ค้นหา

ย้อนรอยปลาหมอคางดำปัญหาที่ยังแก้ไม่สำเร็จ

ข่าวเกษตรเดลินิวส์
เข้าชม 26 ครั้ง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการรุกรานของสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหรือ”เอเลี่ยนสปีชีส์”ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจของประเทศ หนึ่งในผู้รุกรานที่น่ากังวลที่สุดคือ “ปลาหมอคางดำ”

ปลาหมอคางดำ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแอฟริกาตะวันตก ตั้งแต่ประเทศมอริเตเนียจนถึงประเทศแคเมอรูน  รวมตัวเป็นฝูงอาศัยในน้ำจืด เช่น ปากแม่น้ำและน้ำเค็ม โดยในแอฟริกาทางตะวันตก จะพบได้เฉพาะในทะเลสาบน้ำกร่อยและปากแม่น้ำ จากนั้นได้มีการนำเข้าสู่หลายประเทศในเอเชีย สหรัฐอเมริกา และยุโรป แต่ในประเทศไทยปลาหมอคางดำเข้ามาได้อย่างไร คนถามนี้หลายคนสงสัย

“เดลินิวส์”เป็นสื่อที่แรกที่มองเห็นปัญหาถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นในระบบนิเวศ เนื่องจากเอเลี่ยนสปีซีส์ สายพันธุ์นี้กินเก่งกินจุกินทุกอย่าง เช่น แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ สาหร่าย เศษซากพืช ซากสัตว์ สารอินทรีย์ สาเหตุเพราะมันมีระบบทางเดินอาหารที่ยาวและมีระบบย่อยอาหารที่ทำงานได้ดี จนทำให้มันสามารถกินและย่อยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อปลาหมอคางดำ รุกเข้าไปในพื้นที่ไหน พื้นที่นั้นก็มักจะพบว่าสัตว์น้ำท้องถิ่นลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว

จากการที่สามารถกินอาหารได้หลากหลาย ส่งผลให้ปลาหมอคางดำสามารถเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่าง ยิ่งถ้าหลุดเข้าไปในฟาร์มกุ้ง แน่นอนเกษตรกรรายนั้น ถึงกลับหมดเนื้อหมดตัวได้เลยที่เดียว

ดังนั้น”เดลินิวส์”จึงลุยค้นหาข้อมูลพบว่า”ปลาหมอคางดำเข้ามาในประเทศ ใน ปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งนำเข้าปลาหมอสีคางดำจากสาธารณรัฐกานา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข ปี 2553 บริษัทนำเข้าปลาหมอสีคางดำ 2,000 ตัว มาเลี้ยงที่ศูนย์ทดลองในพื้นที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จากนั้นปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลา โดยการโรยด้วยปูนขาวและแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา โดยไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการและเก็บซากปลาส่งให้กับกรมประมงตามเงื่อนไขการอนุญาตของคณะกรรมการ IBC แต่จากการเข้าไปตรวจสอบห้องเก็บตัวอย่างสัตว์อ้างอิงและธนาคารดีเอ็นเอ ภายในกรมประมง ที่กรมประมงของ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำโดย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง รองประธานฯ กลับไม่พบซากปลาดังกล่าวตามที่บริษัทดังกล่าวอ้าง

ต่อมา ปี 2555 เกษตรกรในพื้นที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรกคำถามที่ว่าปลาหมอคางดำทำไมแพร่กระจายได้รวดเร็ว  เพราะการดำรงชีพจะพบว่ามันสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ภายใน 1 ชั่วโมง อีกทั้งยังขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยขยายพันธุ์ได้ทุกๆ 22 วัน ปลาหมอคางดำเพศเมีย 1 ตัว มีไข่ประมาณ 50-300 ฟองวัน ใช้เวลาฟักไข่ในปากเพศผู้เพียง 4-6 วัน  ก่อนจะดูแลตัวอ่อนประมาณ 2-3 สัปดาห์ไว้ในปากเช่นเดิม ส่งผลให้อัตราการรอดสูงกว่าปกติและสามารถผสมพันธุ์ได้ทุกฤดูกาล จึงเป็นสาเหตุที่ปลาชนิดนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างมาก เนื่องจากนิสัยโดยทั่วไปของปลาหมอคางดำ มีความดุร้าย อีกทั้งยังมีความต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ปลาชนิดอื่นๆ สูญพันธุ์ไปได้ด้วย

เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาระดับประเทศหลายภาคส่วนของรัฐรีบเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรมประมง  แต่การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ก็ไม่ง่าย เพราะทั้งความคาราคาซังที่ปล่อยไว้นาน การระบาดที่รุนแรงจากการแพร่กระจายได้ง่าย ทั้งต้องทำงานแข่งกับเวลา รวมถึงยังมีอุปสรรคหน้างานเป็นข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ซึ่งการแก้ไขเบื้องต้นมีหลากหลายรูปแบบ เช่น จัดแข่งขันจับปลาหมอคางดำด้วยการลากแหและอวน ระดมพลลงแขก ไปจนถึงการปล่อยปลาผู้ล่าสู่แหล่งน้ำ แม้แต่ทุ่มงบประมาณเพื่อจับมาทำปุ๋ยชีวภาพแจกจ่ายเกษตรกรและการจับมาทำอาหาร แต่ทั้งหมดยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะปลาหมอคางดำยังคงแพร่ระบาดอยู่ นอกจากนี้กรมประมงอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน เพื่อควบคุมประชากร ลดการแพร่พันธุ์ ซึ่งก็ต้องใช้เวลา

ขณะเดียวกันนักวิชาการหลายคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาอย่างหลายหลากวิธี อาทิ ตามแนวทางสากลทั่วโลก ผู้ก่อปัญหาต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ ซึ่งทางกรมประมงมีงบประมาณไม่มาก เมื่อเทียบกับภารกิจที่ต้องบริหาร งบจึงไม่เพียงพอสำหรับจัดการปัญหาปลาหมอคางดำระบาด  ถ้าจะกำจัดให้ได้ผลต้องเริ่มจากจุดที่อยู่ไกลสุดก่อน เนื่องจากจะเป็นจุดที่มีการกระจายพันธุ์น้อยที่สุด ถ้าไม่ทำเช่นนั้นไม่เกิน 10 ปี ปลาหมอคางดำอาจกระจายไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านได้

สถานการณ์การรุกรานของปลาหมอคางดำเป็นประเด็นที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อลดจำนวนและผลกระทบต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจประมงของไทย ก่อนที่เราจะสูญเสียระบบนิเวศท้องถิ่นไปอย่างถาวร

แชร์ :
ที่มาของเนื้อหา : https://www.dailynews.co.th/news/4227570/