ค้นหา

เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ขยายผลองค์ความรู้สู่เกษตรกรแบบครบวงจร

เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)
เข้าชม 35 ครั้ง

นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยระหว่างตรวจเยี่ยมเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ พื้นที่อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร หลังจากเป็นประธานในพิธีมอบโล่พร้อมเกียรติบัตรให้แก่ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ 2567 ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร

ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีการศึกษา ทดลอง วิจัยและพัฒนาที่แล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 296 เรื่อง มีองค์ความรู้ที่โดดเด่น 26 เรื่อง โดยในปีงบประมาณ 2567 มีจำนวนผู้เข้าศึกษาดูงานกว่า 68,872 คน 767 คณะ มีการฝึกอบรมแบบ New Normal หรือออนไลน์ 12 กิจกรรม จำนวน 2,000 คน

“การให้บริการแก่เกษตรกรที่สนใจของศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ อาจมีข้อจำกัดของผู้ที่มาใช้บริการ เช่น ระยะทาง หรือช่วงเวลาที่จะเข้าอบรมไม่ตรงกับตารางการให้บริการแต่ในขณะที่เกษตรกรมีความสนใจที่จะเข้ามาศึกษาดูงานและฝึกอบรม เกี่ยวกับการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่องการขยายผลเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินการของเกษตรกรที่นำองค์ความรู้ต่างๆจากศูนย์ศึกษาปฏิบัติจนประสบความสำเร็จให้เกษตรกรที่สนใจเข้าศึกษาดูงานเพื่อนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ที่ดีได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นในทุกด้านตั้งแต่การปลูกพืชไปจนถึงการเลี้ยงสัตว์และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรมทั้งนี้ก็เพื่ออนาคตที่ดีและมีคุณภาพ ทั้งประชากรและประเทศชาติ ซึ่งสำนักงาน กปร. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก”

ด้านนายสัตวแพทย์วิสุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร หัวหน้ากลุ่มงานศึกษาและปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ เผยว่า ศูนย์เรียนรู้ฯ ในส่วนของปศุสัตว์จะเน้นการเลี้ยงสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่การเพาะขยายพันธุ์เพียงอย่างเดียว แต่เลี้ยงจนโตและให้สมบูรณ์ ตัวใหญ่ สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ดี

“ตอนนี้ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ โดยนโยบายของสํานักงาน กปร. จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาด้านการตลาด ต่อผลผลิตของเกษตรกร เราจึงพัฒนาระบบปศุสัตว์อย่างครบวงจร ให้ศูนย์เรียนรู้ฯ ดำเนินการและขยายผลสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ที่สนใจ เมื่อได้สัตว์ที่ได้มาตรฐานก็ส่งเข้ามายังศูนย์ภูพานฯ ทำการแปรรูปที่โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ของงานปศุสัตว์ ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แก่เกษตรกรและแก้ไขปัญหาด้านการตลาด ตอนนี้ทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯได้สร้างโรงงานสาธิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้านปศุสัตว์ปัจจุบันมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้านปศุสัตว์ทั้งหมด 14 ชนิดสินค้า และได้รับเลขที่จดแจ้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อย. เรียบร้อยแล้ว”

ส่วนดาบตำรวจปัญญา ประชาชิต เกษตรกรศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ บ้านนาขาม ตำบลห้วยยางอำเภอเมืองจังหวัดสกลนครเปิดเผยว่ามีความสนใจด้านปศุสัตว์จึงเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับงานปศุสัตว์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯพร้อมได้รับปัจจัยการผลิตเบื้องต้นมาเช่นพันธุ์สัตว์ซึ่งเป็นโคดำภูพานพันธุ์หญ้าเพื่อนำมาปลูกเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ความรู้และวิธีการจัดการพื้นที่ทั้งแบบปิดและเปิดในการเลี้ยงสัตว์ ตลอดถึงแหล่งอาหารสัตว์สำรอง เพราะสัตว์ทุกชนิดต้องมีอาหารที่ดีกินทุกวัน

“การเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญคือต้องได้มาตรฐานฟาร์มที่ดีซึ่งจะมีคณะกรรมการมาตรวจอย่างต่อเนื่องตามวงรอบของการเลี้ยง เมื่อโคโตเต็มที่ก็ส่งขายให้สหกรณ์ เพื่อจำหน่ายต่อไปตอนนี้มีเกษตรกรเดินทางมาดูงานและสนใจกิจกรรมด้านปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้น ด้วยพระบารมีปกเกล้าจริงๆ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้พระราชทานศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ แห่งนี้ เราได้รับทั้งความรู้ ได้รับความสําเร็จ รวมทั้งการสนับสนุนทั้งปัจจัยการผลิต และอะไรต่างๆ อีกมาก ก็ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น เพราะฉะนั้นเราจะต้องสืบสานกิจกรรมต่างๆร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานให้คงอยู่ตลอดไป”

สำหรับศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร จัดตั้งเมื่อ
วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถพิตรโดยมีภารกิจหลักคือการพัฒนาระบบชลประทานพัฒนาระบบการปลูกพืชเศรษฐกิจการศึกษาระบบนิเวศวิทยาของป่าการปรับปรุงบำรุงดินพัฒนาและส่งเสริมด้านปศุสัตว์ด้านการประมงด้านพืชและการส่งเสริมอาชีพเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จภายใต้แนวคิด “สร้างน้ำ เพิ่มป่า พัฒนาชีวิต ที่พอเพียง”

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_294319