ค้นหา

ผักคู่หู ปลูกคู่กัน ช่วยไล่ศัตรูพืชให้กันและกัน

เทคโนโลยีชาวบ้าน
เข้าชม 14 ครั้ง

ไหนใครปลูกผักบางชนิดแล้วไม่ได้ปริมาณตามที่ต้องการ ผักบางชนิดไม่โต บางชนิดไม่ออกผล เทคนิคง่ายๆ ที่ปลูกผักยังไงก็ได้ผล นั่นก็คือการรู้จักว่าผักชนิดไหนปลูกร่วมกันได้ สาเหตุมาจากบางชนิดก็แย่งอาหารกัน บางชนิดก็เป็นเพืชที่มีศัตรูพืชชนิดเดียวกัน และชนิดไหนไม่ควรปลูกร่วมกัน ฉะนั้นจึงต้องใช้วิธีแก้ด้วยการปลูกพืชชนิดอื่นๆ คั่นกลางพืชเหล่านี้ หรือแยกแปลงปลูกให้อยู่ห่างกันอย่างน้อย 50 เซนติเมตรขึ้นไป ใครสายปลูกผัก วันนี้เทคโนโลยีชาวบ้าน มีเคล็ดลับการปลูกผักคู่กัน มาแนะนำไปดูว่ามีชนิดไหนที่สามารถปลูกแปลงเดียวกันได้บ้าง 

ฟักทอง ควรปลูกคู่กับ Carrot , Radish
ฟักทอง มีลำต้นเลื้อยไปตามพื้น มีหนวดเกี่ยวพันไปตามพื้นดิน จึงต้องการพื้นที่ในการปลูกเยอะ โดยให้เว้นระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 0.75-1.5 เมตร ฟักทองชอบอากาศร้อนและแห้ง ต้องการแสงแดดเต็มที่ตลอดทั้งวัน

สำหรับขั้นตอนการปลูกนั้น ฟักทองจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ 80-95 วัน หลังหยอดเมล็ด โดยจะต้องเพาะกล้าก่อน ซึ่งต้องเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ อัตราการงอกสูง จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของผลผลิตที่มีคุณภาพ  และนอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตออกมาได้คุณภาพ ต้องใส่ใจเรื่องการจัดการภายในแปลงด้วย

การปลูกฟักทอง จะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีความชื้นในดินที่พอเหมาะ จึงควรใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วในการย่อยดิน เพื่อให้ดินมีความร่วนซุย สามารถระบายน้ำได้ดี หากที่ดินนั้นเคยใช้เพาะปลูกมานาน ควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดด้วย และควรไถดินให้ลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร เพราะฟักทองเป็นพืชที่มีระบบรากแบบฝังลึก

การเก็บเกี่ยวสำหรับฟักทองพันธุ์เล็ก สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุ 45-60 วัน ส่วนฟักทองพันธุ์กลางจนถึงพันธุ์ใหญ่ 120-180 วัน หากต้องการเก็บผลอ่อน ให้สังเกตที่เปลือก ถ้าฟักทองยังอ่อนผิวจะนิ่ม  สีเขียว และเนื้อข้างในจะนุ่ม ส่วนผลที่แก่จัดเต็มที่ ผิวเปลือกจะแข็ง และควรเก็บให้เหลือเถาประมาณ 7-10 ซม. ติดมาด้วย เพื่อยืดอายุและรักษาผลของฟักทองที่เก็บเกี่ยวมาให้อยู่ได้นานที่สุด

กุยช่าย ควรปลูกคู่กับ   หน่อไม้ฝรั่ง , หม่อน , มะเขือเทศ

กุยช่าย สามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ในประเทศไทย เป็นพืชที่ชอบชื้นแต่ไม่ชอบแฉะ การเตรียมดินต้องไถตากดินทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน แล้วปรับปรุงคุณภาพดิน เติมอินทรียวัตถุ และปรับค่า pH ของดินให้อยู่ประมาณ 7.1-7.2

การเตรียมดิน ไถพลิกดิน ตากแดดประมาณ 15 วัน ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร โรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน กำจัดวัชพืช โดยเฉพาะหญ้าแห้วหมู ย่อยหรือพรวนดิน และเตรียมแปลง

