“บ้านท่าลี่” จ.ขอนแก่น ชุมชนแรกของประเทศไทยที่ขาย “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สร้าง“รูปธรรม” การจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้กลายเป็นทรัพย์สินที่มี “มูลค่า” ได้จริง จากการปลูกป่าและอนุรักษ์ต้นไม้ผ่านระบบธนาคารต้นไม้
ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ ได้รับการรับรองปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเครดิต จำนวน 401 ตันคาร์บอน เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2566 ก่อนกลายเป็นชุมชนที่เข้าสู่ตลาดคาร์บอนสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) อย่างเป็นทางการชุมชนแรกของประเทศ
ครั้งนั้น ธ.ก.ส. รับซื้อในราคาตันละ 3,000 บาท ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสนับสนุนชุมชนในการดูแลสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการผลักดันเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2065
รูปแบบการสร้างคาร์บอนเครดิตของบ้านท่าลี่ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ “การปลูกป่า” ทั้งต้นไม้เศรษฐกิจ ต้นไม้พื้นถิ่น และพืชดูดซับคาร์บอน “การอนุรักษ์ป่าเดิม” อย่างป่าชุมชน เพื่อเพิ่มการดูดซับคาร์บอน และ“การเก็บข้อมูลคาร์บอน” โดยใช้เทคโนโลยีและการสำรวจวัดปริมาณการดูดซับคาร์บอนของต้นไม้ในพื้นที่
ประโยชน์ที่ได้รับเห็นได้ชัดทั้ง “การสร้างรายได้ใหม่” ที่เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิต และ “ด้านสิ่งแวดล้อม” ที่สามารถลดการบุกรุกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยทุกคนมีส่วนร่วมปลูกและดูแล
“ปรีดา หงอกสิมมา” รองประธาน ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ เผยความรู้สึกช่วงแรกเริ่มที่ทำโครงการว่า ส่วนตัวยังไม่เข้าใจว่าการขายคาร์บอนคืออะไร ทำได้จริงหรือไม่ เงินอยู่ตรงไหน และต้องหากระสอบที่ไหนมาใส่คาร์บอนไปขาย
“กระทั่งทำไปเรื่อย ๆ จึงเริ่มเห็นภาพว่าต้นไม้ยังอยู่ที่เดิม แต่เราขายตัวเลขที่มีการรับรองคาร์บอนของต้นไม้เหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ที่ไม่คิดจะเข้าร่วม เปลี่ยนใจมาร่วมทำกันมากขึ้น” ปรีดา กล่าว
จากข้อมูลพบบ้านท่าลี่มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER เฟสแรกจำนวน 369 ไร่ โดยเปลี่ยนจากวิถีเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรแบบผสมผสาน และใช้พื้นที่ว่างในชุมชนปลูกไม้ยืนต้น อาทิ ต้นยางนา สักทอง พะยูง ประดู่ ไม้แดง ตะเคียน มะฮอกกานี
ดังนั้น ด้วยการดูแลอย่างเป็นระบบ มีความสม่ำเสมอ ส่งผลให้ต้นไม้ในชุมชนเติบโตตามเกณฑ์ และเสนอขายคาร์บอนเครดิตได้
“ประยูร พั่วเหล็ก” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดขอนแก่น ระบุ บ้านท่าลี่เป็นที่แรกที่ ธ.ก.ส. รับซื้อคาร์บอนเครดิตราคาสูงที่สุดของประเทศ ราคาตันละ 3,000 บาท จำนวน 401 ตันคาร์บอน รวมมูลค่ากว่า 1,200,000 บาท จากนี้มีแผนขยายกลุ่มชุมชนธนาคารต้นไม้ให้เพิ่มขึ้น โดยจะจัดหาผู้ที่มีองค์ความรู้คอยสนับสนุนด้านวิชาการ และ ธ.ก.ส. รับผิดชอบจัดหาผู้ประเมินเพื่อขึ้นทะเบียน T-VER ต่อไป
ด้าน “ธนพิสิฐ ใจกว้าง” ประธาน ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ ย้ำถึงความสำเร็จของการขายคาร์บอนเครดิตว่าต้องอาศัยการขับเคลื่อนของคณะกรรมการ และความร่วมมือกันของชุมชน ยกตัวอย่าง บ้านท่าลี่จากเดิมมีสมาชิกเพียง 60-70 คน แต่ขณะนี้มีจำนวนกว่า 100 คนแล้ว
ปัจจุบันชาวบ้านท่าลี่มีโอกาสทำกินสร้างรายได้หลายทาง มีสัดส่วนการปลูกระหว่างไม้ป่า-ไม้ผล การขุดบ่อเลี้ยงปลา ไปจนถึงการแปรรูปไม้ไร้ประโยชน์ ขณะเดียวกันยังขยายโครงการเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับธนาคารต้นไม้และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แก่ผู้สนใจ โดย ธ.ก.ส. คอยเป็น “พี่เลี้ยง” ทั้งให้ความช่วยเหลือ พร้อมแนะแนวการลงทุน
ในพื้นที่บ้านท่าลี่นอกจากแนวทางอนุรักษ์ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเชิงสร้างสรรค์เป็นอีก “จุดเด่น” โดยเฉพาะการคิดค้นผลิตภัณฑ์จากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาสร้างจุดขาย เพื่อเพิ่มมูลค่า
“ตุ๊กตาถ่านบ้านท่าลี่” เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สร้างสรรค์จากถ่านไม้ นำมาดัดแปลงเป็นของใช้ ด้วยคุณสมบัติพิเศษในการดูดซับกลิ่น หรือนำมาเป็นของตกแต่ง เนื่องจากการออกแบบที่ทำได้หลากหลาย มีเอกลักษณ์ นับเป็นการหยิบใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่ามากอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม มากกว่ารายได้ ผลพวงการขายคาร์บอนเครดิตยังมีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนามากขึ้น เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำเป็น การสนับสนุนการเกษตรแบบยั่งยืน และที่สำคัญยังปลุกกระแสตื่นตัวให้ชุมชนอื่นหันมาสนใจสร้างมูลค่าจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมความยั่งยืนระดับประเทศด้วย