ค้นหา

เกษตรกรรุ่นใหม่ต่อยอดจากรุ่นพ่อ “ปลาสลิดบ้านแพ้ว” ก้าวใหม่แห่งการแปรรูปและยกระดับมาตรฐาน

ปลาสลิดเกษตรพัฒนา/เทคโนโลยีชาวบ้าน
เข้าชม 64 ครั้ง

การเลี้ยงปลาสลิดเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวที่สืบทอดมา 10 กว่าปี แม้ช่วงแรกจะให้ผลกำไรดี แต่เมื่อปริมาณปลาในตลาดเพิ่มขึ้น ราคาปลากลับลดลง เกษตรกรหลายรายเผชิญกับภาวะขาดทุนรวมไปถึงคุณพ่อวีระ ที่ขาดทุนต่อเนื่องถึง 3 ปี จนกระทั่งคุณยุ้ย-คุณแชมป์ เกิดแนวคิดที่จะเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปปลาสลิด พร้อมทั้งพัฒนาระบบการเลี้ยงและการผลิตให้ได้มาตรฐาน

พูดถึง “ปลาสลิด” หลายคนคงนึกถึงบางบ่อ แต่รู้ไหมว่า “บ้านแพ้ว” ตอนนี้ขึ้นแท่นแหล่งเลี้ยงปลาสลิดที่ใหญ่ที่สุด และถ้าได้เห็นกรรมวิธีการผลิตของ “ปลาสลิดเกษตรพัฒนา” บอกเลยว่าต้องอยากซื้อแน่นอน เพราะใส่ใจทุกขั้นตอน ตั้งแต่เลี้ยงจนถึงมือผู้บริโภค ได้ปลาสลิดสด คุณภาพ ได้มาตรฐาน อย. รับรองถูกใจสายกิน

คุณยุ้ย-อุมารินทร์ เกตพูลทอง รองประธานวิสาหกิจชุมชนปลาสลิดเกษตรพัฒนา

คุณยุ้ย-อุมารินทร์ เกตพูลทอง รองประธานวิสาหกิจชุมชน ปลาสลิดเกษตรพัฒนา จากอดีตพนักงานประชาสัมพันธ์โรงพยาบาล สู่เส้นทางใหม่ที่ไม่ธรรมดา ผันตัวมาพัฒนา “ปลาสลิด” ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน

คุณยุ้ยเล่าความหลังว่า “เมื่อก่อนไม่ทานปลาสลิดเลย เวลาเห็นปลาสลิดในตลาดวางบนกระด้ง มีแมลงวันบินว่อน บางครั้งก็เห็นไข่แมลงวันเกาะอยู่บนตัวปลา ทำให้ไม่กล้ากินตั้งแต่นั้นมา แต่พอกลับมาช่วยที่บ้านที่เลี้ยงปลาสลิด เลยคิดว่า ถ้าเราทำให้ปลาสลิดของเรา สด สะอาด และปลอดภัยได้ ต้องเปลี่ยนความรู้สึกคนกินได้แน่ๆ นี่แหละค่ะ จุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิตปลาสลิดที่เราภูมิใจ”

คุณพ่อวีระ รุ่งแสง ผู้เริ่มต้นเลี้ยงปลาสลิด

คุณพ่อวีระ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่หันมาทำธุรกิจปลาสลิด “ในตอนแรก พ่อทำเกษตรแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จึงเริ่มมองหาทางเลือกใหม่และคิดว่าเศรษฐกิจการเลี้ยงปลาสลิดน่าจะมีอนาคต เพราะเห็นว่าหลายคนเลี้ยงแล้วได้ผลดี ประกอบกับบ้านแพ้วมีน้ำที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลา จึงตัดสินใจลองเริ่มเลี้ยงปลาสลิด และเมื่อแต่ละบ่อประสบความสำเร็จ การเลี้ยงปลาสลิดจึงกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในทั้งอำเภอ”

ซึ่งพ่อจะให้ความสำคัญกับน้ำในบ่อมาก โดยจะรักษาน้ำให้สะอาดอยู่เสมอและไม่ใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด เพราะน้ำที่สะอาดเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเลี้ยงปลาสลิด ปลาจะกินอาหารได้ดีและเติบโตอย่างมีคุณภาพ พ่อจะใส่จุลินทรีย์ลงในน้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อช่วยรักษาคุณภาพน้ำให้สะอาดและไม่มีปัญหากลิ่นสาบโคลน จุลินทรีย์จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่บ่อปลาสลิดของพ่อจะขาดไม่ได้

“ปัญหาขาดทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดเกิดจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่มีราคาสูง ซึ่งเรทราคาอาหารสัตว์จะเริ่มต้นที่ 650 บาทต่อกระสอบ แต่อย่างที่ฟาร์มจะใช้ต้นทุนค่าอาหารสัตว์ราคา 690 บาทต่อกระสอบ เมื่อลงทุนเลี้ยงปลาสลิดในบ่อหนึ่ง จะต้องใช้ต้นทุนรวมเกือบ 2 ล้านบาท ซึ่งผลผลิตที่ได้จากบ่อจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 กิโลกรัม ต่อรอบการเลี้ยง” คุณพ่อวีระ กล่าว

หลายคนที่ทานปลาสลิด มักจะสงสัยว่า “ปลาสลิดทำไมถึงไม่มีหัว” วันนี้เรามีคำตอบ!