เมื่อต้นกล้ามีอายุครบกำหนด ลำต้นแข็งแรง ให้รดน้ำแปลงที่จะปลูกให้ชุ่ม นำกล้าลงปลูกใช้ระยะปลูก 30 x 30 เซนติเมตร หลุมละ 3 ถึง 4 ต้น รดน้ำให้ชุ่ม กุยช่ายจะอยู่ได้ 3 ถึง 4 ปี แล้วแยกกอปลูกแปลงใหม่
คลุมแปลงปลูกด้วยฟางข้าวหรือแกลบ ดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย จนอายุประมาณ 7 ถึง 8 เดือน จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้

กุยช่ายเป็นพืชที่มีโรคและแมลงรบกวนน้อยกว่าพืชชนิดอื่นๆ เนื่องจากกลิ่นที่ฉุนช่วยเป็นเกราะป้องกันด้วยตัวเอง มีโรคและแมลงไม่กี่ชนิดที่สามารถเข้าทำลายกุยช่ายได้

พริก ควรปลูกคู่กับ   หัวหอมใหญ่ , กะเพรา , มะเขือเทศ , กระเจี๊ยบเขียว

วิธีปลูกพริก ปลูกได้ทั้งในสภาพไร่และสภาพสวนแบบยกร่อง การปลูกสภาพไร่ มักปลูกในที่ดอน อาศัยน้ำฝนและให้น้ำเสริมในช่วงฝนแล้ง จากบ่อน้ำหรือบ่อบาดาล ซึ่งทำให้การผลิตได้ผลไม่สม่ำเสมอ การปลูกในสภาพสวน ส่วนใหญ่ปลูกในบริเวณที่ลุ่มและยกร่องสวน จึงมีน้ำหล่อเลี้ยงได้เกือบตลอดปี ทำให้กำหนดการผลิตได้ในเวลาที่ต้องการ

การเพาะเมล็ดเพื่อปลูก ถ้าต้องการให้มีประสิทธิภาพการงอกของเมล็ด เริ่มต้นด้วยการห่อเมล็ดพันธุ์ในถุงผ้าและแช่ในน้ำทิ้งไว้ 1 คืน ในน้ำควรจะใส่ยาป้องกันราลงไปด้วย เมื่อผ่าน 1 คืนไปแล้วให้นำพริกไปล้างผ่านน้ำไหลอย่างน้อย 30 นาที เก็บถุงผ้าไว้ในที่ร่มและชื้นอีก 2-3 วัน เมื่อเมล็ดงอกตุ่มเป็นรากสีขาวเล็กจึงนำไปเพาะลงถุงชำดี

ช่วงปลูกที่ดีคือ ตอนเย็นที่มีแสงอาทิตย์อ่อนเพราะจะทำให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วกว่าในช่วงที่มีแสงแดดจ้า หลังปลูกแล้ว 10-15 วัน ควรใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนแกง ด้วยวิธีโรยห่างโคนต้นประมาณ 1 คืบ พร้อมกลบดินและรดน้ำตาม หมั่นกำจัดวัชพืชให้แปลงสะอาดอยู่เสมอ พอพริกเริ่มโตจะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ด้วยการหว่าน 15 วันต่อ 1 ครั้ง หรือหากไม่ต้องการใช้ปุ๋ยเคมี สามารถใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแทนได้

การเก็บเกี่ยวผลผลิต พริกจะเริ่มออกดอกหลังจากย้ายปลูกแล้ว 60-70 วัน และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมีอายุ 90-100 วัน โดยสามารถเก็บได้นานประมาณ 6 เดือน

ขึ้นฉ่าย ควรปลูกคู่กับ   กะหล่ำดอก , แตงกวา , กะหล่ำปลี , มะเขือเทศ , กระเทียม

การปลูกขึ้นฉ่ายนั้น หากอยากให้ลำต้นมีสีขาว ก็ควรหุ้มด้วยฟางหรือดิน หรือตีไม้เป็นกรอบรอบๆ ต้น ให้แต่ละส่วนของใบโผล่ขึ้นมา 1 ส่วน 4 ของความสูงของลำต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนล่างโดนแสง การบังแสงนี้จะทำประมาณ 3 สัปดาห์ จึงเอาออก ก็จะทำให้ได้ก้านใบขาว กรอบ หากไม่บังแสง ก้านใบจะมีสีเขียวจัด 

