เลขาธิการ กฟก. เดินหน้าสนับสนุนอาชีพและพัฒนาเกษตรกร ทั้งด้านปศุสัตว์ ประมงและปลูกพืช 1,840 โครงการ ภายใต้งบประมาณกว่า 233 ล้านบาท พร้อมขานรับนโยบายประธานบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เน้นผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืนเพื่อช่วยปลดหนี้สิน
นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กล่าวถึงภารกิจด้านการฟื้นฟูอาชีพ และพัฒนาเกษตรกร ที่จะต้องเร่งดำเนินการในปี 2568 ว่า ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2544 และฉบับที่ 3 แก้ไขเพิ่มเติม ปี 2563 มีวัตถุประสงค์ให้ กฟก. มีภารกิจหลัก 2 ด้านคือ 1. การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 2. การจัดการหนี้ของเกษตรกร ซึ่งภารกิจดังกล่าวต้องดำเนินการควบคู่กันไป
ทั้งนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ให้นโยบายว่าการสนับสนุนอาชีพเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืนและมั่นคงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพราะเมื่อเกษตรกรมีรายได้ที่มากพอ ก็จะมีเงินไปใช้หนี้ได้จะทำให้ไม่เป็นหนี้เสียและลดภาระงบประมาณในการจัดการด้านหนี้ๅ
สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในปี 2568 มีจำนวน 1,840 โครงการ งบประมาณดำเนินการ 233,232,000 บาท จากยอดงบประมาณทั้งหมด 1,779 ,968,000 บาท โดยเน้นสนับสนุนทั้งด้านการเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ประมงและการเกษตรด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรที่เป็นสมาชิก มีเงินทุนหมุนเวียนในอาชีพของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้ในอนาคต
เลขาธิการ กฟก.กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาในการก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ หรือตั้งแต่ปี 2549-2567 มีการอนุมัติโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้แก่องค์กรเกษตรกรไปแล้วทั้งสิ้น 12,375 โครงการ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 593,989 ราย ใช้งบประมาณไป 1,528,860,385 บาท แยกเป็น 1.โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปีงบประมาณ 2549-2566 เป็นโครงการงบอุดหนุน ซึ่งเป็นเงินเพื่อสนับสนุนพัฒนาองค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็ง จำนวน 9,561 โครงการ มีผู้เข้าร่วม 509,989 ราย งบประมาณ 407,924,964 บาท และเป็นโครงการงบกู้ยืมเป็นเงินที่ให้องค์กรเกษตรกรกู้ยืมเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร จำนวน 2,751 โครงการ ผู้เข้าร่วม 82,780 ราย งบประมาณ 1,090,934,421 บาท และ 2.โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ปีงบประมาณ 2567 เป็นโครงการงบกู้ยืม 63 โครงการ ผู้เข้าร่วม 933 ราย ใช้งบประมาณ 30,000,000 บาท
“ปีหน้า 2568 ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กฟก.ทุกฝ่าย ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาอาชีพและดูแลปัญหาหนี้สินให้เกษตรกรทั่วประเทศต่อไป โดย กฟก. มีสำนักงานสาขาทั้ง 77 จังหวัด เพื่อให้บริการแก่องค์กรเกษตรกรและสมาชิกในพื้นที่ทั่วประเทศ เกษตรกรที่มีปัญหาหนี้สินหรือต้องการพัฒนาต่อยอดอาชีพเกษตรกรรม สามารถติดต่อสอบถามเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกได้ที่โทรศัพท์ 02-158 0342 ในวันและเวลาราชการ หรือ ติดต่อได้ที่สำนักงานสาขาจังหวัด ได้ทั้ง 77 จังหวัด” เลขาธิการ กฟก.กล่าว