นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้นางออร์นา ซากิฟ (H.E.Ms.Orna Sagiv) เอกอัครราชฑูตวิสามัญ ผู้มีอำนาจเต็มแห่งรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย เข้าพบ เพื่อแนะนำตัวและแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง และรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับภาคธุรกิจของอิสราเอลที่ดำเนินกิจการในประเทศไทย พร้อมรับทราบนโยบายเกี่ยวกับทิศทางและแผนการทำงานของรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังหารือความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการริเริ่มด้านอุตสาหกรรมสีเขียว ด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และด้านพัฒนาการทางเกษตรและอุตสาหกรรม โดยมีนางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายธีรทัศน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ ห้องรับรอง 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
เอกอัครราชฑูตฯ อิสราเอล กล่าวว่า นโยบายหลักของภาคอุตสาหกรรมรัฐอิสราเอล คือ การสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อการส่งออก โดยมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและก่อให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมการแข่งขันทางด้านนวัตกรรมของบริษัทภายในประเทศและบริษัทข้ามชาติ ปัจจุบันมีธุรกิจ Start-up มากกว่า 5,000 แห่ง รวมทั้งมีบริษัทข้ามชาติเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนามากกว่า 300 แห่ง โดยภาครัฐได้แก้ไขกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สินประเภททุน และสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ นอกจากนี้ รัฐอิสราเอลยังเป็นประเทศผู้ผลิตแร่โบรไมด์มากที่สุด รวมถึงเป็นผู้ผลิตหินฟอสเฟส แร่โพแทช และโลหะแมกนีเซียมที่สำคัญของโลก สกัดได้จากทะเล Dead Sea และการทำเหมืองในทะเลทราย โดยมีกระบวนการผลิตเหมืองแร่ที่ครบถ้วนและทันสมัย ด้านการค้าระหว่างไทยกับรัฐอิสราเอลในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา (2562 – 2566) มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 1,243.53 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญในปี 2566 ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว ไม้และผลิตภัณฑ์ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ปุ๋ยและยำกำจัดศัตรูพืช เครื่องจักร ไฟฟ้าและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ผักและผลไม้ นอกจากนี้ได้มีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน คณะกรรมการร่วมมือทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) อีกด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จึงต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ไปพร้อมกับการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม มีความมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และทักษะคุณภาพแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดนโยบายมุ่งเน้นการปฏิรูป 3 ด้าน ได้แก่ การปฏิรูปที่ 1) การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน 2) Save อุตสาหกรรมไทย และ 3) การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ โดยจะดำเนินการใน 3 แนวทาง คือ 1) การสร้างความร่วมมือ พันธมิตรห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบ 2) การจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูประบบอุตสาหกรรม และ 3) การปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล สร้าง Ease of Doing Business
การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานให้บรรลุตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน ส่งเสริมและยกระดับสถานประกอบการให้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นไปตามเป้าหมายการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตามแนวคิด BCG เพื่อการขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ที่ตอบโจทย์ประเทศไทยและประชาคมโลก มีความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กับการกระจายรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนแข่งขันได้ในระดับสากล
“เรายินดีให้ความร่วมมือเพื่อการส่งเสริม พัฒนา และอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการหาพบปัญหาหรือติดขัดในการประกอบกิจการของภาคอุตสาหกรรม”