หลังจากการย้ายกล้าลงแปลงใหม่ๆ ควรทำร่มเงาบังแสงแดดอยู่ประมาณ 3-4 วัน โดยค่อยๆ เปิดให้โดนแสงมากขึ้นทีละน้อยๆ จนกระทั่งต่อมาเปิดให้โดนแสงได้ตลอดวัน ในช่วงกลางคืนจะได้รับความชื้นจากบรรยากาศเต็มที่ ขึ้นฉ่ายไม่ชอบอากาศร้อนจัด

ควรรดน้ำทั้งตอนเช้าและตอนเย็น แต่ในการรดน้ำตอนเย็นต้องระวังอย่าให้น้ำขังแฉะ เพราะจะทำให้ขึ้นฉ่ายมีเชื้อราเข้าทำลายได้ น้ำที่ใช้รดควรเย็น เพราะผักนี้ชอบความเย็น ส่วนการให้ปุ๋ยนั้น มักใช้สูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 โดยใช้ในอัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ และควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเสริม ในอัตรา 10-20 กิโลกรัม/ไร่ โดยเริ่มใส่เมื่อกล้ามีอายุได้ 10-15 วัน และปุ๋ยไนโตรเจนนั้นควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง โดยใส่แบบหว่าน 

เริ่มนับวันหลังจากการย้ายกล้าไป ประมาณ 50 วัน ถึงจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ โดยในการเก็บนั้นให้เก็บแบบวันเว้นวัน ด้วยการถอนเก็บทั้งต้น ลักษณะของต้นในระยะเก็บเกี่ยวควรอวบอ้วน สีเขียวอ่อนใส กรอบ ใช้เวลาการเก็บเกี่ยวทั้งหมด 30-45 ครั้ง หรือต้องเก็บให้หมดภายในระยะเวลาประมาณ 90 วัน เพราะถ้าหากทิ้งไว้นานกว่านี้จะทำให้ผักเป็นเสี้ยน เหนียว

ผักชี ควรปลูกคู่กับ   กะหล่ำดอก , Carrot , กะหล่ำปลี

การเตรียมดินสำหรับปลูก ด้วยการตากดินสัก 1 สัปดาห์ แล้วพรวนดินให้แตกเป็นก้อนเล็ก ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยสดคลุกเคล้าเข้าไป บดเมล็ดพันธุ์ผักชีที่ซื้อมาให้แตกออกเป็น 2 ซีก แล้วนำเมล็ดไปแช่น้ำประมาณ 2-3 ชั่วโมง นำเมล็ดพันธุ์ผักชีที่แช่น้ำแล้วไปผึ่งลม ผสมกับทรายหรือขี้เถ้าเล็กน้อย เมื่อเห็นเมล็ดเริ่มงอก ให้นำไปใส่กระถางปลูกที่เตรียมดินเอาไว้แล้ว จากนั้นคลุมด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

ผักชีเป็นผักที่ต้องการน้ำมาก ฉะนั้นควรจะรดน้ำให้สม่ำเสมอวันละ 2 ครั้ง แต่อย่ารดมากจนเกินไปจะทำให้ผักชีเน่าได้ง่าย เพราะผักชีไม่ชอบน้ำขัง และการกำจัดวัชพืชก็สามารถกำจัดได้ทันที ในส่วนของการใส่ปุ๋ยนั้นให้เริ่มใส่ในช่วงที่ผักชีเริ่มแตกใบแล้ว เพราะจะทำให้ได้รับสารอาหารจากตัวปุ๋ยได้เต็มที่

เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 40-45วัน ก่อนการเก็บเกี่ยวควนรดน้ำให้ซุ่มแปลงดินเพื่อการถอนผักชีที่ง่ายขึ้นทำให้ต้นผักชีไม่ขาด การเก็บเกี่ยวผักชีทำได้โดยการใช้มือจับที่โคนรากแล้วถอนดึงขึ้นมา แล้วสะบัดดินออก แล้วน้ำไปล้างน้ำ คัดใบสีเหลืองหรือใบที่เน่าออก  มัดๆเป็นกำแล้วใส่ตะกร้าเพื่อทำการขนส่งต่อไป ต้นผักชีที่เป็นสีเขียวสม่ำเสมอจะขายได้ราคาดี

