นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ได้วิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อสินค้าเกษตรไทยภายหลังการกลับมาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ โดยได้ประกาศตั้งกำแพงภาษีนำเข้า 60% จากจีน ทำให้จีนมีต้นทุนทางภาษีในสินค้าเกษตรส่งออกเพิ่มขึ้นมูลค่าสูงถึง 3,671 ล้านดอลลาร์ ความสามารถในการแข่งขันของจีนจะลดลง
เมื่อพิจารณารายการสินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากรตอนที่ 01-24) ที่สหรัฐนำเข้าจากจีนเรียงลำดับตามมูลค่าต้นทุนทางภาษีที่เพิ่มขึ้นจากการตั้งกำแพงภาษี (ส่วนต่างของภาษีที่เพิ่มขึ้น X มูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนเฉลี่ย 3 ปี (ปี 2564-2566) สูงสุด 50 อันดับแรก ดังนี้
ผลกระทบเชิงบวก หากจีนถูกจำกัดการส่งออกไปสหรัฐด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในทุกสินค้า จะเป็นโอกาสสำคัญของไทยและประเทศคู่ค้าอื่นที่จะเข้าไปครองส่วนแบ่งตลาดที่จีนครองอยู่ โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสในการเข้าแทนที่จีนในตลาดสหรัฐ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
ส่งสินค้าศักยภาพเข้าสหรัฐแทนจีน
กลุ่มสินค้าศักยภาพสูง เป็นกลุ่มที่ไทยสามารถเข้าครองส่วนแบ่งทางการตลาดในสหรัฐแทนจีนได้ไม่ยากเนื่องจากไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในลำดับ 1 – 3 ได้แก่ อาหารสุนัขและแมว ที่จีนมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 187 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 8% เป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 35% เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 เนื้อปลาแบบฟิลเลแช่เย็นจนแข็งของปลาลิ้นหมา จีนมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาด 63 ล้านดอลลาร์คิดเป็น 64% เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 12% เป็นผู้ส่งออกอันดับ 2
ปลาไหลปรุงแต่ง จีนมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาด 48 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 88% เป็นผู้ส่งออกอันดับ โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 5% เป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 และข้าว จีนมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาด 34 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3% เป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 54% เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1
กลุ่มสินค้าที่มีโอกาสพิจารณาจากรายการสินค้าที่ จีนครองส่วนแบ่งตลาด 3 อันดับแรกในตลาดสหรัฐ และรายการสินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐ 4% ขึ้นไป สินค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไทยต้องผลักดัน และเสริมสร้างศักยภาพในสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น หากต้องการเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นแทนที่จีน โดยต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และความร่วมมือจากภาคเอกชน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สัตว์ อาทิ เชื้อพันธุ์สัตว์เลี้ยง ไข่ตัวไหม จีนมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาด 120 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 12% ไทยมีส่วนแบ่งที่ 6% ปลาหมึกแช่แข็ง จีนมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาด 82 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 18%ไทยมีส่วนแบ่งที่ 9%เนื้อปลาแบบฟิลเลแช่เย็นจนแข็งของปลาแฮดด็อก จีนมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาด 69 ล้านดอลลาร์คิดเป็น 53% ไทยมีส่วนแบ่งที่ 4%พาสต้า เส้นหมี่ วุ้นเส้น จีนมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาด 59 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น10% ไทยมีส่วนแบ่งที่ 6%
สินค้าจีนหนีสหรัฐป่วนตลาดโลก
ซอสถั่วเหลือง จีนมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาด 50 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 38% ไทยมีส่วนแบ่งที่ 10%ผลไม้แห้งอื่น ๆ อาทิ ลำไย มะขาม จีนมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาด 39 ล้านดอลลาร์คิดเป็น 14% ไทยมีส่วนแบ่งที่ 5% และเมล็ดพืชผักสำหรับเพาะปลูก จีนมีมูลค่าส่วนแบ่งตลาด 30 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น7% ไทยมีส่วนแบ่ง 4%
