ค้นหา

ม.หอการค้าไทย คาด จีดีพีไทย 68 โต 3% แรงหนุนใช้จ่ายรัฐ-เอกชน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย
เข้าชม 7 ครั้ง

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย คาดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2568 โต 3% จากปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายภาครัฐ-บริโภคเอกชน-ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุน พร้อมมองติดตามนโยบาย ทรัมป์ 2.0 กระทบภาคส่งออก-GDP ประเทศ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้ประมาณการเศรษฐกิจปี 2567-2568 โดยคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2568 ไว้ที่กรอบ 2.8-3.8% ค่ากลางอยู่ที่ 3% โดยมีปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ

แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่กดดันต่อเศรษฐกิจไทย เช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และปริมาณการค้าโลกที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด, ภาระหนี้สินของครัวและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง, ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคการเกษตร, ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ยังมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ จะขยายตัวได้ 2.4% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.1% ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทย (ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ) จะขยายตัวได้ 2.5% ชะลอตัวลงจากปี’67 เนื่องจากผลของฐานที่สูงในปีนี้ ด้านการท่องเที่ยว ประเมินว่าจะมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแตะ 40 ล้านคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.2% อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วง 1.75-2.25% โดยมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยในปีหน้าลงได้อีก 1-2 ครั้ง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในช่วง 34.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาท/ดอลลาร์

“เศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโตได้ 3% แต่ทำอย่างไรจะให้เศรษฐกิจไทยโต 4-5% ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะหากประเทศไทยยังไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศมีโอกาสที่จะโดนประเทศอื่นในอาเซียนแซงหน้า ไทยอาจจะร่วงจากอันดับ 2 ของอาเซียนลงมาอยู่อันดับ 5 อันดับ 6 ได้”

นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังได้วิเคราะห์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยในปี’68 โดยรวมแล้ว 1.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นผลต่อ GDP ที่ 0.93% แยกเป็นมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป) คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 35,600 ล้านบาท คิดเป็นผลต่อ GDP 0.20%

มาตรการแก้ปัญหาหนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 91,700 ล้านบาท คิดเป็นผลต่อ GDP 0.51% มาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 38,500 ล้านบาท คิดเป็นผลต่อ GDP 0.22%

อย่างไรก็ดี มองว่ามาตรการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟส 2 ซึ่งคาดว่าจะได้รับก่อนตรุษจีนปี 2568 นั้น ยังกระตุกเศรษฐกิจในปีหน้าไม่เต็มที่ จำเป็นต้องมีมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน และการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอย ก็อาจจะทำมาตรการในรูปแบบของ Easy E-Receipt เป็นต้น เชื่อว่ารัฐบาลจะตัดสินใจได้ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ แค่รับเงินจากภาษีเงินได้น้อยลงในอนาคต แต่มาตรการนี้จะสามารถอัดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจได้ 3-5 หมื่นล้าน ตามวงเงินของการใช้จ่าย จากที่คาดว่าจะมีประชาชนใช้มาตรการนี้ราว 1 ล้านคน นี่จะเป็นการกระตุกเศรษฐกิจ โดยรัฐไม่ต้องใช้เงิน สิ่งนี้ควรทำ

นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายของทรัมป์ 2.0 ได้ประเมินว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะหายไป 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะการถูกสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไทย โดยเบื้องต้น หากส่งผลกระทบทางตรง จะกระทบต่อการส่งออกไทย ลดลง 1.03% กระทบต่อ GDP ลดลง 0.59% หากกระทบทางอ้อม มีผลกระทบต่อการส่งออกวัตถุดิบ ห่วงโซ่อุปทาน อย่างมาก ทั้งตลาดสหรัฐและจีน

สำหรับปัญหาการเมือง-เสถียรภาพรัฐบาล ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้า เริ่มมีการหยิบยกประเด็น หรือความกังวลที่อาจจะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลว่าจะอยู่ครบ 4 ปีหรือไม่ เช่น MOU 44 การยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจมีผลให้มีการออกมาชุมนุมประท้วงได้ และคำวินิจฉัยของศาลอาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อพรรคร่วมรัฐบาล และเสถียรภาพของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ถ้ารัฐบาลอยู่ต่อได้ก็ไม่มีปัญหา แต่หากมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนที่จะมีงบประมาณแผ่นดิน ปี 2569 จะมีผลต่อการเบิกใช้งบประมาณ ซึ่งก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ แต่นั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.prachachat.net/economy/news-1704922