สาระแหน่ ควรปลูกคู่กับ   Carrot , Radish

สะระแหน่เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีกับสภาพดินที่มีความร่วนซุยระบายน้ำได้ดี ต้องการแสงสว่าง และชอบอากาศที่เย็น ดังนั้น แสงแดดที่ร้อนเกินไปจึงไม่เป็นผลดีต่อการปลูกมากนัก การปลูกในที่ร้อนจัดจึงโตไม่ดี การปลูกจำต้องอาศัยที่รำไร หรือกลางซาแรนช่วยพรางแสงและฝนให้ด้วย เพราะหากโดนฝนมากไปก็จะทำให้เกิดโรคเชื้อราและใบเน่าได้ สะระแหน่ไม่ชอบปุ๋ยเคมีเลย เจอเป็นยุบ โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรียและปุ๋ยสูตรต่างๆ

ดินปลูกสะระแหน่ต้องมีสัดส่วนของอินทรียวัตถุมากๆ เช่น มูลสัตว์ ใบไม้ ขุยกาบมะพร้าว แต่ถ้าต้องการจะบำรุงให้ได้ต้นที่อวบอ้วน ปุ๋ยที่ดีที่สุดคือ น้ำล้างปลา ที่มีทั้งเมือกคาว เลือด หรือน้ำล้างเนื้อ ล้างไก่ ก็ได้ คือสุดยอดปุ๋ยสำหรับสะระแหน่

ปลูกโดยการชำก้านหรือชำยอดอ่อน ควรใช้วิธีชำแบบ “ควบแน่น” คือชำในกระถางขนาดกลาง ใส่ลงในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ชำแล้วปิดปากถุงให้แน่น วางไว้ที่แสงรำไร 3 วัน 5 วัน ได้ต้นสะระแหน่ใหม่ เปิดถุง เอากระถางออกมา แยกต้นปลูกลงกระถางใหม่ หรือแปลงดินที่เตรียมไว้ได้ แต่ต้องการแสงสว่าง แต่ไม่ต้องการแดดที่ร้อนจัดเกินไป ควรปลูกในที่ร่มแดดรำไรจะงอกงามดี

ระยะเวลาเก็บเกี่ยว : ประมาณ 40 วัน โดยสาระแหน่ 1 รุ่น จะให้ผลผลิตได้นานถึง 1 ปี

ถั่วฝักยาว ควรปลูกคู่กับ   กะหล่ำดอก , มันฝรั่ง , กะหล่ำปลี

ถั่วฝักยาวสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ลักษณะดินที่มีความเหมาะสมในการปลูก คือ ดินร่วนทราย หรือดินร่วนปนทราย และความเป็นกรดและด่างของดิน (pH) มีค่าระหว่าง 5.5-6

ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรแฉะเกินไป ระยะเจริญเติบโตหลังจากถอนแยกแล้วควรให้น้ำทุก 3-5 วันต่อครั้ง ให้ตรวจสอบความชื้นในดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ระบบการให้น้ำอาจใช้วิธีการใส่น้ำเข้าตามร่อง หรืออาจจะใช้วิธีการตักรดโดยตรง ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่มี สภาพพื้นที่ปลูก

หลังจากถั่วฝักยาวงอกแล้ว ต้องคอยดูแลวัชพืชในแปลงปลูก หลังจากเมล็ดงอกแล้วประมาณ 10-15 วัน คอยสังเกตวัชพืชในแปลง หากพบวัชพืชควรกำจัด

ผักคู่หู ปลูกคู่กัน จะส่งผลให้ผักเจริญเติบโต จากงานวิจัยในต่างประเทศที่ทดลองปลูกผักคู่หู พบว่าผักเหล่านี้จะเป็นทั้งร่มเงาให้กัน ช่วยไล่ศัตรูพืชให้กันและกัน ไม่แย่งธาตุอาหารทั้งยังช่วยผสมเกสรให้ออกผลได้มากขึ้น

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_258545