ค้นหา

ชาวนาเฮ! แล้งนี้ทำนาปรังได้ทะลุ 10 ล้านไร่ – ราคาข้าวยังดี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เข้าชม 10 ครั้ง

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำในปี 2567 ที่มีค่อนข้างมาก ส่งผลให้กรมชลประทานสามารถเก็บกักน้ำ เพื่อใช้ได้ในทุกกิจกรรม และเกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้ โดยเฉพาะชาวนาสามารถทำนาปรังได้เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านไร่ ซึ่งจะส่งผลให้ปีนี้ชาวนาน่าจะมีรายได้ที่สูงขึ้น เพราะราคาข้าวยังสูงอยู่ เชื่อว่าโดยรวมรายได้เกษตรกรในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นได้แต่นอน

สำหรับ แผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งเพื่อการเพาะปลูก ปี 2567/68 ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2567-30 เม.ย. 2568 ทั้งประเทศ มีน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พ.ย. 2567 ปริมาณ รวมทั้งสิ้น 44,250 ล้านลบ.ม. มากกว่าปี 2566 ปริมาณ 3,863 ล้านลบ.ม. ส่งผลให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศ 10.02 ล้านไร่เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านไร่ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้ได้รวม 14,992 ล้านลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้วถึง 3,407 ล้านลบ.ม. เพียงพอปลูกข้าวนาปรังได้จำนวน 6.47 ล้านไร่ มากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 5.5 แสนลบ.ม. ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 0.75 ล้านไร่ ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา

พื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง มีปริมาณน้ำใช้ได้ถึง 9,514 ล้านลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมา 781 ล้านลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงเพาะปลูกข้าวนาปรังตามแผนที่วางไว้ประมาณ 0.84 ล้านไร่ ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือ มีปริมาณน้ำใช้การได้กว่า 3,846 ล้านลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมา 1,367 ล้านลบ.ม. กรมชลประทานได้วางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังไว้ 0.63 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 0.2 ล้านไร่

แผนจัดสรรน้ำฤดูฝน ปี 2568 จำนวน 29,170 ล้านลบ.ม. และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝน ปี 2568 จำนวน 15,080 ล้านลบ.ม. สำหรับ 4 กิจกรรม ประกอบด้วย เพื่ออุปโภค-บริโภค 3,050 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 10% ของแผนฯ, รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 8,765 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 30% ของแผนฯ, เพื่อเกษตรกรรม 16,555 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 57% ของแผนฯ และ เพื่ออุตสาหกรรม 800 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 3% ของแผนฯ

คาดว่า 1 พ.ค. 2568 จะมีปริมาณน้ำเก็บกัก 44,032 ล้านลบ.ม. และปริมาณน้ำใช้การ 20,489 ล้านลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะบริหารจัดการเพื่อการเกษตรจนสิ้นสุดฤดูแล้งนี้

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำที่ใช้ได้รวม 7,375 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 1,333 ล้านลบ.ม. เนื่องจากมีปริมาณฝนตกทางตอนล่างของภาคค่อนข้างน้อย แต่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกจากเดิมได้ถึง 0.06 ล้านไร่ รวมแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 1.10 ล้านไร่ โดยในพื้นที่ตอนบน อาทิ จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้อย่างเหมาะสม

ส่วนตอนล่างบางแห่ง อาทิ จ.นครราชสีมา และ จ.บุรีรัมย์ มีฝนตกน้อยและปริมาณน้ำลดลง ได้วางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อสนับสนุนน้ำในการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดช่วงหน้าแล้งนี้

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.khaosod.co.th/economics/news_9503816