ค้นหา

เห็นแววปีทองข้าวไทย ราคาพุ่งทั้งข้าวส่งออก-ข้าวเปลือก 10 เดือนขาย 8.35 ล้านตัน ลุ้นทั้งปีทะลุ 9 ล้านตัน

กรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
เข้าชม 13 ครั้ง
  • การประเมินครั้งแรก (ต้นปี): คาดการณ์ส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน
  • การทบทวนกลางปี: มีการทบทวนตัวเลขส่งออกใหม่ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง (รายละเอียดปริมาณใหม่ยังไม่ระบุในเนื้อหา)
  • ความร่วมมือ: กรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ร่วมกันประเมินและทบทวนสถานการณ์

สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยในปี 2567 เดิมกรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้ร่วมกันประเมินไว้เมื่อช่วงต้นปีว่าจะทำได้ปริมาณ 7.5 ล้านตัน แต่พอถึงกลางปี มีการหารือร่วมกันใหม่อีกครั้ง เพื่อทบทวนแนวโน้มและสถานการณ์การรส่งออกข้าวไทย หลังพบว่า มีการเติบโตต่อเนื่อง จึงได้ปรับคาดการณ์ส่งออกใหม่มาอยู่ที่ปริมาณ 8.2 ล้านตัน และขยับเป็น 9 ล้านตัน ตามลำดับ โดยคาดว่า จะทำมูลค่าได้สูงถึง 230,000 ล้านบาท

การปรับเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในปี 2567 สูงถึง 3 ครั้ง เป็นผลมาจากความต้องการข้าวไทยในตลาดโลก ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และยังได้รับผลดีจากการดำเนินการตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ที่เป็นเรือธงสำคัญในการขับเคลื่อนผลักดันตัวเลขการส่งออกข้าวไทยในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับข้อสั่งการของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้เร่งผลักดันการส่งออกข้าวทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่ ก็ยิ่งเป็นแรงหนุน ทำให้ข้าวไทยขายได้มากขึ้น

10 เดือนส่งออกแล้ว 8.35 ล้านตัน

สำหรับสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยในช่วง 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยส่งออกได้แล้วปริมาณ 8.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.32% และมีมูลค่า 191,031 ล้านบาท (ประมาณ 5,411 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 39.81%

โดยตลาดส่งออกข้าวไทยที่สำคัญในช่วง 10 เดือน ได้แก่ อินโดนีเซีย ปริมาณ 1.12 ล้านตัน คิดเป็น 13.41% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ อิรัก 11.38% แอฟริกาใต้ 8.62% สหรัฐอเมริกา 8.38% และฟิลิปปินส์ 5.87%

ส่วนชนิดข้าวส่งออกที่สำคัญ ไทยส่งออกข้าวขาวมากเป็นอันดับหนึ่งที่ปริมาณ 5.18 ล้านตัน คิดเป็น 62.04% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย 16.40% ข้าวนึ่ง 12.10% ข้าวหอมไทย 6.47% ข้าวเหนียว 2.75% และข้าวกล้อง 0.24% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปีกำลังออกสู่ตลาด ส่งผลให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ประกอบกับมีความต้องการซื้อข้าวไทย (ข้าวใหม่) ในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ทำให้คาดการณ์ว่า ปี 2567 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้กว่า 9 ล้านตันอย่างแน่นอน

ไม่เพียงส่งออกเพิ่ม ราคาก็เพิ่มด้วย

การส่งออกที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพิ่มขึ้นแค่ปริมาณ แต่ราคาส่งออกยังปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยในปี 2567 ราคาเฉลี่ยส่งออกข้าวไทยทุกชนิดในช่วง 10 เดือน (ม.ค.–ต.ค.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งจากรายงานข้อมูลราคา FOB ส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีดังนี้

