ค้นหา

ปี 2568 อุตฯโคนมเปิดเสรีรับศึก “ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์”รุกไทยหลังรอนาน 20 ปี

กรมส่งเสริมสหกรณ์
เข้าชม 38 ครั้ง

ข้อมูลจากโครงการเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงโคนมเพื่อรองรับเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์  โดยกองทุนเอฟทีเอ ระบุว่า  กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2547  มีผลใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 ด้วยการลดภาษีสินค้า 815 รายการให้เหลือ 0% ทันที

ข้อมูลจากโครงการเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงโคนมเพื่อรองรับเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์  โดยกองทุนเอฟทีเอ ระบุว่า กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2547  มีผลใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548  ด้วยการลดภาษีสินค้า 815 รายการให้เหลือ 0% ทันที

วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อรองรับข้อตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) ไทย–ออสเตรเลีย และไทย–นิวซีแลนด์ ซึ่งจะมีผลเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 นี้ โดยประเทศไทยจะลดภาษีเป็น 0 % สำหรับการนำเข้านมดิบ นมผงขาดมันเนยและเครื่องดื่มประเภทนม/นม UHT จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อาจส่งผลทำให้สินค้านมจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยจำนวนมากและจะกระทบต่ออุตสาหกรรมนมในประเทศไทย จึงเน้นย้ำให้สหกรณ์โคนมทุกแห่งเร่งปรับตัวและพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจโคนม เพื่อรองรับการเปิดเสรีการค้า FTA ซึ่งสหกรณ์จะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดการค้าเสรี FTA นม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าและขยายตลาดส่งออกนมเพิ่มมากขึ้น

“สิ่งสำคัญคือสหกรณ์โคนมต้องส่งเสริมให้สมาชิกลดต้นทุนการผลิตลงให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอาหารสัตว์ที่ใช้เลี้ยงโคนม เป็นต้นทุนสำคัญที่จะส่งผลต่อรายได้จากการเลี้ยงโคนม ซึ่งสหกรณ์ควรมีการส่งเสริมสมาชิกให้หันมาใช้อาหารหยาบเลี้ยงโคนมในปริมาณที่เหมาะสม”

ขณะเดียวกันได้กำหนดการพัฒนาและปรับปรุงฟาร์มโคนมของสมาชิก มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฟาร์มให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำนมต่อตัวเพิ่มขึ้นและมีเนื้อนมในปริมาณที่มากพอสมควร เพื่อให้นมที่ได้นั้นมีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค

ปัจจุบัน เกษตรกรรุ่นใหม่สนใจเข้ามาสู่อาชีพการเลี้ยงโคนม สามารถใช้เทคโนโลยีด้านการผลิตและองค์ความรู้ในการเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ การลดต้นทุนในฟาร์ม มาเลี้ยงโคนมจนสามารถรีดนมได้ 15 กก./ตัว/วัน

ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมให้การสนับสนุนสหกรณ์โคนมทุกแห่ง ได้จัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนเป็นทุนหมุนเวียนดำเนินธุรกิจให้กับสหกรณ์โคนมทั่วประเทศ รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์การตลาดและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์จำหน่ายสู่ตลาด โดยจะมุ่งส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์โคนมได้เรียนรู้และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถผลิตสินค้านมรูปแบบใหม่ๆ ออกมาจำหน่าย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในยุคปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้สหกรณ์โคนมสามารถยืนหยัดอยู่ได้เมื่อมีการเปิดเสรีการค้า FTA อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ต้นปี 2568 นี้เป็นต้นไป

สำหรับการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค. – ต.ค.) มีมูลค่า 603.6 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11.3% จากปีก่อน โดยเฉพาะในตลาดคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย มีมูลค่าสูงถึง 569.3 ล้านดอลลาร์ หรือ 94.3% ของการส่งออกทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ นม UHT นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมและครีมที่ไม่เข้มข้นและไม่หวาน นมถั่วเหลืองที่มีนมผสมและนมและครีมที่เข้มข้นและหวาน

ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมอันดับที่ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 7 ของโลก เป็นผลมาจากการที่ 14 ประเทศคู่ FTA ของไทย ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับนมและผลิตภัณฑ์นมนำเข้าจากไทยทุกรายการ

สำหรับจากสถิติการนำเข้าตั้งแต่ปี 2563 (ปีที่ไทยเริ่มทยอยลดภาษีนมและผลิตภัณฑ์ให้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์)  พบว่า ทิศทางการนำเข้ามีสถิติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มเครื่องดื่มนม พบว่า ปี 2560 ปริมาณ 6,835 ตัน ปี 2561 ปริมาณ 8,151 ตัน ปี 2562 ปริมาณ 13,544 ตัน ปี 2563 ปริมาณ 39,415 ตัน

ส่วนกลุ่มนมและครีม ปี 2560 ปริมาณ 2,713 ตัน ปี 2561 ปริมาณ 3,271 ตัน ปี 2562 ปริมาณ 4,221 ตัน ปี 2563 ปริมาณ 3,627 ตัน ส่วนนมผงขาดมันเนย ปี 2560 ปริมาณ 64,345 ตัน ปี 2561 ปริมาณ 66,914 ตัน ปี 2562 ปริมาณ 68,313 ปี 2563 ปริมาณ 62,518 ตัน 

หลัง 20 ปีที่ไทยทำข้อตกลงการค้าเสรีกับมหาอำนาจ “โคนม” อย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ต้องลุ้นว่ากุศโลบายแห่งการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือศึกใหญ่จะทำให้อุตสาหกรรมโคนมไทยยังอยู่และเติบโตคู่คนไทยต่อไปได้หรือไม่ 

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1159166