ปลาสลิดเป็นปลาที่ส่วนหัวไม่มีเนื้อ จึงไม่มีประโยชน์ในแง่การบริโภค ต่างจากปลาช่อนที่มีเนื้อบริเวณแก้มและคาง แต่พ่อได้นำหัวปลาสลิดมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยทำเป็นปุ๋ยหมักสำหรับใส่สวน ซึ่งกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติที่มีคุณภาพดีมาก

ความท้าทายของเกษตรกรปลาสลิด กำไรที่ไม่แน่นอนท่ามกลางการแข่งขันสูง

ในวงการเลี้ยงปลาสลิด การกำหนดราคาขายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร โดยส่วนใหญ่แม่ค้าจะเป็นผู้กำหนดราคาปลาสลิดที่รับซื้อจากบ่อ ซึ่งราคามักไม่แน่นอนและขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดของปลา หากเป็นไซต์ใหญ่และจำนวนปลาน้อย ราคาก็อาจสูงขึ้น แต่เมื่อถึงช่วงที่มีการจับปลาสลิดพร้อมกันทั่วประเทศ ราคากลับลดต่ำลงตามปริมาณปลาในตลาด ทำให้เกษตรกรได้รับราคาที่ถูกลงตามไปด้วย

สำหรับฟาร์มปลาสลิดแต่ละบ่อ จะใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 8-9 เดือน ตั้งแต่เริ่มเพาะลูกปลาจนถึงจับขาย เมื่อราคาปลาในตลาดลดต่ำลง กำไรที่ได้กลับอยู่เพียง 2-3 แสนบาทต่อปีต่อบ่อ แม้จะดูเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อย แต่เมื่อเทียบกับต้นทุนและเวลาที่ลงทุนไป ก็ยังถือว่าเป็นความท้าทายที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่เสมอ

ดังนั้น การมองหาวิธีเพิ่มมูลค่าปลาสลิด เช่น การแปรรูปหรือสร้างมาตรฐานที่ดีขึ้น อาจเป็นทางออกที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมราคาขายและสร้างรายได้ที่มั่นคงมากขึ้นในระยะยาว

คุณแชมป์ ยังเล่าถึงจุดเริ่มต้นของวิสาหกิจชุมชนปลาสลิดเกษตรพัฒนาว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิดต้องเจอ คือ ระบบการรับซื้อที่ใช้วิธี “สุ่มปลา” แม่ค้าจะตักปลาจากบ่อขึ้นมา 3 ตะกร้า จากนั้นให้เกษตรกรเลือกตะกร้าที่จะใช้ประเมินราคาขาย ซึ่งกลายเป็นการ “วัดดวง” สำหรับเกษตรกรไปโดยปริยาย

ถ้าปลาส่วนใหญ่ในบ่อเป็นไซต์เล็ก แต่ตะกร้าที่เลือกมีปลาไซต์ใหญ่ เกษตรกรก็ถือว่าโชคดี เพราะราคาที่ได้จะสูงขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากบ่อเต็มไปด้วยปลาไซต์ใหญ่ แต่ตะกร้าที่สุ่มมาเป็นไซต์เล็ก ผลลัพธ์ คือราคาต่ำลงทันที แม้จะไม่ได้สะท้อนคุณภาพและปริมาณจริงในบ่อก็ตาม กรณีเช่นนี้ทำให้บางครั้งเกษตรกรต้องเผชิญกับการขาดทุน

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดแนวคิดในการปรับเปลี่ยนระบบ โดยหันมาทำ วิสาหกิจชุมชน เพื่อช่วยเกษตรกรเลี้ยงปลาสลิดอย่างยั่งยืน แนวคิดนี้ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงจากการสุ่มปลา แต่ยังสร้างมาตรฐานที่ยุติธรรมให้กับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและเพิ่มมูลค่าให้กับปลาสลิดในตลาดได้อย่างยั่งยืน

ที่วิสาหกิจชุมชนของเรา ได้ออกแบบระบบรับซื้อปลาสลิดที่ให้ราคาคงที่และเป็นกลาง เพื่อช่วยลดความกดดันและความเสี่ยงให้กับเกษตรกร ตัวอย่างเช่น หากเกษตรกรเลี้ยงปลาสลิดจนได้ขนาดเฉลี่ย 4 ตัวต่อกิโลกรัม จะรับซื้อที่ราคากิโลกรัมละ 95 บาท ตลอดทั้งปี โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคาขึ้นหรือลง

แนวทางนี้ช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเลี้ยงและจัดการต้นทุนได้ง่ายขึ้น เพียงแค่เลี้ยงปลาให้ได้ตามมาตรฐาน ก็จะมั่นใจได้ว่าปลาทั้งบ่อจะขายได้ในราคาที่เหมาะสมและคงที่ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางรายได้และความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสลิด

เราเคยคิดและวางแผนว่าในอนาคตจะพัฒนาและผลิตอาหารปลาสลิดเอง เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงที่สูงในปัจจุบัน ขณะนี้เรากำลังศึกษากับมหาวิทยาลัยเพื่อค้นหาและศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสม สามารถนำมาปรับใช้และพัฒนาให้เข้ากับการเลี้ยงของเรา เครื่องมือสำหรับการผลิตอาหารมีพร้อมแล้ว สิ่งที่เหลือคือการพัฒนาสูตรที่ช่วยลดต้นทุนอาหารสัตว์ จากราคากระสอบละ 690 บาท ให้เหลือประมาณ 500 บาท หากทำได้สำเร็จ จะช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงปลาสลิดลงได้อย่างมาก และยังส่งผลให้มีกำไรเพิ่มขึ้น

แนวทางการพัฒนา เพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปและมาตรฐาน

1. โรงเรือนและมาตรฐานการผลิต
การสร้างโรงเรือนผลิตที่ได้มาตรฐาน เช่น GAP , GMP และ HACCP ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ปลาสลิดสามารถส่งออกสู่ตลาดที่มีศักยภาพสูงขึ้น
2. การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า
จากราคาปลาสลิดดิบที่ขายได้เพียง 80-95 บาทต่อกิโลกรัม การแปรรูปทำให้เพิ่มมูลค่าถึง 150-300 บาท เช่น การทำปลาสลิดแดดเดียวหรือปลาสลิดอบเกลือ
3. การตลาดออนไลน์และออฟไลน์
การโปรโมทสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ การออกบูธ และการประกวดสินค้าช่วยสร้างการรับรู้ในตลาด นำไปสู่การเพิ่มยอดขายและการส่งออก
4. การจัดการน้ำและการเลี้ยงที่ยั่งยืน
น้ำที่สะอาดและการใช้จุลินทรีย์ในบ่อเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปลาสลิดเติบโตดีและปราศจากกลิ่นโคลน ช่วยเพิ่มคุณภาพและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า


การที่เกษตรกรจะยกระดับการเลี้ยงปลาสลิดให้ยั่งยืน จำเป็นต้องมีมาตรฐาน เช่น การขอใบรับรอง GAP และการจดทะเบียนผู้เลี้ยง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เกษตรกรได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกได้อีกด้วย

คุณแชมป์-ธนโชค รุ่งแสง ดูแลในส่วนกระบวนการผลิตปลาสลิดเกษตรพัฒนา

บทเรียนจากรุ่นพ่อ สู่ความสำเร็จของรุ่นลูก
หลายคนอาจมองว่าการแปรรูปปลาสลิดเป็นเรื่องง่าย แต่การขายกลับเป็นเรื่องยาก เพราะต้องแข่งขันกับแม่ค้ารายอื่นๆ อย่างหนัก แต่ถ้าเราสามารถหาจุดเด่นของตัวเองได้ ก็สามารถสร้างตลาดและขายได้สำเร็จ จุดแข็งของเราคือการเลี้ยงปลาสลิดเอง แปรรูปเอง และจำหน่ายเองทั้งหมด โดยยึดมาตรฐานในทุกขั้นตอน ทั้งการเลี้ยงในฟาร์มที่ได้มาตรฐาน และการแปรรูปในโรงผลิตที่ผ่านการรับรอง

แม้จะเจออุปสรรคในทุกขั้นตอน แต่เราค่อยๆ พัฒนาและเดินหน้ามาจนถึงวันนี้ ถ้าถามว่าสำเร็จแล้วหรือยัง คงยังไม่ถึงจุดนั้น แต่สิ่งที่ทำอยู่ถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่เริ่มเห็นทิศทางที่ชัดเจนของการเลี้ยงปลาสลิด เรามุ่งหวังที่จะช่วยเกษตรกรให้พัฒนามาตรฐานการเลี้ยง และสร้างโอกาสในการส่งออก รวมถึงมีทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับตัวเอง

ถึงช่วงแรกคุณพ่อจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางใหม่ๆ ของคุณยุ้ย แต่เมื่อเริ่มแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม เริ่มจากการทำโรงเรือนแปรรูป การตลาดออนไลน์ การเข้าประกวดแข่งขัน คุณพ่อก็ให้การยอมรับและสนับสนุนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการช่วยให้ชาวบ้านแพ้ว ตำบลเกษตรพัฒนา กลายเป็นที่รู้จักในฐานะ “แหล่งปลาสลิดคุณภาพ” ของประเทศ

สำหรับผู้ที่สนใจเลี้ยงปลาสลิด คุณพ่อและคุณยุ้ยแนะนำว่า “น้ำคือหัวใจ” หากน้ำในพื้นที่สะอาดและอุดมสมบูรณ์ ปลาสลิดก็จะเติบโตได้ดี นอกจากนี้ การทำระบบมาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจะช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้มากขึ้น

หากท่านไหนสนใจและอยากสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการเลี้ยง การแปรรูปปลาสลิด สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : ปลาสลิดเกษตรพัฒนา หรือเบอร์โทร.ติดต่อ : 087-976-5731 

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_296118