ข้าวหอมมะลิ (ข้าวใหม่) มีราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 935 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 7.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 869 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ข้าวหอมปทุมธานี (ข้าวหอมไทย) มีราคาส่งออกเฉลี่ยประมาณ 875 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 24.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคาอยู่ที่ 702 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งทำสถิติครองแชมป์ ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุด

ข้าวขาว มีราคาส่งออกเฉลี่ยประมาณ 603 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 11.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคาอยู่ที่ 540 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ข้าวนึ่ง มีราคาส่งออกเฉลี่ยประมาณ 601 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 10.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคาอยู่ที่ 542 เหรียญสหรัฐ/ตัน

ข้าวเหนียว มีราคาส่งออกเฉลี่ยประมาณ 818 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 0.62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคาอยู่ที่ 813 เหรียญสหรัฐ/ตัน

สะท้อนราคาข้าวเปลือกปรับตัวขึ้นตาม

ราคาส่งออกข้าวสารที่สูงขึ้น ได้สะท้อนกลับไปเป็นราคาข้าวเปลือกให้ปรับตัวสูงขึ้นตาม ทำให้สร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสูงขึ้นเช่นกัน โดยจะเห็นว่าราคารับซื้อข้าวเปลือกจากข้อมูลของกรมการค้าภายใน ในช่วง 10 เดือนของปี 2567 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีเดียวกันของปี 2566 ดังนี้

ข้าวเปลือกหอมมะลิ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15,547 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 7.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 14,414 บาท/ตัน

ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี (ข้าวหอมไทย) มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 14,928 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 29.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 11,558 บาท/ตัน

ข้าวเปลือกเจ้า (ข้าวขาว/ข้าวนึ่ง) มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 11,686 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 9.87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 10,636 บาท/ตัน

ข้าวเปลือกเหนียว มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 13,661 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 6.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 12,804 บาท/ตัน

ปัจจัยหนุนราคาข้าวไทย

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน มาจาก

1.การดำเนินมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดียทั้งการระงับการส่งออกข้าวขาวตั้งแต่เดือน ก.ค.2566 และการเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่งตั้งแต่เดือน ส.ค.2566 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือน ต.ค.2567 ส่งผลให้ภาพรวมราคาส่งออกข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

2.ความต้องการนำเข้าข้าว (Demand) ของประเทศผู้นำเข้าข้าวสำคัญที่มีอย่างต่อเนื่อง เช่น อินโดนีเซีย อิรัก และฟิลิปปินส์ เพื่อใช้บริโภคและเก็บเป็นสต็อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศของประเทศผู้นำเข้า รวมถึงบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อด้านอาหาร โดยผลผลิตข้าวของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ลดลงกว่า 0.88 ล้านตัน และ 0.30 ล้านตัน ตามลำดับ รวมถึงตลาดสหรัฐอเมริกาที่มีความต้องการข้าวหอมมะลิไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

3.ปริมาณผลผลิตข้าวของไทยเพียงพอพร้อมตอบสนองความต้องการของตลาดข้าวโลก มีศักยภาพและมีความพร้อมในการส่งมอบข้าวให้ผู้นำเข้าอย่างต่อเนื่อง

แผนดีความสำเร็จมา

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ความสำเร็จของการส่งออกข้าวไทยในช่วง 10 เดือน ของปี 2567 ที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่า เป็นผลมาจากการนโยบายที่ดีตามข้อสังการของนายพิชัย และกรมการค้าต่างประเทศมีแผนงานขับเคลื่อนที่ดี ที่ได้ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ทั้งการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของข้าวไทยและสนับสนุนให้เกิดความนิยมในการบริโภคข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคต่างประเทศ

โดยที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก ทั้งการกระชับความสัมพันธ์และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในประเทศคู่ค้าข้าวสำคัญ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันการส่งออกข้าวไทยกับประเทศผู้นำเข้าสำคัญอย่างอินโดนีเซีย จีน และฟิลิปปินส์ รวมทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติประจำปี เพื่อเพิ่มโอกาสและขยายช่องทางตลาดของข้าวไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ เช่น งาน China-ASEAN Expo – CAEXPO จีน (หนานหนิง) งาน SIAL ฝรั่งเศส และงาน China International Import Expo (CIIE) จีน (เซี่ยงไฮ้)

นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้จัดงาน Thailand Rice Convention (TRC) สัญจร โดยการลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มความต้องการข้าวในตลาดโลก เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น และงาน Thai Rice Networking Forum 2024 เมื่อเดือน ก.ย.2567 ซึ่งเพิ่มโอกาสในการเจรจาธุรกิจการค้าระหว่างผู้ส่งออกข้าวไทยกับผู้นำเข้าข้าวนานาประเทศ และล่าสุดเมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ได้รับรองคณะผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงเดินทางเยือนไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่ฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของไทย

ปี 2568 เดินหน้ารักษาตลาดข้าวไทย

สำหรับปี 2568 คาดว่า ปริมาณการส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มลดลงจากปี 2567 จากการกลับมาส่งออกข้าวของอินเดีย เนื่องจากอินเดียมีผลผลิตข้าวปริมาณมาก และมีสต็อกข้าวอยู่ในระดับสูง จากการควบคุมการส่งออกข้าวในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งมีราคาส่งออกข้าวที่ต่ำกว่าไทย และปริมาณผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะภัยแล้งคลี่คลายและมีน้ำสำหรับการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น ประกอบกับคาดว่าประเทศผู้นำเข้าข้าวสำคัญอย่างอินโดนีเซีย อิรัก และมาเลเซีย มีแนวโน้มนำเข้าข้าวลดลง ทำให้การค้าข้าวในตลาดโลกมีการแข่งขันสูงและปัจจัยด้านราคามีผลต่อการตัดสินใจนำเข้าข้าวมากยิ่งขึ้น และเมื่อพูดถึงเรื่องราคาก็ไม่อาจเลี่ยงได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการกำหนดราคาส่งออก

นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน และสถานการณ์ความผันผวนของค่าระวางเรือที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น แต่ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าว อาจทำให้ผู้นำเข้าข้าวบางประเทศนำเข้าข้าวเพื่อเก็บเป็นสต็อกสำรองเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ก็อาจเป็นโอกาสในการส่งออกข้าวเช่นกัน

ทั้งนี้ ในปี 2568 นายพิชัยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และได้สั่งการให้กรมการค้าต่างประเทศเตรียมรับมือกับสถานการณ์และจัดทำแผนรองรับการผลักดันการส่งออกข้าวในปี 2568 ไว้แล้ว โดยมีแผนผลักดันการส่งออกข้าวไทยครอบคลุมทั้งการรักษาตลาดเดิม เช่น แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ การรุกตลาดใหม่รวมถึงตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ยุโรป แคนาดา และภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีแนวโน้มต้องการเพิ่มความมั่นคงทางอาหารสอดรับกับนโยบายรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ยังมีแผนการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติ Thailand Rice Convention (TRC) ซึ่งเป็นงานประชุมใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญในวงการค้าข้าวโลกมาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ตลาดข้าวโลกและเจรจาธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งทั้งหมดจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้มีคำสั่งซื้อรองรับผลผลิตข้าวไม่ให้อุปทานข้าวส่วนเกินกดทับราคาตลาด ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวภายในประเทศไม่ให้ปรับตัวลดลงกระทบต่อราคาที่เกษตรกรขายได้

ส่วนในระยะยาว ไทยจำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิตข้าว พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา รวมถึงการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวให้หลากหลายสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละตลาด และมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Rice) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรองรับมาตรการทางการค้าของประเทศผู้นำเข้าข้าวในอนาคตด้วย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยให้ไทยคงความเป็นผู้นำด้านการส่งออกข้าวคุณภาพดีในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://mgronline.com/business/detail/9670000111868?utm_source=taboola&utm_medium=organic_content_recirculation