ทั้งนี้ หากไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว ไปทดแทนจีนได้ ไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเกษตรไปสหรัฐ เพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าสูงสุดประมาณ 780 ล้านดอลลาร์
อย่างไรตาม ยังมีผลกระทบเชิงลบที่ต้องติดตามอย่างระมัดระวัง เมื่อพิจารณาด้วยการเปรียบเทียบรายการสินค้าที่จีนมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐ มากกว่า 40%กับสินค้าที่ไทยเป็นผู้ส่งออก และนำเข้า สามารถแบ่งผลกระทบเชิงลบเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่ไทยอาจสูญเสียตลาดให้จีน และกลุ่มสินค้าที่อาจเข้ามาทดแทนหรือแข่งขันกับสินค้าไทย ดังนี้
กลุ่มสินค้าที่ไทยอาจสูญเสียตลาดให้จีนพิจารณาจากกลุ่มสินค้าที่จีนมีตลาดส่งออกเดียวกับไทย หากจีนถูกตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐ จีนอาจส่งสินค้าดังกล่าวเข้าสู่ตลาดส่งออกสำคัญของไทยและอาจทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดได้คือ เนื้อปลาแบบฟิลเลแช่เย็นจนแข็ง ของปลาค็อด ตลาดที่ต้องเฝ้าระวังว่าจะถูกสินค้าจีนเข้ามาแข่งขัน คือ เยอรมนี และ สหราชอาณาจักร
ห่วงจีนใช้ไทยแหล่งระบายซัพพลาย
ไขมัน และน้ำมันที่ได้จากสัตว์ พืช หรือจุลินทรีย์ อาทิ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ปาล์ม หรือมะพร้าว ตลาดที่ต้องเฝ้าระวังว่าจะถูกสินค้าจีนเข้ามาแข่งขันคือ เนเธอร์แลนด์ ผลไม้จำพวกส้มปรุงแต่ง ตลาดที่ต้องเฝ้าระวังว่าจะถูกสินค้าจีนเข้ามาแข่งขันคือ ญี่ปุ่น
กลุ่มสินค้าที่อาจเข้ามาทดแทนหรือแข่งขันกับสินค้าไทยโดยเป็นสินค้าที่ไทยมีการนำเข้าจากจีนเป็นหลัก ได้แก่ เนื้อปลาแบบฟิลเลแช่เย็นจนแข็งของปลาทิละเพียส กระเทียม เนื้อปลาอลาสกาพอลล็อค แบบฟิลเลแช่แข็งเม็ดและเนื้อในของแอปริคอต ท้อ (รวมถึงเนกทารีน) หรือพลัม ซึ่งหากจีนไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้มากเท่าเดิม จีนอาจเพิ่มปริมาณการส่งออกมายังประเทศคู่ค้าอื่นรวมทั้งไทย และจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย รวมถึงเกษตรกรที่อาจไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงประเด็นเรื่องการทุ่มตลาด เนื่องจากไทยและจีนเป็นประเทศที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ห่างไกล ต้นทุนค่าขนส่งที่ถูก อย่างไรก็ตาม หากสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไทยมีความต้องการนำเข้าเพื่อเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเพื่อส่งออก ไทยอาจได้รับประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบในราคาถูก
ดังนั้นในระยะสั้น ไทยต้องรักษาและพัฒนามาตรฐานการผลิต รวมถึงคุณภาพสินค้าในระดับสากล เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดสหรัฐ โดยเร่งเจรจาเปิดตลาดสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและโอกาสทำการตลาดในสหรัฐ ในระดับรัฐต่อรัฐ ศึกษาแนวโน้มความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภคในสหรัฐให้มากขึ้น ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าไปยังสหรัฐ ให้ความสำคัญกับการหาพันธมิตรทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก เพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบและสินค้านำเข้า ไม่พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ใช้ช่องทางทูตเกษตรในการรายงานสภาพปัญหา และร่วมวิเคราะห์หาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะจีนที่มีปัญหาในสินค้าเกษตร
คุมเข้มกฎการค้าห่วงแฝงไทยส่งออก
ในระยะยาว หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรหารือร่วมกับผู้ประกอบการนำเข้า ในการเฝ้าระวังและหามาตรการรองรับหากมีการทะลักของสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากจีนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับไทยที่ระยะทางขนส่งที่ไม่ไกลนัก และมีต้นทุนที่ถูกกว่าไทย รวมถึงการส่งสินค้ามาผ่านการแปรรูปเพียงเล็กน้อยในไทยเพื่อส่งออก ตลอดจนอาจเกิดการสวมสิทธิ เพื่อเลี่ยงว่าเป็นสินค้าจากจีนที่จะต้องถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงจากสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในสินค้าไทย ควรติดตามรายละเอียดที่ชัดเจนของนโยบายการค้าของทั้งสองฝ่าย เพื่อเตรียมการวางแนวทางในการวิเคราะห์ รวมถึงหามาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไป