฯ จะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปดำเนินการจัดซื้อพันธุ์ปลาบึกมาปล่อยทดแทนบริเวณเขื่อนแก่งกระจาน เป็นประจำทุกปี
6) แสดงบัตรประจำตัวผู้ทำการประมงปลาบึก
7) ชาวประมงผู้ประสงค์ทำการประมงปลาบึก เขื่อนแก่งกระจาน สวมใส่เสื้อชูชีพ หรือมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตผูกไว้ประจำเรือ
กฎ กติกา การทำการประมง
1) ชาวประมงผู้ใดทำการประมงปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการทำการประมงของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเขื่อนแก่งกระจาน ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสด จำนวน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) และห้ามทำการประมงปลาบึก หากยังมีการฝ่าฝืนลักลอบทำการประมงปลาบึกอีก ให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเขื่อนแก่งกระจาน ยึดเครื่องมือข่ายปลาบึกไว้
2) ชาวประมงผู้ใดจับปลาบึกได้แล้วไม่แจ้งข้อมูลให้หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนแก่งกระจาน (เพชรบุรี) และคณะกรรมการกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมง เขื่อนแก่งกระจานทราบ ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสด จำนวน 20,000 บาท (สองหมื่นบาทถ้วน) และห้ามทำการประมงปลาบึกในปีต่อไป
3) ชาวประมงผู้ใดทำการประมงปลาบึกเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ไม่พกพา หรือไม่แสดง บัตรประจำตัวผู้ทำการประมงปลาบึกประจำปี ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสด จำนวน 100 บาท (หนึ่งร้อยบาทถ้วน) โดยสมาชิกกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเขื่อนแก่งกระจาน เป็นผู้ดำเนินการ
4) ผู้รับซื้อปลาบึกต้องลงทะเบียน ณ หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนแก่งกระจาน (เพชรบุรี) กรณีมีผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับเป็นเงินสด จำนวน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) โดยสมาชิกกลุ่มประกอบอาชีพทำการประมงเขื่อนแก่งกระจาน เป็นผู้ดำเนินการ
กระทรวงเกษตรฯ โดย กรมประมงได้เล็งเห็นถึงปัญหาจำนวนประชากรปลาบึกลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธ์ จึงดำเนินการศึกษาแนวทางการเพาะขยายพันธุ์ปลา และเริ่มปล่อยลูกพันธุ์ปลาลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานตั้งแต่ปี 2528 จนถึงปัจจุบัน