ค้นหา

“ปลากะพง” นักล่าผู้พิชิต “ปลาหมอคางดำ” ฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหาร

สินี ศรพระราม นักวิชาการอิสระ
เข้าชม 10 ครั้ง

การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของแหล่งน้ำและการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็น 1 ใน 5 แผนปฏิบัติงานหลักของกรมประมง โดยพุ่งเป้าปล่อยสัตว์น้ำเพิ่มความหลากหลายในแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัว ซึ่งมาตรการสำคัญก่อนไปถึงขั้นตอนการฟื้นฟู คือ การปล่อยปลานักล่าตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำ ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนปล่อยไปแล้วมากกว่า 100,000 ตัว จากเป้าหมาย 200,000 ตัว ลงไปกำจัดปลาหมอคางดำให้เหลือน้อยที่สุดและควบคุมให้อยู่ในพื้นที่จำกัด  

ภายใต้แผนปฎิบัติงานดังกล่าว ปลานักล่าสำคัญที่จะออกปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ คือ ปลากะพงขาว ปลาอีกง ปลาชะโด เป็นต้น มีเป้าหมายในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด ทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยพุ่งเป้ากำจัดประชากรปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 5,000 ตัน (5 ล้านตัว) 

“ปลากะพงขาว” หนึ่งในปลานักล่าหลักที่ถูกจัดอยู่ในปลากลุ่มกินเนื้อ มีลักษณะเป็นปลานักล่า ปัจจุบันมีฟาร์มเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวในประเทศจำนวนมากที่เพิ่มจำนวนประชากรปลาได้ตามความต้องการ เรียกได้ว่าเป็นปลาที่มีประสิทธิในการกินเหนือกว่าปลาหมอคางดำ โดยเกษตรกรจะใช้ปลาหมอคางดำเป็นปลาเหยื่อ ปล่อยในบ่อเลี้ยงเป็นอาหารของปลากะพง ซึ่งการปล่อยปลาหมอคางดำต้องคำนึงถึงขนาดและปริมาณที่เหมาะสมกับปลากะพงในบ่อเลี้ยง เพื่อให้มั่นใจว่าปลาหมอคางดำที่ปล่อยลงไปจะถูกกำจัดหมด

นอกจากนี้ ปลากะพงขาว ยังเป็นปลาที่กรมประมงแนะนำให้ปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อกินไข่ปลาหมอคางดำ ตัดวงจรการเจริญพันธุ์ของปลาชนิดนี้ที่แพร่ระบาดในแหล่งน้ำ 19 จังหวัด โดยมีเป้าหมายปล่อยปลาไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัวในปี 2567 มาตรการนี้มีบริษัทเอกชน เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) จำกัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สนับสนุนการปล่อยปลาตามแนวทางของภาครัฐ จนถึงขณะนี้บริษัทเอกชนมีการปล่อยปลาแล้วไม่น้อยกว่า 100,000 ตัว 

การเดินหน้าปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่องตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา เห็นผลสัมฤทธิ์จากการรายงานผลของประมงจังหวัดที่ปลาหมอคางดำลดลง เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา เป็นต้น และเป็นแรงขับเคลื่อนขั้นตอนการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพตามความเหมาะสมของแหล่งน้ำไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัว

ในบริบทการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่สามารถควบคุมและแก้ปัญหาได้หากแต่ต้องใช้เวลาและทำอย่างถูกต้องเป็นระบบและต่อเนื่อง และปลาชนิดนี้ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ เห็นได้จากปลาหมอคางดำยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนหลักของคนในทวีปแอฟริกา แม้ไม่มีปลาหมอคางดำ โลกก็ต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารจากการสิ้นสุด “ภาวะโลกร้อน” เข้าสู่ “ภาวะโลกเดือด” และจะส่งผลรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อคุณภาพอากาศและน้ำต่ำลง ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ของระบบการผลิตอาหารบนโลกนี้ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ พืช และวัตถุดิบอื่นๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว  เพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และมีการคาดการณ์ว่าอาหารเพื่อเลี้ยงประชากรโลกจะลดลงต่อเนื่องใน 30 ปีข้างหน้า พืชและสัตว์บางส่วนจะหายไปหรือสูญพันธุ์ เช่น กล้วย กาแฟ เป็นต้น  

สำคัญที่สุด คือ การฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหาร ควรส่งเสริมความรู้ให้กับผู้บริโภคทุกคนเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใส่ใจการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันต้องเร่งคืนสมดุลธรรมชาติเพื่อลดความร้อนของอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ควบคู่กับการฟื้นฟูแหล่งผลิตอาหารที่เสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://siamrath.co.th/n/579705