สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดีส์อินเวสเตอส์เซอร์วิส (Moody’s Investor Service) อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดอันดับเครดิตประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดเผยรายงานในช่วงต้นปี 2568
ทั้งนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงทางการคลังที่เพิ่มขึ้นอาจมีผลต่อการจัดอันกับเครดิตเรตติ้งของประเทศ ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินและการคลังของรัฐ มีการประชุมและกำหนดแผนการคลังระยะปานกลาง (2569-2573) โดยพยายามลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณลงตลอด 4 ปีข้างหน้า
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่ามีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ได้แก่ การดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ซึ่งประเทศไทยถูกจับตามอง 2 เรื่อง คือ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หรือ “Net General Government Debt to GDP”
รวมถึงการขาดดุลทางการคลังต่อจีดีพีว่าจะมีแนวโน้มลดลงหรือไม่ และเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ระดับเดียวกัน (Peers) นั้นมีแนวโน้มอย่างไร
ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะทั่วไปของไทยตามนิยามของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งไม่นับรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจ แต่รวมหนี้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะอยู่ที่ 58% ต่อ GDP ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ไม่สูงมาก
ขณะที่เมื่อดูสัดส่วนหนี้สาธารณะตามนิยามของ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ณ ปี 2568 จะอยู่ที่ 65.6% ต่อ GDP ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้ชนเพดาน 70% ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561
“สถาบันเครดิตเรตติ้งคาดหวังว่าการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐควรมีแนวโน้มที่ลดลง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะตัวให้สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อจีดีพีปรับลดลง” นางจินดารัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ระดับหนี้สาธารณะขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วย หลายประเทศเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้สัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มที่ลดลงและเข้าสู่สมดุลการคลัง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ดีหลังทบทวนแผนการคลังระยะปานกลางสำหรับปีงบประมาณ 2569-2573 หากมีทิศทางที่ดี การขาดดุลงบประมาณที่ลดลงก็จะส่งผลดีต่อการพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือเครดิตเรตติ้งของประเทศด้วย
ปัจจุบันสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทุกแห่งมองประเทศไทยอยู่ที่ระดับ BBB+ และมีแนวโน้มคงที่ อย่างไรก็ตามผลการจัดอันดับของ Moody’s ที่จะออกมาในช่วงต้นปีหน้า ยังต้องจับตาดูว่าในเดือน ม.ค.จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่
จับตาภาระดอกเบี้ยต่อรายได้รัฐ
ขณะที่เกณฑ์ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถูกจับตามองเช่นกัน เนื่องจากถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดต้นทุนทางการเงินในการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยเกณฑ์ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐเมื่ออยู่ที่ระดับ 10-11% อันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลจะอยู่ที่ BBB+ แต่หากภาระดอกเบี้ยต่อรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 12% พันธบัตรจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับไม่น่าลงทุน หรือ Junk Bond
อย่างไรก็ตามปัจจุบันภาระดอกเบี้ยต่อรายได้อยู่ที่ 9% ซึ่งหากต้องเผชิญกับวิกฤติอีกครั้งและจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นก็จะทำให้สถานะเครดิตน่าเป็นห่วง
ขณะที่เรื่องเสถียรภาพทางการเมืองเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่อยู่ในการพิจารณา การดำเนินนโยบายของรัฐบาลตามที่ได้แถลงนโยบายต่อสาธารณะ ความต่อเนื่องในการดำเนินโครงการด้านการลงทุน เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งการลงทุนในโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้น เช่น โครงการบ้านเพื่อคนไทย
ปรับโครงสร้างหนี้ระยะสั้นเป็นระยะยาว
ในปีงบประมาณ 2568 ภาครัฐมีภาระหนี้ที่ต้องชำระรวมทั้งสิ้น 299,000 ล้านบาท แบ่งเป็นต้นเงิน 88,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 210,000 ล้านบาท ซึ่งภาระหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ครบกำหนดจากการกู้ระยะสั้นช่วงโควิด โดยมีการออกตั๋วเงินคลังอายุ 3 ปี ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ฉบับ 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ สบน.จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่ทยอยครบกำหนด จากหนี้ระยะสั้นไปเป็นหนี้ระยะยาว ให้มีอายุไม่ต่ำกว่า 10-15 ปี จากปัจจุบันอายุเฉลี่ยหนี้เฉลี่ยของรัฐบาลอยู่ที่ 9 ปี 9 เดือน
“คลัง” ลุยแผน 4 ปี ลดขาดดุลการคลัง
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2567 มีมติเห็นชอบร่างแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2569-2573 โดยจะมีการเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 24 ธ.ค.2567
นายพิชัย เปิดเผยว่า การจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางในครั้งนี้ มีการกำหนดเป้าหมายการคลังโดยมุ่งเน้นการรักษาขนาดการขาดดุลไม่ให้เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มการขาดดุลลดลงใน 4 ปีข้างหน้าต้องแสดงให้เห็นว่าการขาดดุลเมื่อเทียบกับ GDP จะทยอยลดลง
รวมทั้งรักษาระดับการก่อหนี้ใหม่ไม่ให้ระดับหนี้สาธารณะเกิน 70% ต่อ GDP ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง
การขยายตัวของเศรษฐกิจจะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สถานะการคลังของไทยมั่นคงขึ้น โดยการขับเคลื่อน 4 เครื่องจักรเศรษฐกิจ ได้แก่ 1. การท่องเที่ยว 2. ความเชื่อมั่นการบริโภคภาคเอกชน 3. การลงทุน และ 4. การส่งออก
“รัฐบาลจะต้องเร่งการทำงานเพื่อให้เครื่องจักรเศรษฐกิจเหล่านี้ขยายตัวได้ ผ่านการดำเนินนมาตรการต่างๆ ทั้งการกระตุ้นการใช้จ่าย การเร่งรัดการลงทุนให้เกิดผลจริง ซึ่งเราต้องเตรียมพร้อมในสิ่งที่ยังขาดทั้งเรื่องที่ดินและพลังงานสะอาด รวมทั้งการสนับสนุนกลไกเพิ่มรายได้จากภาคส่งออก” นายพิชัย กล่าว