หลายคนจะรู้หรือไม่ “เขื่อนพระราม 6” มีอายุ 100 ปีแล้ว เป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกในประเทศไทย ก่อสร้างตามหลักวิชาการสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 สร้างแล้วเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2467 เดิมชื่อ “เขื่อนพระเฑียรราชา” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “เขื่อนพระราม 6” โดยสร้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ “กรมชลประทาน”
เขื่อนพระราม 6 ตั้งอยู่หมู่ 5 ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเขื่อนคอนกรีต มีขนาดช่องระบายน้ำกว้าง 12.50 เมตร สูง 7.80 เมตร จำนวน 6 ช่อง เดิมปิดเปิดด้วยแรงคน ปัจจุบันปิดเปิดด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า สามารถทดน้ำไว้เหนือเขื่อนได้สูงสุดที่ระดับ +7.80 เมตร และระบายน้ำท้ายเขื่อนได้สูงสุด 1,800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
โดยทางฝั่งขวาของตัวเขื่อน มีประตูน้ำหรือประตูเรือสัญจร มีพระราชทานนามว่า “ประตูน้ำพระนเรศ” เพื่อให้เรือในแม่น้ำป่าสักผ่านขึ้นล่องได้ตามปกติ ส่วนทางฝั่งซ้ายของเขื่อน มีประตูระบายน้ำ มีพระราชทานนามว่า “ประตูระบายน้ำพระนารายณ์” เพื่อระบายน้ำแม่น้ำป่าสักที่ทดไว้เข้าสู่คลองระพีพัฒน์ ส่งน้ำให้กับพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ นครหลวง และสำนักงานชลประทานที่ 11 บางส่วน ถึง อ.หนองแค จ.สระบุรี รวมความยาว 32 กิโลเมตร
และที่สำคัญ เขื่อนพระราม 6 สร้างประโยชน์สำหรับพื้นที่เพาะปลูกในเขต จ.สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และทุ่งรังสิต ปทุมธานี เป็นจำนวน 680,000 ไร่ โดยเฉพาะชาวนาได้รับประโยชน์จากการเพาะปลูกข้าว ช่วยยกระดับชีวิต และสร้างอาชีพที่มั่งคง
สุชาติ ศรีสุวรรณ เกษตรกรชาว อ.ท่าเรือ เล่าว่า ได้ทำสวนป่า ปลูกต้นไม้ยืนต้น ซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจที่ทางรัฐบาลส่งเสริมให้มีการปลูก อาทิ ไม้พะยูง ไม้แดง ไม้สัก และมีการทำสวนส่วนผสม ปลูกกล้วย มะม่วง และพืชผักสวนครัว นอกจากนี้มีการขุดบ่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ และเลี้ยงปลา ที่สำคัญเพราะเรามีน้ำทั้งปี ทำให้ต้นไม้ และพืชผักสวนครัวเจริญเติบโต งอกงาม โดยรับน้ำมาจากระบบชลประทาน ที่ส่งมาจากเขื่อนพระราม 6 ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ ช่วงฤดูน้ำหลากช่วยชะลอน้ำ ส่วนฤดูแล้งช่วยเก็บกักน้ำ ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำกิน น้ำใช้ และทำการเกษตร
“ฝากขอบคุณ กรมชลประทาน ที่ได้สร้างเขื่อนพระราม 6 ช่วยจัดสรรน้ำให้เกษตรกรมีน้ำทำสวน ทำนา และใช้อุปโภคบริโภค ที่สำคัญช่วยแก้ปัญหาเรื่องการแย่งน้ำ มีการแบ่งปันน้ำ จึงอยากฝากถึงหน่วยงานชลประทาน ขอให้เดินเคียงคู่เกษตรกรตลอดไป”
ฉลอง ปานเก่า ชาวนา จ.พระนครศรีอยุธยา เล่าวว่า เดิมเป็นคน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ มีอาชีพทำนา แต่ต้องอาศัยน้ำฝนทำการเพาะปลูก ผลผลิตได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางทีลงทุนก็ไม่ได้คืน ต้องไปทำอาชีพรับจ้างหาเงินมาใช้หนี้ จึงได้ย้ายมาปลูกข้าวที่ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พื้นที่ 60 ไร่ กว่า 30 ปีแล้ว อาศัยน้ำชลประทาน ที่ส่งมาจากเขื่อนพระราม 6 ช่วยให้นาข้าวมีผลผลิตที่งอกงาม ประมาณ 80 ถัง/ไร่ ซึ่งตอนนี้นาปีข้าวสุกใกล้เก็บเกี่ยวได้แล้ว และชลประทานก็จะปล่อยน้ำให้ปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง
“ขอบคุณหน่วยงานชลประทาน ที่ดูแลเกษตรกรเป็นอย่างดี และกรมชลประทาน ที่สนับสนุนน้ำ ช่วยให้มีอาชีพ และมีชีวิตที่ดีขึ้น
เขื่อนพระราม 6 แม้จะอยู่ยาวนานเข้าสู่ 100 ปีแล้ว แต่ยังคงทำหน้าที่สร้างประโยชน์ด้านน้ำให้กับเกษตรกร และประชาชน ได้กินได้ใช้ และทำการเกษตร สืบต่อไป