ค้นหา

รู้ทันโรคในสัตว์ ป้องกันไว ฟาร์มปลอดภัย รายได้ไม่สะดุด

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) วารสารเพื่อการเตือนภัยสินค้าเกษตรและอาหาร
เข้าชม 30 ครั้ง

โรคระบาดสัตว์ ถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลก โดยส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และเศรษฐกิจในวงกว้าง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดสัตว์สามารถแบ่งออกได้หลากหลายอย่างเช่น ผลกระทบโดยตรงที่ทำให้เกิดการสูญเสียของสัตว์ ซึ่งโรคระบาดหลายชนิดทำให้สัตว์ป่วยและตายจำนวนมาก ส่งผลให้เกษตรกรสูญเสียรายได้และทรัพย์สิน

การเกิดโรคยังทำให้ผลผลิตมีจำนวนที่ลดน้อยลง เพราะสัตว์ที่ป่วยจะให้ผลผลิตที่ลดน้อยลง เช่น การเลี้ยงโคนม หากเป็นโรคจะทำให้น้ำนมลดลง ในสัตว์ปีก เช่น เป็ดและไก่ หากเป็นโรคจะให้ไข่ที่ลดน้อยลง นอกจากนี้ยังทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะเกษตรกรต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการรักษาสัตว์ที่ป่วยตั้งแต่การซื้อยา วัคซีนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่โรคระบาดรุนแรงมากเกินไปจนไม่สามารถควบคุมได้ อาจทำให้ฟาร์มต้องปิดตัวลง เกษตรกรอาจต้องปิดฟาร์มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลให้เกษตรขาดรายได้และสูญเสียอาชีพ

โรคระบาดสัตว์ จึงถือเป็นการสูญเสียของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ทั่วโลก รวมทั้งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสาธารณสุขในโรคที่มีการระบาดจากสัตว์ไปสู่คน โรคหลายชนิดมีการเเพร่ระบาดอย่างกว้างขวางเเละยาวนานกว่า 100 ปี โดยพบอุบัติการณ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้ประกาศเป็น OIE-listed diseases จำนวน 117 รายการ

โรคระบาดสำคัญในปศุสัตว์เเละสัตว์น้ำทั่วโลก ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์น้ำทั่วโลก ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพของประชาชนด้วย ดังนี้

โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อเเบคทีเรียสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส มีการค้นพบครั้งเเรกเมื่อปี ค.ศ.1968 และสามารถติดต่อสู่มนุษย์ได้โดยผ่านการบริโภคชิ้นส่วนของสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือหากไปสัมผัสกับสุกรที่ป่วยก็สามารถทำให้เกิดโรคได้

โรคนิวคาสเซิล โรคนี้เกิดจากเชื้อที่ติดต่อได้ในสัตว์ปีกอาจพบการเสียชีวิตจำนวนมากโดยไม่เเสดงอาการใดๆ ซึ่งโรคนิวคาสเซิลพบครั้งเเรกในเมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1926

โรคปากเเละเท้าเปื่อย มักพบไว้รัสชนิดนี้ในปศุสัตว์กีบคู่ เช่น โค สุกร แกะ แพะ ยกเว้น ม้า ซึ่งโรคชนิดนี้ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าโคและสุกร ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีการพัฒนาการทำปศุสัตว์ให้ปลอดจากโรคปากเเละเท้าเปื่อยมากขึ้น เพื่อให้การส่งออกสินค้าทำได้กว้างยิ่งขึ้น

โรคลัมปีสกิน โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่เจริญเติบโตเเละก่อโรคตามอวัยวะต่างๆ ที่มีเซลล์เยื่อบุ (Epithelium cells) เดิมเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศเเถบแอฟริกา

โรควัวบ้า เป็นโรคที่มีผลต่อสมองของโคเเละมนุษย์ ซึ่งโรคนี้เกิดจากโปรตีนที่ผิดปกติในเนื้อเยื่อสมองที่เรียกว่าพรีออน พบครั้งเเรกในสหราชอาณาจักร เเละกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศผู้ส่งออกเนื้อโคทั่วโลก

โรคอหิวาต์สุกรแอฟริกัน เกิดจากเชื้อดีเอ็นเอไวรัสกลุ่ม Asfivirus ที่ติดเฉพาะในสัตว์ประเภทสุกรที่พบประวัติการระบาดมากกว่า 100 ปี และยังก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมสุกรทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีอุตสาหกรรมสุกรหรือเป็นผู้บริโภคที่สำคัญ

ไข้หวัดนก ซึ่งโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีโครงสร้างสำคัญอย่าง Hemaglutinin (H) และ Neuraminidase (N) ทำให้มีการถอดรหัสประจำตัวของสายพันธ์ุตามโครงสร้าง H-N เช่น H5N1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ก่อโรครุนเเรง จึงทำให้โรคไข้หวัดนกสามารถติดต่อสู่คนได้ โดยปัจจุบันยังมีการพบติดต่อในหลายภูมิภาคทั้งเอเชีย ยุโรป เเละอเมริกา

ส่วนในด้านของสัตว์น้ำนั้น มีกลุ่มโรคที่เกิดอันตรายด้วยเช่นกัน เช่น กลุ่มอาการตายด่วนในกุ้ง มักพบการระบาดวงกว้างในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทั่วโลก โรคนี้เกิดขึ้นครั้งเเรกในปี ค.ศ. 2011 เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio parahaemolyticus ก่อให้เกิดกลุ่มอาการตับเเละตับอ่อนตายเฉียบพลัน ส่งผลให้ประเทศผู้เลี้ยงกุ้งทั่วโลกเกิดการสูญเสียเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันองค์การ OIE มีพันธกิจที่สำคัญในการสร้างความโปร่งใสเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดสัตว์ทั่วโลก ทำให้ประเทศสมาชิก OIE รวมทั้งประเทศไทย จำเป็นต้องรายงานหากตรวจพบโรคสัตว์โดยเฉพาะตามที่ระบุใน OIE Terrestrial and Aquatic Codes หรือ OIE-listed diseases ข้างต้น ที่มีการทบทวนอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ทราบ โดยเฉพาะความเสี่ยงในการติดต่อสู่คน การตกค้างหรือปนเปื้อนในสิ่งเเวดล้อมหรือผ่านสัตว์ที่เป็นพาหะ ตลอดจนถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเช่น อาหาร อาหารสัตว์ ยาสัตว์ เเละการผลิตเพื่อจำหน่าย-ส่งออกไปยังประเทศสมาชิก OIE

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_297501